ข่าว

เมืองใหม่แปดริ้ว มา โยธะกา ระอุ ทหารเรือ-ประจินต้องเคลียร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ดำเนินการกรณีชาวบ้าน "โยธะกา" ในแปดริ้ว 630 ครัวเรือน ที่ถูกกองทัพเรือขอคืนพื้นที่ จะกลายเป็น "นํ้าผึ้งหยดเดียว"

ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3404 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-29 ก.ย.2561 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

‘เมืองใหม่แปดริ้ว’ มา ‘โยธะกา’ ระอุ

‘ทหารเรือ-พล.อ.อ.ประจิน’ต้องเคลียร์

 

 

            ผมยังคงเกาะติดในเรื่องการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้มองเห็นโอกาสในการเติบโตของครัวเรือน ชุมชน เมือง ประเทศ อย่างเท่าเทียมกัน มิใช่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเห็นโอกาสทอง แต่คนในพื้นที่ยังสายตาเบลอๆ พร่ามัว

            ผมเชื่อว่า หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง กรณีชาวบ้าน “โยธะกา” ในแปดริ้ว 630 ครัวเรือน ที่ถูกกองทัพเรือขอคืนพื้นที่ จะกลายเป็น “นํ้าผึ้งหยดเดียว” ทำให้โครงการลงทุนของประเทศที่ดีมากๆ อาจมีมลทินและต้องชะงักงัน

            ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการกำหนดพัฒนาแนวทางการพัฒนาพื้นที่เป็นเมืองใหม่ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาในพื้นที่อีอีซี ที่รัฐบาลกำลังปลุกชีพการลงทุนของประเทศไทยหลายแสนล้านบาทในระยะ 5 ปีข้างหน้านั้น บริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้ปรับเปลี่ยนข้อเสนอในการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับความเป็นจริง

            ข้อเสนอเดิมกำหนดพื้นที่บริเวณรอบๆ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ ใกล้สถานีรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ขนาดพื้นที่รวม 12,500 ไร่ สามารถรองรับคนได้ 80,000-150,000 คน จะใช้เวลาพัฒนา 10-20 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Smart City” หรือเมืองอัจฉริยะ ประหยัดพลังงาน

            โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 300,000 ล้านบาท มีระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า นํ้าประปา โทรศัพท์ ระบบขนส่งมวลชน การพัฒนาที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และบริการต่างๆ เช่น โรงพยาบาล100-200 เตียง วิทยาลัย ศูนย์การค้า ฯลฯ โดยที่รัฐลงทุนเอง

            ข้อเสนอใหม่ ที่เหมาะสมกับสถานะของประเทศ คือเสนอให้เอกชนสามารถเสนอแผนการลงทุนเมืองใหม่โดยรัฐกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ และให้สิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อดึงดูดเอกชนเข้าลงทุน

            อันนี้แหละครับ ที่บอกว่าจะกลายเป็นนํ้าผึ้งหยดเดียวในเชิงมวลชน และเชิงการเมือง ชนิดที่ “มด” ล้ม “ช้าง” ได้

            แม้รัฐบาลจะยกเหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องปรับแผนใหม่เป็นเพราะหลังจากสำรวจทำเลที่ตั้งของเมืองใหม่ใน EEC ทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พบว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาที่ดินใน 3 จังหวัดปรับตัวสูงขึ้น แบบก้าวกระโดด มีการกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไร ปั่นราคาที่ดินจนพุ่งสูงขึ้นมาก

            สูงจากข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมพื้นที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ นำร่องที่ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก ปรากฏว่าราคาที่ดินพุ่งขึ้นจากเดิมไร่ละ 5-10 ล้านบาท เป็นไร่ละ 10-25 ล้านบาท หรือ ตร.ว.ละ 28,000-35,000 บาท

            นี่จึงเป็นที่มาของข้อเสนอว่า “ให้เอกชนเสนอเงื่อนไขการลงทุนเมืองใหม่”

            ขณะที่อีกฟากหนึ่งก็เริ่มมีเสียงคำรามจากคนมีสีออกมาว่า ถ้ามีปัญหามากนักก็ย้ายไปสร้างเมืองใหม่ที่ จ.ระยอง ซึ่งมีที่ดินราชพัสดุจำนวนมากให้ใช้ประโยชน์ให้รู้แล้วรู้รอดไป

            ข้อเสนอในเรื่องการจะเปิดให้เอกชนมีที่ดินในมืออยู่แล้วและต้องการจะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ ยื่นข้อเสนอโครงการมาให้รัฐบาลพิจารณาแทน โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ภาครัฐจะมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้ นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี การปรับเปลี่ยนสีผังเมืองให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ได้คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ จึงกลบเงื่อนไข “รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน” ไปเสียแทบสิ้นในขณะนี้...

            ดังนั้น หากรัฐบาล สำนักงานอีอีซี จะเดินหน้า ในเรื่องนี้จะต้องอธิบายกับประชาชนให้มากขึ้น จึงจะกลบปัญหาด้านการพัฒนา ด้านที่ดิน ด้านมวลชน เพื่อดึงเรื่องการพัฒนาเมืองใหม่ให้พ้นจากมรสุมแห่งความขัดแย้งได้

            อย่าลืมว่า ปมปัญหาที่ชาวบ้านตำบลโยธะกาได้รับหนังสือจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา ที่ กค 0311.07/ว 3534 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ลงนามโดยผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา (นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย) ยกเลิกสัญญาเช่าและการเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ และส่งมอบที่ดินคืนทหารเรือ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ วันที่ 31 ธันวาคม 2557

            ด้วยเหตุผลว่า กองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะกา เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร แต่ชาวบ้านยังคงใช้ที่ดินทำนาต่อไป ไม่มีใครส่งมอบที่ดินหรือย้ายออกไป

           ปมปัญหานี้กำลังถึงจุดเดือด ถึงขนาดที่ประชาชนคนรากหญ้า รวมพลังกันออกมาคัดค้าน และตั้งคำถามดังๆ ไปยังกองทัพเรือ รัฐบาล สำนักงานอีอีซี ว่า“เอาที่ดินไปทำอะไร จะเยียวยาเขาอย่างไร ให้เอกชนไปพัฒนาใช่มั้ย”

            อย่าลืมว่า กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนดังกล่าว เป็นรุ่นลูกหลานชาวแปดริ้วที่สืบทอดการทำนามาเป็นรุ่นที่ 3 และ 4 มีการเช่าที่นาของชาวบ้านมานานเกือบ 100 ปีแล้ว นับตั้งแต่การจ่ายค่าเช่าให้กับเจ้าที่ดินโดยมีนายกองเก็บค่าเช่า และจ่ายค่าเช่าให้กับทหารเรือภายหลังทหารเรือซื้อที่ดินมาในปี 2491 และจ่ายค่าเช่าให้กับธนารักษ์หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ราชพัสดุ ในปี 2518 ให้หน่วยงานรัฐส่งมอบที่ดินให้กับกระทรวงการคลัง

            ชาวบ้านเหล่านี้จึงเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาที่ดินมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน แต่พวกเขากำลังรู้สึกร่วมกันว่า ถูกรัฐบีบให้ออกจากพื้นที่การพัฒนาเมืองใหม่ และมีการส่งมอบพื้นที่ให้ทุนเอกชนมาลงทุน

            เรื่องแบบนี้กองทัพเรือ นับตั้งแต่เจ้ากรมไปถึง ผบ.ทร.ตลอดไปจนถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องที่ดิน 4,000 ไร่ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ จะต้องตระหนักและใส่ใจในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น..อย่าละเลย เพิกเฉย ไม่ใส่ใจ หรือมองหาตัวการ ตัวป่วน โดยเด็ดขาด

            การสื่อสารในภาวะวิกฤติจึงสำคัญมาก และเป็นหัวใจหลักในการดึงสรรพกำลังของแผ่นดินมาร่วมกันพัฒนาสร้างเมืองใหม่...มิใช่เพียงแค่มีทุนใหญ่อย่างเดียว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ