ข่าว

ใครไม่ฉลาดในอารมณ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรารู้จักกันขึ้นใจเพราะเรียนรู้กันตั้งแต่วัยเด็กเรื่องคน 4 จำพวกที่เรียกว่า เป็นบัว 4 เหล่า

Management Tools  หน้า 6 ฉบับ 3409  ระหว่างวันที่ 14-17 ต.ค.2561

โดย...รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร  สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ใครไม่ฉลาดในอารมณ์

ใครไม่ฉลาดในอารมณ์

          หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรารู้จักกันขึ้นใจเพราะเรียนรู้กันตั้งแต่วัยเด็กเรื่องคน 4 จำพวกที่เรียกว่า เป็นบัว 4 เหล่า  มีปราชญ์ทางสงฆ์รูปหนึ่ง คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประยุทธ์ ปยุตโต ได้แปลจากบาลีกลับเป็นภาษาอังกฤษ ว่าเปรียบคน 4 ประเภท คือ The genius, The intellectual, The trainable และ The idiot

          ความแตกต่างของคนสี่ประเภทนี้ คือความความสามารถในการรับรู้และบรรลุถึงธรรม 

          อัจฉริยะ (Genius) หรือ อุคฆฏิตัญญูนั้น  เพียงแต่บอกหัวข้อ ไม่จำเป็นต้องอธิบายขยายความก็รู้บรรลุโดยแจ้ง

          ปัญญาชน (Intellectual) หรือ วิปจิตัญญูคงต้องอธิบายขยายความเพียงเล็กน้อย ก็เข้าใจได้โดยไม่ยาก

          ผู้ฝึกหัด (Trainable)  หรือ เนยยะ  นอกจากยกตัวอย่างยังอาจให้ฝึกปฏิบัติพอสมควร ก็จะบรรลุธรรม

          ส่วนคนด้อยปัญญา (Idiot) หรือ ปทปรมะ  แม้จะพร่ำสอนเพียงไร อธิบายก็แล้ว ยกตัวอย่างก็แล้ว ฝึกปฏิบัติก็มากมายแล้วก็หาเข้าใจซึ่งแก่นแท้ของธรรมได้ 

          ระดับความฉลาดทั้ง 4 ระดับนี้  จัดเป็นความฉลาดทางปัญญา  ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นปัญญาแล้ว  ผู้บริหารควรมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) ควบคู่ไปด้วย  หากฉลาดแต่ควบคุมตนเองไม่ได้  มีตำแหน่งระดับสูงเป็นผู้ใหญ่แต่อารมณ์แปรผันเหมือนเด็กเล็ก ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการจัดการสิ่งต่างๆ ได้

 

          แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) เขียนบทความเรื่อง “สิ่งใดที่สร้างผู้นำ” (What makes a leader?) เป็นบทความหลักหนึ่งในสิบบทความของหนังสือชุดของสำนักพิมพ์ฮาร์วาร์ด เล่มที่ชื่อ “ว่าด้วยผู้นำ” (On Leadership)  ได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ไว้ 5 ประการ คือ

          1.ความตระหนักในตนเอง (Self awareness)  หมายถึงความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในอารมณ์ของตนเองตลอดจนเข้าใจว่าการใช้อารมณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อคนอื่นๆอย่างไร    คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ต้องเริ่มต้นด้วยการรู้จักตนเอง  เช่น  เป็นคนที่โมโหง่ายไหม  แค่มีคนพูดคนแหย่ หรือตั้งคำถามที่ไม่ถูกใจก็โมโหเกรี้ยวกราดใส่คนอื่น  เอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง   หรือเป็นคนที่อารมณ์ดีในทุกสถานการณ์มากเกินไป  เห็นทุกเรื่องเป็นเรื่องเล่นๆไปเสียหมด   หรือเป็นคนอารมณ์อ่อนไหว  เห็นใครลำบากน่าสงสารก็ยื่นมือไปช่วยเสียหมดโดยไม่พิจารณาถึงศักยภาพหรือภาระที่ตนเองมีอยู่   

         สิ่งที่แสดงออกถึงความสำเร็จ (Hallmarks) ของการมีความตระหนักในตนเอง คือ การที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง   การรู้จักการประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา  และการรู้จักยับยั้งอารมณ์ขันที่ไม่เกิดประโยชน์ของตนเอง (อันนี้แปลตรงๆจาก self deprecating sense of humor ไม่ได้มีเจตนาจะหมายถึงมุกแป็กของท่านผู้นำคนใด)    

         การตระหนักในตนถือเป็นรากฐานเริ่มต้นของความฉลาดทางอารมณ์

         2.การกำกับตนเอง (Self regulation)  หมายถึงความสามารถในการควบคุมหรือกำกับอารมณ์หรือแรงกระตุ้นที่นำไปสู่ความเสียหาย  รู้จักในการอดกลั้น รู้จักการยั้งใจ  รู้จักการคิดก่อนพูดหรือกระทำ  คนที่ฉลาดทางอารมณ์นั้น  นอกจากประเมินออกว่า การแสดงออกทางอารมณ์ของตนจะกระทบต่อคนอื่นอย่างไรแล้ว  ยังต้องสามารถกำกับอารมณ์ของตนได้ด้วย  หากโกรธแล้วกลายเป็นภาพลบไม่เกิดผลในทางที่ดี  ก็ต้องควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ให้โกรธ  ไม่ใช่ปล่อยอารมณ์ออกมาจนเป็นด้านลบต่อตนเอง  หรือ หากปล่อยอารมณ์ให้สนุกสนานร่าเริงเกินไปจนขาดความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่ ก็จะเป็นปัญหาในด้านภาพลักษณ์ส่วนบุคคล

        ความสามารถในการกำกับตนเองแสดงออกได้โดยการรู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม  รู้กาละเทศะ มีความสง่างามในท่าที ในขณะเดียวกันก็รู้จักการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่กดดัน

         3.การมีแรงจูงใจ (Motivation)  ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะมีแรงจูงใจในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จ  ซึ่งมิใช่ใส่ใจแต่เรื่องความสำเร็จในเรื่องตัวเงินรายได้หรือผลกำไรจากการประกอบหรือการได้รับตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นเท่านั้น   แต่เป็นความรู้สึกว่าได้ทำงานแล้วประสบความสำเร็จ  รู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถใช้พลังของตนในการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์   คนที่ฉลาดทางอารมณ์จึงมีพลังเหลือเฟือในการทำงาน  มีแรงขับมากมายเพื่อให้บรรลุผล  มีทัศนคติในเชิงบวกต่อทุกสถานการณ์  กล้าที่จะเผชิญกับอนาคตทุกรูปแบบ  และมีความผูกพันกับองค์การที่ตนทำงานอยู่  มีแรงจูงใจทำงานให้เกิดผลดีที่สุดต่อองค์การ

        4.การเอาใจใส่ในผู้อื่น (Empathy)  นอกเหนือจากการรู้ถึงอารมณ์และควบคุมอารมณ์ตนเองแล้ว  คนที่ฉลาดทางอารมณ์มักจะมีท่าทีที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนรอบด้าน  รู้ถึงอารมณ์และผลกระทบทางอารมณ์ต่างๆ ที่คนอื่นๆ ได้รับ  มีความเอื้ออาทรห่วงใย  เข้าใจความแตกต่างของผู้คนว่าที่แต่ละคนคิดแต่ละคนแสดงออกนั้นมาจากเหตุผลใดเพื่อสามารถสื่อสารหรือมีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อกันได้ 

 

        นอกจากนั้น ผู้ฉลาดในอารมณ์มักมีนิสัยในการชอบบริการ ชอบช่วยเหลือ  ให้ความสำคัญต่อลูกค้าหรือผู้รับบริการ  เป็นมือหนึ่งในการดูแลเอาใจใส่ผู้อื่นอย่างจริงใจและสม่ำเสมอ

         5.ทักษะทางสังคม (Social skill)  ประเด็นนี้คงไม่ใช่เรื่องการเข้าสังคมทานข้าวทานเหล้ากับเพื่อน แต่เป็นความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับกลุ่มสังคมต่างๆ รวมถึงเครือข่ายทางสังคมที่เกี่ยวข้อง  ผู้ฉลาดทางอารมณ์จะเป็นคนรู้จักสังคม  รู้จักคบหาผู้คน  รู้จักในการใช้เลือกคนให้เกิดประโยชน์  ความสำเร็จของผู้ที่มีทักษะทางสังคม คือ ความเชี่ยวชาญในการสร้างและเป็นผู้นำทีม  ความสามารถในการชักชวนผู้คนให้มาร่วมทำงาน  และประสิทธิผลในการเป็นผู้นำการการเปลี่ยนแปลงต่างๆในองค์การ

        ความฉลาดทางอารมณ์ 3 ประการแรกข้างต้นเป็นเรื่องของทักษะการจัดการส่วนบุคคล (self-management skills) ในขณะที่ 2 ประการหลังเป็นเรื่องของความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น (manage relationships with others)  โดยโกลแมนชี้ว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ “ควรจะมี” (nice to have) แต่เป็นเรื่องที่ “จำเป็นต้องมี” (need to have)

        คนเป็นผู้นำในวันนี้ จึงมิใช่เรื่องแค่มีอำนาจในมือ ไม่ใช่เรื่องความรอบรู้ทางการจัดการที่เหนือผู้อื่น  หรือแค่สติปัญญาที่เฉียบแหลม  แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ในขั้นเทพด้วย มิฉะนั้น ความฉลาดทางปัญญาถึงขั้นอุคคฏิตัญญู หากรวมกับความอ่อนด้อยของความฉลาดทางอารมณ์ในขั้นปทปรมะ ก็อาจกลายเป็นความล้มเหลวในทุกๆ ทางได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ