ข่าว

'สนธิรัตน์' งัดข้อมาเฟีย ร.พ. เอกชนไหวหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อเป็นนักการเมืองเต็มตัว ย่อมท้าทาย ยิ่งบทบาทภารกิจและการตัดสินใจ สำหรับสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

คอลัมน์ อยู่บนภู ฉบับ 3437 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-23 ม.ค.2562 / โดย...กระบี่เดียวดาย

 

'สนธิรัตน์' งัดข้อมาเฟีย ร.พ. เอกชนไหวหรือ?

 

'สนธิรัตน์' งัดข้อ

มาเฟีย ร.พ. เอกชนไหวหรือ?

 

          สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสวมหมวกอีกใบเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ก้าวย่างเป็นนักการเมืองเต็มตัว

          แน่นอน เมื่อเป็นนักการเมืองเต็มตัว ย่อมท้าทาย ยิ่งบทบาทภารกิจและการตัดสินใจ ในฐานะรัฐมนตรีไปทาบทับซ้อน และต้องคำนึงถึงกระแสและคะแนนเสียง

          กรณีการทบทวนบัญชีสินค้าและบริการควบคุมประจำปี เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่มีรัฐมนตรีพาณิชย์เป็นประธาน แสดงท่าทีขึงขังในการนำยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม

          พลันที่มีความคิดริเริ่มนี้ออกมา ก็ต้องถูกกระแสต่อต้านจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยยกอ้างเหตุผลสารพัด ทั้งบอกว่าระบบแข่งขันเสรีของเอกชนจะช่วยสร้างดุลยภาพราคายา และไม่ทำให้ราคาสูงเกินไปเพราะมีกลไกการแข่งขันทำงานอยู่แล้ว

          ประมาณว่า ถ้าโรงพยาบาลนี้แพง ก็ไปโรงพยาบาลอื่นที่ถูกกว่า ลดราคากว่า  “ประชาชนที่เข้ามารับบริการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เป็นสิ่งที่พวกผู้ป่วยเลือกที่จะมารักษาด้วยความสมัครใจ และเต็มใจที่จะเสียค่ารักษาพยาบาลเอง อาจเพราะชอบในบริการและสถานที่ถือเป็นทางเลือกของประชาชน ซึ่งเมื่อโรงพยาบาลเอกชนให้บริการรักษา ก็จะต้องมีกำไรส่วนที่เหลือมาพัฒนาโรงพยาบาลให้ดีขึ้น ถือเป็นไปตามกลไกการแข่งขันเสรี ที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องแข่งขันพัฒนาให้มีคุณภาพที่ดีกว่าเพื่อดึงดูดคนให้เข้ามารับบริการการรักษา  ซึ่งทำให้การแพทย์ไทยเกิดการพัฒนา”

          อีกประเด็นที่ยกขึ้นมาต่อต้าน หลังจากหลายฝ่ายกระทุ้งไปที่กำไร ร.พ.เอกชนที่ “อิ่มหมีพีมัน” จากกำไรบนซากความเหี่ยวเฉาและล้มละลายทางการรักษาพยาบาลของประชาชน

          ที่ผ่านมากำไรโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะ 18 แห่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สูงมาก กำไรสุทธิอยู่ที่ 9-12% บางแห่งอาจจะขายต่างชาติในราคาที่แพง กำไรจะอยู่ราว 13-14% ซึ่งงบการเงิน 9 เดือนที่แสดงออกมาไม่มีโรงพยาบาลไหนมีกำไรถึง 20% เพราะค่ารักษาโรงพยาบาลยิ่งแพงยิ่งต้องพัฒนาคุณภาพสูงขึ้น และเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่าย และไม่มีการพัฒนาที่ดีขึ้นใดที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนส่วนร.พ.เอกชนที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมีกำไรที่น้อยกว่านี้ หากมีกำไรที่มากกว่าก็จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯหมดแล้ว” เสียงของผู้แทน ร.พ.เอกชน ที่ต่อต้านการขึ้นบัญชีควบคุมยาและบริการทางการแพทย์ ประมาณว่าเป็นสินค้าหนึ่ง ที่ผู้รับบริการต้องจ่ายและเลือกรับเอาตามราคา ที่นำไปสู่คุณภาพการรักษา

          เสมือนกับการบอกว่า “ถ้าอยากได้ยาดี รักษาดี ต้องจ่ายแพง” โดยอาจลืมเลือนมิติอีกด้าน เป็นมิติของความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ถึงกับต้องล้มละลายหมดเนื้อหมดตัวจากการรักษาพยาบาล

          เท่านั้นยังไม่พอเหมือนร.พ.เอกชน จะอกสั่นขวัญผวากับการขึ้นบัญชีคุมยาอย่างหนักหน่วง จำต้องเดินสายล็อบบี้ตรงไปที่ทำเนียบรัฐบาล สกัดไม่ให้บรรจุวาระการควบคุมยาเข้า ครม. เรียกว่าต้องทำแท้งให้ได้

          สำทับด้วยถ้อยคำข่มขู่ จากกลุ่มทุนร.พ.ยักษ์ใหญ่ ทำนอง “ถ้าดึงดันควบคุม ทางร.พ.เอกชนและบุคลากร คงต้องลอยแพพรรคพลังประชารัฐ”

          ใช้เรื่องการเมืองเข้าไปบีบและต่อรอง ในยามเข้าใกล้ห้วงแห่งการเลือกตั้ง โจมตีไปที่จุดอ่อนของนักการเมือง ประหนึ่งรู้ดีว่ายามนี้ทุกคนต้องการทั้งกระสุนและคะแนนเสียง ไม่ต่างจากการกระทำของกลุ่มมาเฟีย

          การเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงขึ้นของร.พ.เอกชน ทำให้ “สนธิรัตน์” ต้นเรื่องนี้ถึงกับชะงัก ต้องเรียกทั้งฝ่ายสนับสนุนอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายต่อต้านเข้าพบหารือกันใหม่ รวมทั้งฝ่ายชงเรื่องอย่างสำนักเลขานุการการแข่งขันทางการค้า

          ห้วงเวลาแห่งการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ แน่นอนเพื่อความสง่างามและแสดงสปิริต “สนธิรัตน์” รวมทั้งรัฐมนตรีที่เข้าสู่การเมือง ต้องออกจากตำแหน่ง หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและควรทำทันที ที่พรรคการเมืองยื่นสมัครรับเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้     

          สนธิรัตน์ ในฐานะคนต้นเรื่อง ต้องคำนึงและใคร่ครวญให้จงหนัก ในการยืนอยู่กับประชาชน เสมือนเดิมพันครั้งสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง เป็นบทพิสูจน์สำคัญสนธิรัตน์ ในการก้าวไปสู่นักการเมืองแบบใหม่ เป็นนักการเมืองที่ยืนหยัดกับประชาชน ต้องไม่เหยียบซากประชาชนแล้วก้มหัวให้กับกลุ่มทุน...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ