ข่าว

เนรมิตเมืองใหม่ ซีพีรวบไฮสปีด-มักกะสัน-เมืองใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต้องยอมรับว่าซีพียื่นมือไปในทุกภาคธุรกิจตั้งแต่ธุรกิจเกษตร ครอบคลุมแทบครบวงจรภาคการสื่อสาร ที่ใช้ทุกทางขยับขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในภาคค้าปลีกที่เกี่ยวกับทุกชีวิต

 

 

ตามที่บทความในเฟซบุ๊กของ คุณทิฆัมพร ศรีจันทร์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ ได้เขียนถึงเรื่องราวของกลุ่มทุนที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการเนรมิตเมืองใหม่ตามแผนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีซีซี)

โดยเขียนบทความว่า

เขียนแปะข้างฝา
ซีพีรวบไฮสปีด-มักกะสัน-เมืองใหม่
-------------------
เรียกว่าเขียนแปะข้างฝากันได้เลย เมื่อเปิดซองประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกรุงเทพ-ระยอง ซีพีเข้าวินแน่ ถ้าเป็นภาษาร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เรียกว่าเปิดถ้วยแทงได้เลย

ที่เขียนอย่างนี้ ไม่ได้เกินจากความเป็นจริง หากพิเคราะห์จากน้ำคำเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ประกาศอย่างหนักแน่นในการเนรมิตเมืองใหม่ ในพื้นที่แปดริ้ว 1ใน 3 จังหวัดในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) "จะทำเมืองใหม่ให้เทียบชั้นมหานครกรุงเทพ"

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ที่ทำรถไฟฟ้าอย่างเดียว ไม่ว่าจะแลกกับสัมปทานกี่ปีก็ตามความคุ้มค่า การคืนทุนล่าช้า จำต้องพัฒนาที่ดินตามแนวสายรถไฟฟ้าอย่างครบวงจร จึงจะคุ้มค่าและเห็นผลเร็ว ที่สำคัญที่ดินที่เปรียบเหมือนขุมทองที่รอการพัฒนา เป็นที่รถไฟบริเวณมักกะสัน ที่นำไปผูกพ่วงโครงการรถไฟความเร็วสูง

เจ้าสัวผู้ร่ำรวยติดอันดับโลกก็คิดไม่หนีมุมนี้ จึงมีข่าวกว้านซื้อที่ในแนวรถไฟไฮสปีด ทั้งโดยตรงและผ่านนอมินีเกรียวกราวอย่างมากในพื้นที่

มีนายทุนวิ่งเข้าหาผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านรวมแปลงที่ดินให้ ขณะที่กลุ่มซีพี ได้ใช้นอมินี หรือ บริษัทตัวแทนทำหน้าที่รวมแปลงที่ดิน ให้ได้ตามเป้าหมายของ เจ้าสัวจำนวน 10,000 ไร่ เพื่อสร้างเมืองใหม่ ที่ดินจะถูกล็อกไว้ หากเป็นบริเวณถนนบ้านโพธิ์จะเข้าไปด้านใน สามารถขอเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นสีม่วงได้

รวมถึงการซื้อที่ดินกว่า 1,000 ไร่ ทำเลรอยต่อคร่อมระหว่าง จ.สมุทรปราการ-แปดริ้ว ซึ่งเป็นท้องนาและรอเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นพื้นที่สีม่วง

อีกทั้งยังซื้อที่ดินอีก 500-600 ไร่ บริเวณสถานีจอมเทียนพัทยา เพื่อสร้างเมืองมิกซ์ยูสและกว้านซื้อที่ดินต่อจากสถานีจอมเทียน มุ่งหน้าไปตามถนนสุขุมวิท 40 กิโลเมตรจนถึงระยองอีกด้วย

นอกจากเมืองใหม่แปดริ้วแล้ว ยังกว้านซื้อที่ดิน ต.มาบข่า จ.ระยอง 20,000 ไร่ ตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม เรียกว่าลุยจับจองเต็มพื้นที่

ล่าสุดที่ 4 พันไร่ ที่ทหารเรือใช้ทำศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยทกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา บางส่วนในพื้นที่ชาวบ้านทำนา ทำไร่ ทั้งหากินและอยู่อาศัย

ทีมเอกซเรย์พื้นที่เจ้าสัวรู้ก่อนใคร อาจเป็นด้วยเหตุบังเอิญ เมื่อศูนย์แห่งนี้มีความร่วมมือกับเครือซีพีต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 และทัพเรือไปร่วมงาน“เจียไต๋แฟร์”เห็นว่าเมล่อนเป็นพืชที่มีรสชาติอร่อย ผู้บริหารระดับสูงทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงพูดคุยกันถึงโครงการเมล่อน เพื่อเข้าไปสนับสนุนกิจการเกษตรของกองทัพเรือ

ที่ดินแปลงนี้จึงถูกคืนไปเป็นที่ราชพัสดุ ในการกำกับดูแลของธนารักษ์ เพื่อนำไปเนรมิตเมืองใหม่อีอีซี โดยชาวนาชาวไร่ต้องหลีกทางทำมาหากินและไม่ทราบชะตากรรมพวกเขาเหล่านั้น

ซีพีจับจองรถไฟสายนี้โดยมีการเตรียมการมานาน แต่หวาดหวั่นขวัญผวา จึงใช้บริษัทลูกควักเศษเงินไปจ้างบริษัทพีอาร์มือฉมัง มาดูแลด้านภาพลักษณ์และวางแนวทางประชาสัมพันธ์ ถึงการลงทุนการเนรมิตเมืองใหม่ คุณภาพชีวิตที่ไฉไล คนมีงานทำ มักถูกหล่นออกมาเป็นวาทกรรมอยู่เนืองๆ

จำเป็นต้องดูแลด้านภาพลักษณ์อย่างดีที่สุด เพราะหวั่นเกรงข้อครหา กินรวบ หรือผูกขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เข็ดขยาดอย่างที่สุด เพราะภาพปัจจุบันหมิ่นเหม่และหวือหวาที่จะถูกชักนำให้คิดเช่นนั้น หรือมีคนจำนวนมาก ที่พร้อมจะคิดเช่นนั้นอยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอให้ได้รถไฟความเร็วสูงในกำมือ

ต้องยอมรับว่าซีพียื่นมืออันยืดยาวไปในทุกภาคธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจเกษตร ครอบคลุมแทบครบวงจร ภาคการสื่อสาร ที่ใช้ทุกทางขยับขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในภาคค้าปลีกที่เกี่ยวพันกับแทบทุกชีวิตในประเทศนี้ ต้องใช้บริการธุรกิจในเครือนี้

ต้องยอมรับว่าทั้งอำนาจและบารมี ทั้งส่วนตัวและองค์กร ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งไปในทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและข้าราชการ ในด้านการเมืองสามารถพูดคุยเจรจาได้อย่างสนิทสนมในทุกขุมกำลัง 
ในด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ขยับตัวเมื่อไหร่ ชี้นำตลาดได้อย่างไร้ปัญหา

ติดตามดูให้ดีๆ ชื่อที่แปะข้างฝาไว้อีกไม่นาน .....!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ