ข่าว

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประเด็นใหญ่ที่ประชาชนคนไทยต้องรับรู้ร่วมกันเรื่องหนึ่ง ซึ่งควรจะมีการพิจารณากันให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่ปล่อยให้ "กลไกตลาดเสรี" ทำหน้าที่โดยตัวมันอย่างเดียว

ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3426 หน้า 6  ระหว่างวันที่ 13-15 ธ.ค.2561 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้!

เบิก-ถอนสาขาจะโดน ‘โขกเงิน’

 

 

            มีประเด็นใหญ่ที่ประชาชนคนไทยต้องรับรู้ร่วมกันเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า เรื่องใหญ่ขนาดนี้ควรจะมีการพิจารณากันให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่ปล่อยให้ “กลไกตลาดเสรี” ทำหน้าที่โดยตัวมันอย่างเดียว

            เพราะบางครั้งเจ้ากลไกตลาดเสรีอันวิไลในระบบทุนนิยมเสรีนี่แหละคือตัวทำลายล้าง “หน้าที่หลัก” ขององค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาให้ยับเยินได้ง่ายดายที่สุด

            แต่ในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว “การจัดการอย่างมีศิลปะ” ต่างหากที่คนไทยพึงประสงค์ เพราะยังมีความถี่ห่างในเรื่องต้นทุน และระบบเศรษฐกิจที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ประชาชนส่วนใหญ่ยังไร้ทางเลือก แต่ถูกสภาพการบีบบังคับมาควักเงินออกไปจากกระเป๋าคนหาเช้ากินคํ่าอยู่อีกมาก

             ผมกำลังพูดถึง เรื่องที่ “กอบศักดิ์ ดวงดี” เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ว่า สมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาเรื่อง “การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการถอนเงินสดหน้าเคาน์เตอร์ การใช้เช็ค และตู้เอทีเอ็ม”

 

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

             

            ธนาคารอ้างว่า สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเบิก-ถอนเงินสด เพราะธุรกรรมส่วนนี้เป็นต้นทุนที่สูงของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเงินสด ตู้เอทีเอ็ม และด้านพนักงาน

            ที่ผ่านมา ธนาคารยังไม่มีทางเลือกให้กับประชาชนมากนัก ประชาชนจึงต้องเบิกถอนเงินสดที่สาขา เพื่อทำธุรกรรมประเภทต่างๆ อยู่เสมอ จึงไม่ต้องเก็บเงินจากการบริการนี้

            “กอบศักดิ์” บอกว่า ปัจจุบันเมื่อธนาคารได้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมผ่านดิจิตอลแบงกิ้งได้ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ จึงมีการหารือเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดหน้าเคาน์เตอร์ และเครื่องเอทีเอ็ม

 

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

            ผมประมวลเหตุผลที่เลขาธิการสมาคมธนาคารไทยยกมาอธิบายเพื่อเก็บเงินจากประชาชนผู้ฝากเงินหากไปใช้บริการหน้าเคาน์เตอร์ได้ 3 ข้อ ดังนี้

            ข้อแรก ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสด มีต้นทุนที่ธนาคารต้องรับผิดชอบค่อนข้างแพงมาก!

            ข้อ 2 ที่ผ่านมาธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมโอนเงินและชำระเงินผ่านช่องทางดิจิตอลแบงกิ้งไปแล้ว!

            ข้อ 3 เมื่อธนาคารมีต้นทุนที่จะต้องแบกรับ เพราะฉะนั้นธนาคารย่อมสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนั้นๆ กับผู้ใช้บริการได้!

            ทั้ง 3 ข้อ คือเหตุผลที่ธนาคารซึ่งมีหน้าที่รับฝากเงิน เพื่อนำเงินไปปล่อยกู้เป็นท่อต่อในระบบเศรษฐกิจยกขึ้นมาอ้างเพื่อ “เก็บเงินประชาชนผู้ฝากเงิน”

 

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

 

            โชคดีที่ถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป เพราะ ธปท. ต้องการพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนอนุญาตให้แบงก์สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเงินสด หรือการใช้เช็คเงินสดต่างๆ ได้

            เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผู้คนในสังคมจะต้องจับตามอง ก่อนที่จะมีการเปิดทางให้ธนาคารที่รับฝากเงินจากประชาชนสามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ฝากเงินที่ไปถอนเงินของตัวเองจากบัญชี

            เพราะอะไรน่ะหรือครับ! เพราะหลักการทำธุรกิจของธนาคารนั้นคือการรับฝากเงินจากประชาชน ธนาคารใดปฏิเสธการรับฝากถือว่ามีความผิด แต่เมื่อคนไปเบิกเงินจากผู้ประกอบการที่รับฝากกลับปล่อยให้มีการคิดเงินโดยอ้างว่า ตัวเองมีต้นทุนจากการดำเนินการ

 

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

 

            ผมถามว่า แล้วมีธุรกิจอะไรบ้างที่ไม่มีต้นทุนค่าบริการในหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำ ต้องรับผิดชอบ

            คำตอบคือ ไม่มี...ทุกองค์กร ทุกธุรกิจล้วนมีต้นทุนการดำเนินงานในหน้าที่ทั้งสิ้น

            แล้วถ้าเกิดใครคนไหนหน้ามืด ปล่อยให้มีการคิดต้นทุนของตัวเองจากการทำหน้าที่ไม่บรรลัยไปหรือครับ....

    คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'        

 

            ที่สำคัญกว่านั้น ในปัจจุบันแม้ธนาคารผู้รับฝากเงินและให้บริการทางการเงินกับประชาชนจะมีแอพพลิเคชันทางอิเล็กทรอนิกส์ให้บริการ แต่เชื่อหรือไม่ปริมาณการเบิกถอนเงินของคนในสังคมไทยยังมี 2 รูปแบบ

            รูปแบบที่ 1 คนในเมือง คนรุ่นใหม่ ใช้แอพพลิเคชันในการเบิกถอน สั่งจ่ายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์กว่า 80%

            แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังใช้การเบิกถอนเงินผ่านทางเอทีเอ็ม และคนรุ่นเก่า ชาวบ้านต่างจังหวัดยังมีพฤติกรรมการเบิกถอนเงินผ่านทางสาขาหน้าเคาน์เตอร์ธนาคารอยู่เช่นเดิม

            ข้อมูลที่ยืนยันพฤติกรรมผู้คนได้เป็นอย่างดีคือตัวเลขการถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือหน้าเคาน์เตอร์ในระบบธนาคาร ยังเกินระดับ 8 ล้านล้านบาทต่อปี ไม่ได้ลดลงหากเทียบกับปี 2560

            เอาเป็นว่า 8 ล้านล้านบาท ถ้าหากมีการคิดเงินจากกลุ่มนี้แค่ 50% หมายความว่า การเบิกถอนเงินสดกว่า 4 ล้านล้านบาทจะต้องมีการจ่ายเงิน คิดดูธนาคารจะรํ่ารวยแค่ไหนจากการเป็นเสือนอนกิน

            ลำพังตัวเลขกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกของปี 2561 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ 106,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 97,697 ล้านบาท บวกกับไตรมาส 3 ของกลุ่มแบงก์ 10 แห่ง ที่ทำกำไรสุทธิได้ราว 5.18 หมื่นล้านบาท ธุรกิจนี้ก็อู้ฟู่บานสะพรั่งแล้ว

            หาก ธปท.ยังมีการปล่อยให้ดำเนินการ “กินค่าต๋ง” จากการให้บริการผ่านทางเคาน์เตอร์ในสาขาอีก มิรํ่ารวยกันไปใหญ่หรือพ่อเจ้าพระคุณทูนหัว

 

คนฝากเงินแบงก์ฟังทางนี้! เบิก-ถอนสาขาจะโดน 'โขกเงิน'

            ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับคนไทยทุกคน เรื่องนี้จึงต้องขยาย แม้ธนาคารจะบอกว่า ยังไม่มีการนำไปใช้ในระยะสั้น เพราะพฤติกรรมของคนในสังคมยังไม่เปลี่ยน แต่ขอบอกว่าไว้ใจไม่ได้

            ทำไมไว้ใจไม่ได้ เพราะขณะที่สมาคมธนาคารไทยบอกว่าได้มีการหารือกับแบงก์ชาติไปในเรื่องนี้เพื่อหาข้อสรุป แต่พอนักข่าวไปสอบถามผู้บริหารแบงก์ชาติสิ่งที่ได้คือการปฏิเสธว่า ไม่มี...

            นี่คือคำชี้แจงของ จันทวรรณสุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ที่บอกว่า สมาคมธนาคารไทยยังไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการกับ ธปท.ในเรื่องของการเก็บค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มและหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร หากมีการเสนอมาคิดว่า ข้อพิจารณาคงต้องดูความพร้อมของบริการการเงิน ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค โอกาสและการเข้าถึงของประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง...

            Please โปรดกรุณาอย่าปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนเลยขอรับนายจ๋า...

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ