ข่าว

"การบินไทย" ยับเยินจากฝีมือพนักงานทุบหม้อข้าวตัวเอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหาเที่ยวบิน ทีจี 971 ซูริก-กรุงเทพฯ กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวาง

ฐานโซไซตี ฉบับ 3412  หน้า 4 ระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค. 2561

โดย : พริกกะเหรี่ยง

 

"การบินไทย" ยับเยินจากฝีมือพนักงานทุบหม้อข้าวตัวเอง

 

“การบินไทย” ยับเยิน

จากฝีมือพนักงาน

ทุบหม้อข้าวตัวเอง

 

 

          ปัญหาเที่ยวบิน ทีจี 971 ซูริก-กรุงเทพฯ กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวาง การยืดอกออกมา “ขอโทษ” ของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะ ดีดี “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากให้เกิดปัญหาบานปลายต่อไป คงไม่ส่งผลดีต่อบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงการสร้างภาพลักษณ์และฟื้นฟูเท่าใดนัก  ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องภายในองค์กรที่ต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงและสะสางปัญหากันต่อไป  

          เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอ่อนไหวมาก กระแสข่าวภายนอกไม่นานก็จบ! เพราะมีแยะที่เอามันไว้ก่อนฟังความไม่รอบด้าน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องขอร้องกันอย่า “เปิดศึกภายใน” ถ้าจัดการไม่ดีมีปัญหาตามมาแน่นอน ต้องดับไฟแต่ต้นลม อย่าปล่อยให้เกิดศึก ระหว่างฝ่ายบินกับบริการภาคพื้น ที่ขณะนี้ดูเหมือนนักบินกลายเป็นจำเลยของสังคมที่ไปแย่งที่นั่งผู้โดยสาร ทำให้เที่ยวบินเกิดการ “ดีเลย์” ซึ่งนักบินก็ต้องออกมาปกป้องตัวเองและจะยิ่งบานปลายไปกันใหญ่หากยังมีการแชร์ข้อมูลกันว่อนโซเชียล ซึ่งถ้าหากอีกฝ่ายออกมาโต้ตอบบ้างก็ไม่ต่างจาก “สาวไส้ให้กากิน”

          สิ่งที่สยบปัญหาก็คือเปิดตำรา กางกฎระเบียบบริษัท และกฎที่เป็นสากล ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้ว่ากันเป็นข้อๆ อันไหนทำได้ทำไม่ได้ ขั้นตอนการปฏิบัติ อย่าเอาความรู้สึกส่วนตัวและผู้โดยสารมาเป็นตัวประกัน มองในมุมนายสถานี (KK) ก็หวังดีที่จะให้ผู้บริการที่ดีแก่ผู้โดยสาร นักบินก็มีกฎในการได้ที่นั่ง เพื่อพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อความปลอดภัย ผลสอบอย่างเป็นทางการยังไม่ออก แต่ประเมินเรื่องนี้ก็คงอยู่ที่การ“สื่อสาร” ภายในกันมากกว่า เพราะหากยึด “ทิฐิ”ผลออกมาก็เป็นอย่างที่เห็น ไม่มีใครได้ มีแต่เสียกับเสียและสุดท้ายก็ชื่อเสียงการบินไทย “พัง”

          ทำไมนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ถึงแสดงความเป็นห่วงถึงขั้นโทร.ทางไกลข้ามทวีปมาไถ่ถามเพราะถือเป็นเรื่อง “เซนสิทีฟ”มาก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คงผิดด้วยกันทั้งหมด ที่เสมือนเอาผู้โดยสารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เป็นตัวประกัน และทำให้เกิดความล่าช้าไปถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง มองในแง่ผู้โดยสารต่อเครื่อง หรือมีธุรกิจสำคัญ จะเสียหายขนาดไหน ไม่รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดีเลย์

          แต่ก็ไม่เท่ากับชื่อเสียงของสายการบินแห่งชาติที่ยับเยินไปแล้วจากฝีมือพนักงาน เสมือน “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” ในแง่คนนอกจึงมองว่า “ผิดทั้ง 2 ฝ่าย” และผู้บริหารก็ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพอย่างสูงมากๆ เข้าไปตัดสินปัญหา การเปิดศึกแพ้ชนะหรือเอาเป็นเอาตายกับพนักงานไม่เคยทำให้องค์กรไหนดีขึ้นดู “นกแอร์” เป็นตัวอย่าง สะบักสะบอมทุกวันนี้สาเหตุใหญ่มาจากอะไร? ลองไปดูเป็นกรณีศึกษา การขู่หยุดบินก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นการซํ้าเติมองค์กร “คำขอโทษ” ความรัก ความสามัคคีในองค์กรเป็นสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาและงดงามในสถานการณ์เช่นนี้

          “หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้าไปสอด” จากผลการคัดเลือกบริษัทสถาปนิกออกแบบเทอร์มินัล 2 บานปลายไปถึงแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ทำเอาผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการสถาปนิก วิศวกร ชั้นบรมครูไม่ว่าจะเป็น ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว-ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน - ดร.ต่อตระกูล ยมนาค -ดร.วิชา จิวาลัย ดาหน้าออกมาร่วมการเปิดเวทีสาธารณะ “กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ” โดยสมาคมสถาปนิกฯ เป็นแม่งานวันก่อน และมีมติคัดค้านให้ยึดตามแผนแม่บทเดิม ที่มีการปรับแก้กันมาหลายรอบ แต่ก็ยังมี “กรอบ” ให้ทำตาม โดยใช้มติขององค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร “แตะมือ” ควํ่าเทอร์มินัล 2 หลังจากฟังทั้งฝ่ายทอท.และฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วยที่งัดข้อมูลมา “ดีเบต” กันร่วม 5 ชั่วโมงเต็ม และใช้เวลาเพียง 10 นาทีในการลงมติ

          เดิมที “อัชชพล ดุสิตนานนท์” นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ บอกว่าเชิญไปร่วม 15 องค์กร โดยขอไปทางผู้มีอำนาจให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเสมือนเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการขององค์กร และก่อนโหวตมติก็นับเฉพาะตัวแทนที่เหลือเท่านั้น และจะเรียบเรียงเนื้อหาสาระของการสัมมนาทั้งหมดส่งตรงถึงรัฐบาล ให้พิจารณาต่อไป หากไม่มีปฏิกิริยา ก็คงมีมาตราอื่นตามมา

          จากการติดตามเวทีอย่างใกล้ชิด สะท้อนให้เห็นชัดว่า ทอท. ตอบคำถามไม่ตรงประเด็น โดยเฉพาะการอ้างผลการศึกษา ICAO ที่ทอท.ยกขึ้นมานั้น ไม่มีบอกสักคำว่า ให้สร้างเทอร์มินัล 2 เรื่องนี้ “ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์” อดีตผู้บริหาร สนามบิน(หนองงูเห่าเดิม) ยุคแรกๆ ก็ถามหลายรอบ แต่คำตอบก็ไม่ตรงคำถาม และเชื่อว่า เรื่องนี้ยังมีอีกหลายเวทีที่เปิดโอกาสให้มีถกกัน ซึ่งถือเป็นมิติที่ดีที่บรรดาผู้รู้ทั้งหลายในประเทศนี้ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งหากรัฐบาลยังทำเป็น “มึน”ก็คงมีความเคลื่อนไหวตามมาอีกเป็นระลอกๆ

          เข้าใจให้ตรงกัน “สนามบินสุวรรณภูมิ” ไม่ใช่ของทอท. แต่เป็นสมบัติชาติ เป็นหน้าตาของประเทศ เป็นประตูที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การใช้เงิน 4 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามตามมาว่า “คุ้มหรือไม่” และทำตามแผนแม่บทซึ่งเป็นมาสเตอร์แพลนหลัก ในการขยายโครงการ หรือเปล่า เมื่อมีการทักท้วงเสียงดังขนาดนี้ รัฐบาลยังเงียบเฉย กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับก็ควรจะมีการเทกแอกชัน ไม่ใช่ “ปิดปากเงียบ” ส่วนกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ปลัดกระทรวงก็นั่งเป็นประธาน ทอท. แต่ก็กลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอีกเช่นกัน ทำให้สังคมยิ่งตั้งคำถามไปกันใหญ่ และไม่อยากจะคิดว่าอะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้กันแน่

          ธาพิดา นรพัลลภเอาใจคนรักษ์โลก! อัพเกรด EV Charger เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับรถ Plug-in Hybrid/PHEV หรือ Electric Vehicle ห้างแรกที่ให้บริการมากถึง 20 จุดบริการ ชาร์จได้ฟรีที่ ชั้น B1 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และ ชิดลม ชั้น B และชั้น 2

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ