ข่าว

จาก'มักกะสัน' ยัน'แปดริ้ว' นายทุน-ขุนศึก-ประชาชน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผมขอชี้แจงอีกครั้งนะครับว่าผมไม่มีปัญหาอะไรกับกลุ่มซีพี หรืออีอีซี ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดแม้แต่น้อยและผมไม่เคยปฏิเสธทุนนิยม หาก "ทุนนั้นมีธรรม"

ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3402 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-21 ก.ย.2561 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

จาก‘มักกะสัน’ ยัน‘แปดริ้ว’

นายทุน-ขุนศึก-ประชาชน!

ผมนำเสนอประเด็นเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ผู้ประกาศยุทธศาสตร์กินรวบโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.3 แสนล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดนโยบายให้เป็น “ประตูทองการลงทุนไทย” มาหลายระลอก

            จนเพื่อนพ้อง ตลอดจนผู้บริหารซีพี 2-3 คนทักท้วง และตั้งคำถามมาดังๆ ว่า...ผมมีปัญหาอะไรกับซีพี หรือสนง.อีอีซี หรือเปล่า ทำไมจึงโจมตีซีพี และโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มีวาระอะไรหรือเปล่า?

            ผมขอชี้แจงอีกครั้งนะครับว่าผมไม่มีปัญหาอะไรกับกลุ่มซีพี หรืออีอีซี ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดแม้แต่น้อยและผมไม่เคยปฏิเสธทุนนิยม หาก “ทุนนั้นมีธรรม”

            ผมเป็นคนหนึ่ง ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แบบสุดตัว มาตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายและริเริ่มโครงการ

            ในการสร้างเขตการลงทุนพิเศษนั้น รัฐบาลไม่สามารถเปิดพื้นที่ทั้งหมด 77 จังหวัด 321 ล้านไร่ เพื่อมอบสิทธิพิเศษด้านการลงทุนได้ทั้งหมด จะต้องมี “พื้นที่ยุทธศาสตร์หลัก” ที่ดึงดูดผู้นำเงินมาลงทุนเพื่อนำไปสู่การสร้างงาน กำลังซื้อ การกินดีอยู่ดีของผู้คนขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มี “พื้นที่พิเศษแบบนี้”

            บรรพชนคนทำข่าวบอกว่า อาชีพเรามีหน้าที่สำคัญคือ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หากเห็นนโยบายรัฐบาลดี เราจะต้องสนับสนุนทำข่าวสาร ผ่านสื่อ ให้ผู้คนในสังคมได้เห็นภาพเห็น “โอกาส” จากนโยบายรัฐ มิใช่มีแต่ “นายทุน” เท่านั้นที่เห็นโอกาส แล้วปล่อยให้คนยากจนคนพื้นที่ ไม่รู้อะไรเลย           

 

จาก'มักกะสัน' ยัน'แปดริ้ว'  นายทุน-ขุนศึก-ประชาชน!

 

ต้องบอกว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” เป็นโครงการที่ดีมากในการสร้าง “Golden Land” ของประเทศขึ้นมา

            แต่พลันเมื่อเจ้าสัวธนินท์ ออกมาบอกว่า “ผมต้องการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกับจีนและญี่ปุ่น โดยซีพี เตรียมแผนลงทุนครั้งใหญ่หลายแสนล้านบาท สร้างโครงการเมืองใหม่ที่แปดริ้ว พื้นที่ 10,000 ไร่ ให้เป็นสมาร์ทซิตี และจะสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อมายังสถานีมักกะสัน ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯใน 20 นาที”

            และเมื่อสอบทานย้อนไปแล้วพบว่าเจ้าสัวธนินท์ให้ข้อมูลในคราวไปโรดโชว์ที่กรุงปักกิ่ง-นครเซี่ยงไฮ้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ลงทุนสูงหากรัฐทำแล้วอาจจะขาดทุน จึงอยากให้ซีพีลงทุนในส่วนของรถไฟฟ้าสายตะวันออก”

            ทำให้ผม ตะลึงและมองดูไปรอบๆ ว่า ตกลงแล้วโครงการลงทุนของรัฐบาล 2.3 แสนล้านบาท ที่จะนำไปสู่การประมูลเป็นอย่างไร เมืองใหม่ที่ชาวบ้านตั้งตารออยู่ตรงไหน ทำไมเจ้าสัวธนินท์ถึงกล้าประกาศออกไปเช่นนั้น

            นี่คือต้นเหตุการสืบค้นข้อมูล แล้วผมพบอะไรครับ..พบว่า ในการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง การพัฒนาเมืองใหม่ที่แปดริ้วมีอะไรที่ไม่รู้อีกมากมาย

            พบว่า กลางปี 2557 ชาวบ้านตำบลโยธะกา อ.บางนํ้าเปรี้ยว ได้รับหนังสือจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทราที่ กค 0311.07/ว 3534 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ลงนามโดย นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ยกเลิกสัญญาเช่าและการเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และส่งมอบที่ดินคืนทหารเรือ ภายใน 30 วัน นับตั้งแตวันที่่ 31 ธันวาคม 2557 เพราะกองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะกา ในราชการทหาร แต่ชาวบ้านยังคงใช้ที่ดินทำนาต่อไป ไม่มีใครย้ายออกไป

            วันที่ 19 กันยายน 2560 กองทัพเรือทำหนังสือถึงชาวบ้านอีกครั้ง ลงนามโดย พล.ร.ท. บรรพต เกิดภู่ รองหัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ขอให้ส่งมอบคืนที่ดินให้กองทัพเรือใน 7 วัน ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สิน หากยังเพิกเฉย ทางราชการจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

             วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ชาวบ้านทำหนังสือถึง หัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาการดำเนินการฯ และรองหัวหน้า คณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ผ่อนผันการส่งมอบที่ดินคืนออกไปก่อน จนกว่าจะมีการช่วยเหลือ หรือเยียวยาเรื่องที่อยู่อาศัยและเรื่องการทำมาหากิน

            วันที่ 11 ตุลาคม 2560 ชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียน 2 ฉบับ ไปยัง 1. นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 2. ชาวบ้านทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการทหารเรือ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นหนังสือขอความเมตตาพิจารณาให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีกองทัพเรือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ส่งมอบที่ดินคืน

            วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อมูล ดังนี้ 1) จำนวนเนื้อที่ดินที่กองทัพเรือต้องการใช้ประโยชน์ 2) แผนที่ของแปลงที่ต้องการใช้ประโยชน์ 3) วัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดิน 4) เหตุผลความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ที่ดิน 5) ผลประโยชน์ที่จะตกแก่ราษฎรในพื้นที่ และ 6) มาตรการชดเชย เยียวยา ให้กับราษฎรที่ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินดังกล่าวอย่างไร

            กองทัพเรือได้มีหนังสือตอบกลับที่ กห 0506/14 ลงวันที่ 22 มกราคม 2561 โดย พล.ร.ท.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ ทำการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ ความว่า กองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้ว จึงยืนยันการยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินศูนย์เกษตรฯ โยธะกา พร้อมกับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน หากยังคงเพิกเฉย จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป           

นี่เป็นจดหมายฉบับเดียวที่ชาวบ้านได้รับการตอบกลับจากกองทัพเรือ และไม่มีคำชี้แจงถึงความจำเป็นการใช้ที่ดิน ตามที่ชาวบ้านร้องขอ

            วันที่ 20 มีนาคม 2561 ชาวบ้านทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อมูลการยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินเพื่อส่งมอบที่ดินให้สำนักงานอีอีซี แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการชี้แจงชาวบ้าน

            อะไรทำให้หน่วยงานของรัฐละเลยความเดือดร้อนของประชาชน อะไรดลใจทำให้กองทัพเรือไม่อธิบายความจำเป็นการใช้ที่ดินให้ประชาชนรับทราบ ทั้งๆที่ในเชิงของมวลชนกับการพัฒนานั้น ประชาชน...เปรียบดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็ก

            ทั้งที่ความจริงแล้วกองทัพเรือใช้ที่ดินแค่ 200 ไร่ แต่กลับเรียกคืนที่จากชาวบ้านแล้วส่งมอบพื้นที่ออกไป 4,000 ไร่ เพื่อจูงใจนายทุนมาสร้างเมืองใหม่ โดยที่ประชาชนไม่รู้...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ