ข่าว

ดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน มาตามสัญญาหรือไม่อยู่ที่ลุงตู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ (ทอท.) หรือ AOT

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3453 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-20 มี.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

 

ดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน

มาตามสัญญาหรือไม่อยู่ที่ลุงตู่

 

 

            เรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ (ทอท.) หรือ AOT ที่คณะกรรมการอันมี ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการที่เป็นตัวแทนและอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการคลัง อีก 4 คน เข้าไปนั่งเป็นประธาน มีมติสวนทางข้อเสนอของนักวิชาการ และภาคประชาชนให้เปิดประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน กำลังกลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ กันในวงกว้าง และเป็นที่จับตามองของการเปิดประมูลเค้กก้อนโตในธุรกิจปลอดอากรของประเทศ

            เขาทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ กันอย่างไรบ้างนะหรือครับ...ย้อนกลับไปที่สัญญาเดิม สัมปทานเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นสัญญาของกลุ่มคิงเพาเวอร์บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร จ่ายผลตอบแทนให้ ทอท.สูงสุดในอัตรา 20% ของยอดขาย มีอายุสัญญา 10 ปี หรือสิ้นสุดปี 2559 ทว่าเกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมบุกสนามบิน อ้างว่าเกิดความเสียหาย จึงมีการต่ออายุให้อีก 4 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชน วันนี้สัมปทานดิวตี้ฟรีจึงร้อนฉ่า

            แต่ก่อนจะไปวิจารณ์เขา ผมจะพาไปดูคำอธิบายของ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ในการออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน เรื่องงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) เป็นสัญญาเดียว โดยการเปิดประมูล 2 สัญญา

            สัญญาแรกเป็นการประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่

            2.สัญญาการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

            ทั้ง 2 สัญญา กำหนดให้เข้าบริหารตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 หรือ 10 ปี 6 เดือนด้วยวิธีการประมูลเสนอค่าตอบแทน จะเปิดขายเอกสารประมูลทั้ง 2 งานพร้อมกันในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2562 ประกาศผลคะแนนสูงสุดในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562

            นิตินัย บอกว่า ทั้ง 2 สัญญา จะแข่งขันด้านราคาว่ารายใดจะเสนอค่าตอบแทนขั้นตํ่า ผู้เสนออัตราสูงสุด จะเป็นผู้ชนะ และหากดำเนินการแล้ว จะเลือกจ่ายแบบค่าตอบแทนขั้นตํ่า หรือส่วนแบ่งรายได้แล้วแต่ว่าแบบไหนให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งใช้รูปแบบคัดเลือกคล้ายเดิม โดยที่ผ่านมา 7 ปีแรกยอดขายไม่ดีก็จ่ายเป็นค่าตอบแทนขั้นตํ่า แต่ 5 ปีหลังยอดขายเติบโตดีก็จ่ายแบบส่วนแบ่งรายได้

            คาดว่าเมื่อเปิดซองราคาและรู้ผลผู้ชนะในวันที่ 10 พฤษภาคม จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ได้ในเดือนพฤษภาคม เพื่อรับรองผลการประมูล ยกเว้น กรณีมีการร้องเรียนก็อาจจะล่าช้าไม่น่าเกินเดือนมิถุนายน 2562 นิตินัยประเมินว่า สัญญาดิวตี้ฟรีน่าจะมีผู้ประกอบการจากยุโรป และเอเชีย เข้าร่วมประมูลด้วย นอกเหนือเอกชนไทย

            “การนำ 4 สนามบินรวมกันเป็นสัญญาเดียว จะน่าจูงใจมากกว่า เพราะสนามบินสุวรรณภูมิมีขนาดใหญ่ที่สุดคิดเป็น 82% ของรายได้ดิวตี้ฟรี ขณะที่สนามบินหาดใหญ่มีขนาดเล็กที่สุด คิดเป็น 0.04% หากเปิดประมูลเดี่ยวคงไม่มีใครสนใจ ส่วนสนามบินภูเก็ตและสนามบินเชียงใหม่ รวมกันคิดเป็น 18% เมื่อรวมกันและให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาดำเนินธุรกิจจะทำให้ดิวตี้ฟรีของสนามบินสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เมื่อข้อมูลเป็นดังนั้น ทำให้เห็นว่าหากมีการแยกสัญญาแยกสนามบินจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ในเรื่องการลงทุนของแต่ละผู้ประกอบการได้”

            ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการ และนักธุรกิจค้าปลีก เสนอให้ประมูลแบ่งตามประเภทสินค้า เพื่อการแข่งขันสูงสุด และประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคและผลตอบแทนเข้ารัฐ

            ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากทีดีอาร์ไอ เคยให้เหตุผลว่า หากมีการผูกขาดรายเดียว สินค้าน้อย ราคาสูง คนก็ซื้อน้อย จึงคิดว่ากำไรสูงอยู่ แต่รายได้ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งหากมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย รายได้เข้ารัฐจะมากขึ้น ดร.เดือนเด่น ชี้ไปว่า สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ มีรายได้จากการใช้จ่ายต่อหัวมากกว่าไทยถึง 5 เท่า ทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน และสินค้าไทยไม่ได้ด้อยกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในสนามบินมีสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีถึง 12 ราย แบ่งตามพื้นที่ไปตามจุดต่างๆ และแบ่งตามลักษณะสินค้าเพื่อให้เกิดความหลากหลาย กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้มีรายได้เข้ารัฐสูงถึง 40% ไม่ใช่ 17% แบบของไทย”

            อ่านข้อมูลเหล่านี้แล้วท่านคิดอย่างไร...เชิญใช้สติไตร่ตรองดู...การเปิดให้ประมูลรวดเดียกับการแยกกันประมูลโดยจัดกลุ่มสนามบินที่เหมาะสมอย่างไหนดีกว่า กับธุรกิจดิวตี้ฟรีที่ในอดีตนั้นคู่สัญญาของรัฐจ่ายผลตอบแทนให้ทอท.อย่างน้อยปีละ 2,500 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนภาพว่าธุรกิจนี้ต้องมีกำไรมากกว่านั้นอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว

            ทันทีที่บอร์ด ทอท.มีมติดังกล่าว เสียงหนึ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนที่สุดคือ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการนำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในการประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีอากร (Duty Free Shop) ครั้งใหม่ หลังจากได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 4 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าและคำตอบใดๆ และมีการประกาศเปิดประมูล

            องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า “การประมูลหาผู้ร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการร้านค้าปลอดภาษีและอากรครั้งใหม่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในหลายสนามบินหลักของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้มหาศาลเข้ารัฐในแต่ละปี โครงการนี้จึงอยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก การประมูลครั้งนี้จำเป็นต้องมีการแข่งขันที่เปิดกว้าง ป้องกันการผูกขาด เกิดความโปร่งใสตามนโยบายที่รัฐบาลของท่านได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอดดังนั้นจึงควรนำ ข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ในทุกขั้นตอนของการประมูลเริ่มตั้งแต่การร่างขอบเขตของงาน (TOR) จึงกราบเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณานำ ข้อตกลงคุณธรรม มาใช้ในโครงการประมูล”

            ทำไมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจึงออกมาเสนอแนวทางนี้....มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ ผมไม่รู้ รู้แต่ว่าข้อตกลงคุณธรรม คือ หนึ่งในเครื่องมือที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 นำมาใช้บริหารงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการ ต้องตกลงกันว่าจะไม่
กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้สังเกตการณ์อิสระ รวมทั้งยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าร่วมสังเกตการณ์การทำงานจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตงาน ไปจนส่งมอบงานสิ้นสุดโครงการ

            แต่ในขณะนี้กำลังดำเนินการโดยตัดตอนสิ่งเหล่านี้ไป และพยายามที่ระบุว่า การประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้จะเป็นรูปแบบการเปิดประมูลของภาครัฐบาล มีลักษณะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public PrivatePartnership : PPP)

            เมื่อวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นผมทราบมาว่า “นายกฯลุงตู่” ถึงกับควันออกหู โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผูกขาด จึงมอบหมายให้รองโฆษกรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค ออกมาชี้แจงว่า นายกฯเป็นห่วงและอยากให้คณะกรรมการ ทอท.และผู้บริหาร ทอท.พิจารณาทบทวนแนวทางการประมูลดังกล่าว โดยคำนึงถึงข้อท้วงติงของสังคมและประโยชน์ที่ ทอท.และประเทศชาติจะได้รับอย่างรอบด้าน พร้อมยํ้าว่ารัฐบาลจะหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุด โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปติดตามกำกับดูแลและร่วมหาแนวทางที่ดีที่สุดกับ ทอท.โดยเร่งด่วน

            ใครจะเห็นอย่างไร ผมไม่รู้ แต่ผมเห็นว่า การประมูลดิวตี้ฟรีชักจะไม่มาตามสัญญา...เสียแล้ว เพราะทราบว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังหาทางลงในเรื่องนี้

            ผมไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าหาทางลงไม่ได้ คงต้องมีใครเอาบันไดไปพาดแทนงวงช้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเปิดทางให้ประธานกรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไต่ลงมา... ไม่เช่นนั้นผมว่าไม่ใครก็ใครต้องล้มบาดเจ็บ...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ