ข่าว

ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่และการก่อสร้าง อาคาร City Garden (3)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ประชุมของคณะอนุกรรมการบริหาร และพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการขอปรับเปลี่ยนและปรับปรุงพื้นที่

ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3410 ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.2561 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

 

 

ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่และการก่อสร้าง

อาคาร City Garden (3)

 

 

                เมื่อที่ประชุมของคณะอนุกรรมการบริหาร และพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการขอปรับเปลี่ยนและปรับปรุงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการของบริษัท คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ในการประชุมครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ตามที่บริษัทเสนอแล้ว การดำเนินการต่อมาเพื่อใช้พื้นที่ทำการก่อสร้างอาคาร City Garden ก็ได้ดำเนินการโดยรวดเร็ว โดยตามรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้สรุปไว้ดังนี้

                วันที่ 21 ตุลาคม 2548 นายสมบัตร เดชาพานิชกุล ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด มีหนังสือฉบับที่ คพก.025/2548 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2548 ถึงรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (นายบัญชา ปัตตนาภรณ์) ขออนุมัติแผนผังการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามแผนผังที่ส่งมาด้วย ในท้ายหนังสือฉบับนี้ได้มีการสั่งการตามลำดับดังนี้

 

 

                25 ตุลาคม 2548 นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ เกษียนสั่งการถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า “ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ทอท.พิจารณาดำเนินการต่อไป”

                วันที่ 31 ตุลาคม 2548นางจิราพร เขมนะสิริ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ทอท.ได้บันทึกรายงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ว่า “เพื่อพิจารณาอนุมัติตามที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเสนอให้ต่อไปด้วย”

                วันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 นายบัญชา ก็ได้เกษียนคำสั่ง “อนุมัติ แจ้งประธานกรรมการ ทอท. และผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”

                วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานกรรมการ ทอท.ลงชื่อรับทราบ และ นายสมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและผู้อำนวยการบริหารโครงการและก่อสร้างมีคำสั่งถึงนางจริยา ธงทอง หัวหน้างานประสานงานสำนักประสานงานโครงการ“ให้พิจารณาดำเนินการ”

                วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 นายสมบัตร เดชาพานิชกุล ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด มีหนังสือที่ คพส.052/2548 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ถึงประธานกรรมการ ทอท. ขอส่งตาราง Construction Schedule และแผนภูมิ Contractors สำหรับงานก่อสร้างและตกแต่งภายในพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้ ทอท. ทราบถึงแผนงานทั้งในส่วนการดำเนินการที่ผ่านมา และส่วนที่กำลังดำเนินการตามแผนของบริษัทต่อไป

                นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานกรรมการ ทอท.เกษียนสั่งการถึง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.และ นายสมชัย สวัสดีผล ว่า “เพื่อดำเนินการต่อไป” นายบัญชา  เกษียนสั่งถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า “เพื่อดำเนินการต่อไป” นายสมชัย สวัสดีผล ได้เกษียนสั่งถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการและก่อสร้าง (สคก.) ว่า “แจ้งคุณจริยา ธงทอง”

                วันที่ 15 ธันวาคม 2548นายสมบัตร เดชาพานิชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการ ทอท.ขออนุมัติการก่อสร้างอาคาร City Garden โดยอ้างถึงหนังสือที่ คพส.040/2548 ลงวันที่ 13 กันยายน 2548 พร้อมผังอาคาร City Garden (ซึ่งยังไม่มีการสั่งการใดๆจาก ทอท.) และอ้างว่าบริษัทได้รับอนุมัติแผนพื้นที่ Master Layout ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2548 แล้ว บริษัทจึงขออนุมัติการจัดสร้างอาคาร “City Garden” เพื่อจะได้ดำเนินการก่อสร้างให้ทันตามกำหนด (หนังสือฉบับนี้ตรวจไม่พบว่า มีการสั่งการจากประธานกรรมการ ทอท.และผู้บริหาร ทอท.)

                วันที่ 5 มกราคม 2549 นายสมชัย สวัสดีผล ได้มีหนังสือที่ ทอท.(สคก.) 4/2549 ลงวันที่ 5 มกราคม 2549 ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด (นายสมบัตร เดชาพานิชกุล) อ้างถึงหนังสือของบริษัท ฉบับที่ คพก.025/2548 และหนังสือที่ คพส.066/2548 แจ้งว่า

                “ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (คณะอนุกรรมการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 ได้อนุมัติในหลักการให้บริษัท ดำเนินการตามที่เสนอ สคก. ทอท.ขอแจ้งให้บริษัททราบว่า ทอท.จะมีโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 ภายในปี 2553 โดยขยายอาคารที่พักผู้โดยสารทั้ง 2 ด้าน(ตะวันออกและตะวันตก) ซึ่งจะกระทบต่ออาคารของบริษัท เนื่องจากอาจจะต้องมีการรื้อย้ายอาคาร City Garden ในภายหลัง จึงขอให้บริษัทยืนยันการดำเนินการดังกล่าว”

                วันที่ 11 มกราคม 2549 นายสมบัตร เดชาพานิชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด มีหนังสือถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรื่องขอเสนอผัง Conceptual Design สำหรับอาคาร City Garden แจ้งว่า “บริษัทมีความจำเป็นจะต้องสร้างอาคาร City Garden จึงขอยืนยันการจัดสร้างและขอส่งแบบ Conceptual Design ให้ทาง ทอท.พิจารณาอนุมัติ” นายสมชัยได้รับหนังสือดังกล่าวและได้เกษียนคำสั่งถึงนางจริยา ธงทอง ให้พิจารณา

                วันที่ 20 มกราคม 2549 ทอท.นายสมชัย สวัสดีผล ได้มีหนังสือที่ ทอท.(สคก.)86/2549 ถึงนายสมบัตร เดชาพานิชกุล แจ้งว่า “ตามหนังสือที่บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ได้ยืนยันการจัดสร้างอาคาร City Garden ตามมติอนุมัติของคณะอนุกรรมการฯ สคก.ทอท.ไม่ขัดข้องการดำเนินการดังกล่าว โดยการดำเนินการออกแบบก่อสร้างอาคาร ให้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของ Design-Cheekev(ACT) และบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ”

                วันเดียวกันนี้ (20 ม.ค.49) บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิฯ ได้มีหนังสือที่ คพส.015/2549 ลงวันที่ 20 มกราคม 2549 ถึง นายสมชัย สวัสดีผล ขอให้ สคก. ทอท.ดำเนินการรับมอบพื้นที่บริเวณที่จะใช้ในการสร้างอาคารCity Garden จากผู้รับเหมาซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และส่งมอบต่อให้บริษัท เพื่อเริ่มลงมือก่อสร้างอาคารดังกล่าว พร้อมอนุญาตใช้พื้นที่เป็นเส้นทางขนส่งวัสดุก่อสร้างเข้าออก

                จากนั้น บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคาร City Garden จนแล้วเสร็จ ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 3,000 ตารางเมตร ชั้นบนและโครงหลังคามีรูปทรงสถาปัตยกรรมกลมกลืนไปกับรูปทรงอาคารผู้โดยสาร ส่วนชั้นล่างก่อผนังทึบด้วยก้อนซีเมนต์บล็อก มีสะพานเชื่อมจากอาคารดังกล่าวมาสู่อาคารผู้โดยสาร โดยรื้อทะลุกำแพงเดิมของอาคารผู้โดยสารออกเป็นช่องเพื่อเชื่อมต่อ อาคาร City Garden ตั้งอยู่บนที่ดินบริเวณพื้นที่ซึ่งตามผังเดิม (Master Plan) ของ ทอท.กำหนดให้จัดเป็นพื้นที่ตกแต่งสวนไม้ประดับขนาดใหญ่

                อาคาร City Garden ได้เปิดใช้งานพร้อมๆ กับการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2549 โดยชั้นบน(ชั้น2) ได้เปิดเป็นภัตตาคารทั้งชั้น ส่วนชั้นล่างใช้เป็นห้องครัวของภัตตาคารและเป็นโกดังเก็บของปรากฏตามรูปถ่าย

                จากข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ยังมีประเด็นความชอบด้วยกฎหมายและความเสียหาย ที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปไว้ โปรดติดตามตอนต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ