ข่าว

TOWS Matrix คิดให้ไกลจาก SWOT

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวลาเราวิเคราะห์ SWOT เราจะพิจารณาถึงจุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และภาวะคุกคาม (Threat)ที่เกิดขึ้น

Management Tools  หน้า 6 ฉบับ 3403 ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย.2561

โดย...รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร  สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

TOWS Matrix คิดให้ไกลจาก SWOT

          เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก SWOT เพราะนี่คือเครื่องมือพื้นฐานในการประเมินสถานการณ์ภายในและภายนอกองค์กร แต่หลายคนกลับไม่รู้จัก TOWS Matrix ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่ต่อเนื่องจาก SWOT

          เวลาเราวิเคราะห์ SWOT เราจะพิจารณาถึงจุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และภาวะคุกคาม (Threat)ที่เกิดขึ้น เป็นการประเมินสถานการณ์ภายในและภายนอกองค์กรให้รู้สถานการณ์ที่แท้ก่อนทำการรบ  เหมือนที่นักการทหารจีนซุนหวู่บอกไว้เมื่อ 5 พันปีก่อนว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”  แต่หลังจากการวิเคราะห์ SWOT เสร็จ หลายคนกลับงงๆ ต่อว่า  แล้วไง แล้วอย่างไรต่อ  รู้จุดแข็ง จุดอ่อน  รู้โอกาส ภัยคุกคามแล้วควรทำอย่างไรต่อไป

            TOWS Matrix จึงเป็นคำตอบ โดยจะบอกถึงกลยุทธ์ที่ต้องดำเนินการต่อจากวิเคราะห์ SWOT

            TOWS Matrix นั้น เป็นเครื่องมือบริหารที่ตั้งอยู่บนความเชื่อแบบเต๋า  โดยมีสมมติฐานว่าสิ่งที่ตรงข้ามกันกลับเป็นสิ่งเดียวกัน  แข็งและอ่อนกลับเป็นเรื่องเดียวกัน  โอกาสและภัยคุกคามก็เป็นเรื่องเดียว  เพราะแข็งคือไม่อ่อน โอกาสคือไม่เป็นภัย เมื่อเราจัดการกับสิ่งที่เป็นจุดอ่อนก็คือการเสริมสร้างจุดแข็ง และหากเราจัดการกับภัยคุกคามได้คือการสร้างโอกาสใหม่ให้เกิดขึ้น

            ด้วยความเชื่อเช่นนี้ จึงเกิดคำว่า “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส”

          เมื่อแข็งและอ่อนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ก็สามารถนำมาไว้ในแกนเดียวกันตามแนวนอน  เมื่อโอกาสและภัยคุกคามเป็นเรื่องเดียวกัน  ก็สามารถนำไปไว้ในแกนเดียวกันตามแนวตั้ง ผลที่เกิดขึ้นคือ ตารางขนาด 2 x 2  หรือตารางขนาด 4 ช่อง โดยแต่ละช่องเป็นส่วนผสมของการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกดังนี้

 

TOWS Matrix คิดให้ไกลจาก SWOT

                                                              

     สิ่งที่อยู่ภายในตารางแต่ละช่อง คือสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป 4 แบบ  เรียกจากส่วนผสมของการวิเคราะห์ว่า SO , WO, ST และ WT  ซึ่งแปลความหมายของแต่ละสถานการณ์ดังนี้

     สถานการณ์ที่ 1  SO  ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุด  คือ ภายในก็เอื้อ ภายนอกก็อวย  นั่นคือวิเคราะห์แล้วภายในองค์กรก็มีความเข้มแข็ง คนพร้อม เงินพร้อม เครื่องไม้เครื่องมือก็พร้อม  ผู้บริหารก็เก่ง ระบบงานก็ดี   เหลือบแลสถานการณ์ภายนอก  ก็เป็นผลดีเช่น  ลูกค้าก็ชอบ  คู่แข่งก็ยังอ่อนแอ  รัฐก็สนับสนุน  กองเชียร์ก็มากมาย   ถ้าเช่นนั้นจะรีรออะไร  ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้  ต้องใช้กลยุทธ์เชิงรุก ใช้จุดแข็งช่วงชิงโอกาสที่มี 

            ถ้าเป็นการเมือง เหมือนอำนาจต่างๆ ก็อยู่ในมือประชาชนก็สนับสนุน  ลงเลือกตั้งสิครับ อย่างนี้ชนะแน่

            สถานการณ์ที่ 2  WO ภายใต้สถานการณ์นี้ มีความแตกต่างจากกรณีแรก คือ ปัจจัยภายในกลับอ่อนแอ ในขณะที่ปัจจัยภายนอกยังเอื้ออำนวย เหมือนลูกค้ามีความต้องการสินค้า แต่เรายังไม่มีศักยภาพความสามารถในการผลิต หรือเหมือนเราเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่ตัวช่วยมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อรวย เพื่อนช่วย อาจารย์เสริม

            กรณีที่เป็น WO นี้  เขาว่า ต้องรู้จักใช้โอกาสมาลดจุดอ่อน เพื่อนเก่งนักก็จับมาติวหนังสือให้เรา พ่อมีสตางค์ก็เอามาใช้จ้างครูมาสอนพิเศษ  ลูกค้าต้องการสินค้า ก็ต้องรู้จักวิเคราะห์หาสิ่งที่เขาต้องการและกลับมาพัฒนาหน่วยงาน ลดจุดอ่อนที่มี ให้สามารถผลิตสินค้าตรงกับความต้องการของลูกค้าให้ได้

            กองเชียร์มีเยอะ ต้องรู้จักใช้กองเชียร์ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่มัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานตัวคนเดียว

            สถานการณ์ที่ 3  ST กรณีนี้เป็นสถานการณ์ที่พระเอกตกอยู่ในวงล้อมของเหล่าร้าย เพราะตัวเองเก่ง แต่คู่แข่งก็เยอะ คนอาฆาตมาดร้ายก็มิใช่น้อย ภายในเข้มแข็งแต่ภายนอกเป็นภัยคุกคาม สถานการณ์นี้มี 2 ทางเลือก คือ จะสู้ หรือ จะหลีก  ซึ่งหลายคนคิดผิดที่เลือกสู้  คิดว่าตัวเองเข้มแข็งพอ ประเมินตนเองสูงไป คิดว่าเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ แต่พอจริงๆแล้ว อาจไม่ชนะ หรือสู้กว่าจะชนะก็เลือดอาบ 

            ดังนั้น ทางออกที่ดีของสถานการณ์นี้  คือ ต้องใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาวะคุกคาม มีกำลังหนีไปทางไหนดีก็หนีไปทางนั้น อย่าเพิ่งไปปะทะ อย่าเพิ่งไปชน รอให้สถานการณ์อำนวย ฟ้าเปิด ค่อยกลับมาใหม่ก็คงไม่สาย

            หากเดินหน้าปะทะกับของแข็ง ก็เจ็บตัวเปล่าๆ  รู้เสียมั่ง           

     สถานการณ์ที่ 4 WT สถานการณ์นี้ออกจะเลวร้ายสุด เนื่องจากภายในก็แย่ ภายนอกก็ร้าย เข้าทำนอง ยามเจ็บไข้ได้ป่วย แถมมาตกงานเสียอีก หรือเป็นนักการเมืองก็เป็นยามที่ไม่มีอำนาจวาสนา แถมมาโดนคดีอาญาทุจริตต่างๆ 

            ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เช่นนี้ เขาบอกว่าให้รู้จักเก็บเนื้อเก็บตัว  อย่าไปชน อย่าไปปะทะ ให้รู้จักเยียวยาตนเองให้คลายจุดอ่อน และหลีกหลบภัยคุกคาม จนกว่าเมื่อใดที่ตนเข้มแข็งและสถานการณ์ภายนอกดีจึงมาปรากฏกายอีกทีหนึ่ง

            กลยุทธ์ในสถานการณ์ WT คือ การสะสมกำลัง รอคอยโอกาส  เมื่อก่อนเคยพูดมากเดี๋ยวนี้ต้องพูดให้น้อยลง ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงสมบูรณ์ อย่าเพิ่งไปสู้รบปรบมือกับใคร อะไรประมาณนั้น

            ภายใต้การวิเคราะห์ตามแบบ TOWS Matrix ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า  ในทุกสถานการณ์ที่เกิดกับตัวเรา ไม่ว่าเราจะอ่อนหรือแข็ง  ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็น โอกาสหรือภัยคุกคาม  หากเรามีวิธีการจัดการอย่างเหมาะสม  รู้จักใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้อง  ก็สามารถฟันฝ่าและได้ชัยในท้ายที่สุด

            สิ่งสำคัญคือ การประเมินต้องประเมินบนพื้นฐานของความเป็นจริง  ตรงไปตรงมา  ไม่เข้าข้างตนเอง อย่าเชื่อกองเชียร์มากเกินไป เขาบอกคะแนนนิยมดีก็เชื่อ  เขาบอกเราหน้าตาดีก็เชื่อ พอหลวมตัวลงเลือกตั้ง เอ๊ย ขยายกิจการ ก็ปรากฏว่าเจ๊ง ตอนนั้นอาจต้องมาร้องเพลง “รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ