ข่าว

สายการบินคนไทย ปรับตัวช้า มีสิทธิ์สูญพันธุ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ท่ามกลางข้อกังขาของคนในการบินไทยที่ว่าทั้งนกแอร์ ไทยสมายล์ ขาดทุนบักโกรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดให้การบินไทยลงเหวไปด้วย ตรงนี้น่าจะมีความชัดเจนจากรัฐบาล

ฐานโซไซตี ฉบับ 3400 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ย.2561 โดย...พริกกะเหรี่ยง

สายการบินคนไทย ปรับตัวช้า มีสิทธิ์สูญพันธุ์

              ดูจะออกตัวช้า แต่ก็เอาเป็นว่าเพราะได้ทั้งประธานบอร์ดคนใหม่และดีดีใหม่ ครบ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” เลยกลับไปเยี่ยมการบินไทย เป็นรอบที่ 2 โดยออกตัวว่าไปมอบนโยบายและติดตามแผนฟื้นฟู ซึ่งตอนหนึ่งรมช.คมนาคมได้ยกตัวอย่างการช่วยเหลือทีมหมูป่า ว่าต้องร่วมมือกันทั้งภายในและภายนอกเป็น“United as One” เหมือนจะบอกว่าการบินไทยก็ต้องอาศัยหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกเข้ามาช่วยกัน เพื่อให้สายการบินแห่งชาติผงาดได้อีกครั้ง

              ท่ามกลางข้อกังขาของคนในการบินไทยที่ว่าทั้งนกแอร์ ไทยสมายล์ ขาดทุนบักโกรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ฉุดให้การบินไทยลงเหวไปด้วย ตรงนี้น่าจะมีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ไม่ใช่โยนให้บอร์ดไปตัดสินฝ่ายเดียว เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด สะสมมานานและดูท่าทั้ง 2 สายการบินแทบไม่มีทาง “โงหัว”หากนกแอร์เพิ่มทุน ไม่พ้นการบินไทยก็ต้องกระเป๋าฉีกอีก และยิ่งทิ้งไว้นานวันก็ยิ่งแก้ไขยาก ท่ามกลางปัจจัย“เสี่ยง”เกิดขึ้นทุกวัน ทั้งความผันผวนของราคานํ้ามัน ค่าเงินและยังมีเรื่องเครื่องบินเข้ามาเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นปัจจัยเหนือการควบคุม

 

              การรวมตัวของ “ไทยกรุ๊ป” การบินไทย นกแอร์  ไทยสมายล์ จะไปทางไหน ต้องมีความชัดเจนได้แล้ว เรื่องนี้พูดกันมาเป็นปี แต่ในทางปฏิบัติ  ไม่มีอะไรคืบหน้า ยิ่งตั้งหลักช้าก็มีแต่จะเสียเปรียบ เวลานี้ สายการบินโลว์คอสต์ต่างชาติ เข้ามาเปิดศึก ชิงน่านฟ้า ฟาดฟันราคาและเส้นทางบินกันกระหึ่ม เหมือนเป็นแผน รุมสกรัม สายการบินของคนไทยก่อนกินรวบตลาด ทั้งไลอ้อนแอร์ เวียตเจ็ทแอร์ไลน์ส แอร์เอเชีย พร้อมทั้งเงินทุน ฝูงบิน สั่งเครื่องบินทีละเป็น 100 ลำ ชิงความได้เปรียบทุกทาง หากไม่ทำอะไรอย่างจริงจัง สายการบินของไทยมีสิทธิ์ สูญพันธุ์ในไม่ช้า ไม่ได้พูดแค่ไทยกรุ๊ป แต่รวมสายการบินของคนไทยทั้งหมด ฉะนั้นหมดเวลาฮันนีมูนแล้ว

              ดีดีป้ายแดง “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” แม้บอกว่าขอเวลา 1 เดือนถึงจะให้สัมภาษณ์ แต่เจอสื่อก็คงปฏิเสธยาก 2 งานที่ผ่านมา จึงไม่ปฏิเสธการสัมภาษณ์สื่อ แต่ขอต๊ะ เรื่อง “วิชัน” เอาไว้ก่อน ถ้าถามว่าระหว่าง เครื่องบินกับตึก จะเลือกอะไร แน่นอนก็ต้องเลือกเครื่องบิน เพราะเอาไปทำมาหากินได้ หารายได้ได้ แต่สิ่งที่ดีดีใหม่พูดไว้น่าคิด คือธุรกิจการบินทุกวันแข่งขันทุกรูปแบบ “ไม่มีบุญเก่า”ฟังแล้วทำให้ฉุกคิดถึงแผนซื้อเครื่องบินใหม่ที่ขณะนี้ยังฝุ่นตลบ เครื่องบินเก่าก็จ่อปลดระวาง เพราะเก่าเกินจะใช้งาน แล้วการบินไทยจะเอาอะไรไปสู้กับคู่แข่งน่าคิด  

              ช่วงนี้นอกจากบิ๊กทุนจะช่วงชิง พื้นที่ “อีอีซี” รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน ซึ่งเอกชนที่ซื้อซองไปแล้วกำลังขะมักเขม้น เตรียมการ ยื่นประมูลในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ อีกโครงการที่คึกคักไม่เบา ก็คือการเปิดให้เอกชนร่วมทุนแบบ PPP พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา “คณิศ แสงสุพรรณ” บอกว่า“ทีโออาร์” จะคลอดราวเดือนตุลาคมนี้ เป็นการเปิดประมูลแบบนานาชาติ

              โครงการนี้เดินหน้ามาถึงเตรียมทำมาร์เก็ตซาวด์ครั้งที่ 3 ในเดือนกันยายนนี้ เลขาธิการอีอีซี “คณิศ” จึงมั่นอกมั่นใจว่าจะฮอตไม่แพ้ บิ๊กทุนไทย-เทศ 31 รายที่ซื้อซองประมูล ชิงรถไฟความเร็วสูง 2 แสนล้านบาท อีกทั้งระยะ 5-10 ปี ยังจะมีการพัฒนาเมืองรอบๆ 30 กิโลเมตร จากอู่ตะเภาเป็น “มหานครการบิน” ซึ่งจ่อเซ็นเอ็มโอยูกับเมือง “เจิ้งโจว”ของจีนอีกเดือน สองเดือนนี้ หลับตานึกภาพตาม โครงการเหล่านี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยได้จริงๆ โดยมีเพียงเงื่อนไขเดียวคือทุกอย่างทำได้ตามแผนที่วางไว้           

  การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารัฐบาล “ลุงตู่” จึงให้ความสำคัญมากถึงมากที่สุดที่จะทำคลอด ปูทางให้รัฐบาลใหม่ มาสานต่อ เพื่อไม่ให้ตกหลุมอากาศ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล”  จึงมั่นใจว่า อย่างไรเสีย ก็ต้องผลักดันให้ “ตั้งไข่” ก่อนการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าแน่นอน ช่วงนี้รัฐบาลจึงเดินสาย โรดโชว์ตีปี๊บในและต่างประเทศคิวไม่ว่างเว้น ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลายที่ขยับแผนรับมือกันคึกคัก

              ยึดหัวหาดเปิดตัวห้างหรูแห่งใหม่ใจกลางเมือง “เซ็นทรัลภูเก็ต” เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปลุกท่องเที่ยวเมืองไข่มุกอันดามันให้เป็น “ควอลิตี เดสติเนชัน” แล้ว ยังทำให้ราคาที่ดินทั่วเกาะขยับขึ้นตาม จากการปักหมุดแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ปั้นภูเก็ตเทียบชั้นราชประสงค์โดยเป้าหมายดึงดูด ทั้งกลุ่มมิลเลนเนียลอาเซียน-ไฮเอนด์ยุโรป-เวิลด์คลาสไมซ์ เพราะเท่ากับเป็นการยกแบรนด์หรูจาก เซ็นทรัลเอ็มบาสซี+ชิดลม และเซ็นทรัลเวิลด์ไปปักหมุดที่ภูเก็ต

              รองแม่ทัพซีพีเอ็น “วัลยา จิราธิวัฒน์” คาดจะทำเงินสะพัดปีละ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มยอดค่าใช้จ่ายต่อทริปนักท่องเที่ยวจาก 4-5 พันบาทเป็น 8 พันบาทและหมื่นบาท มีความเป็นไปได้สูงหากโครงการ 2 หมื่นล้านบาทนี้เสร็จสมบูรณ์ ยิ่ง “รฟม.” จ่อเสนอรัฐบาลสร้างระบบขนส่งภูเก็ต ก็น่าจะช่วยเสริมศักยภาพอีกทางหนึ่งแถมเซ็นทรัลยังมีดีที่จะอาศัยเครือข่ายศูนย์การค้าที่ยุโรปเป็นแรงหนุนอีกทางและยังมี “กิมมิก” ประมาณว่าช็อปครบ 1 แสนบาทเตรียมอันเชิญนั่ง“ลีมูซีน”หรูส่งถึงที่พัก เอาใจขาช็อปขนาดนี้น่าจะสะพัดเกินเป้า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ