ข่าว

ปรากฏการณ์'อนุทิน-ซิโน-ไทย' ไฉนโหมโรง...โจมตีอีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขณะที่บรรยากาศการชิงเค้กก้อนโตกำลังคึกคักนั้น ลิเกฉากหนึ่งก็บังเกิดขึ้น เมื่อ "2-3 เจ้าสัว" ต่อรอง ตกลงกันไม่ได้ ในเรื่องการถือครองหุ้นรถไฟฟ้า

ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3400 หน้า 6 ระหว่างวันที่  13-15 ก.ย.2561 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

 

            ผมเป็นคนชอบดูการเล่นประเภท “โหมโรง” ก่อนการแสดงจริงจะบังเกิดมาตั้งแต่เด็ก เพราะมันสนุก ถึงลูกถึงคนเร้าใจดี ก่อนลิเกจะเริ่ม ก็มักมีการ “โหมโรง” ด้วยดนตรีที่มีท่วงทำนองคึกคัก มีตัวตลกมาเรียกแขก ดึงคน

            ก่อนที่มโนราห์ หนังตะลุง จะออก “รูปหน้าบท” ศิรวาทบรมครู ดนตรี ปี่ ฉิ่งฉับ กลับ ฆ้อง กลอง โหม่ง จะอึกทึกครึกโครมให้ผู้คนต้องทิ้งการงาน เร่งเท้ามานั่งเฝ้าหน้าเวที

            ก่อนการเลือกตั้งจะบังเกิด ในทางการเมืองก็มักจะมีเรื่องมันๆ ของบรรดา “นักการเมือง-นักกินเมือง” ให้กล่าวขาน ขบคิด ตลอดจนขบขันกันทั้งเมืองอยู่เป็นเนืองนิตย์

            เห็นมั้ยละครับว่า การเฝ้าชมดนตรี มโนราห์ ลิเก การเมือง ในช่วงโหมโรงก่อนการแสดงจริงนั้น มันช่างระทึกในฤทัยคนแค่ไหน

            ในทาง “การข่าว” ผมอาจจะไม่เชี่ยวชาญในกลเกม “ทางการเมือง” เท่ากับบรรดานักข่าวการเมืองที่เชี่ยวกรากในสนามรัฐสภาไทย แต่ในเรื่อง กล-เกม “เศรษฐกิจการเมือง” แล้วละก็ ผมก็ไม่แพ้ใครในสนามข่าวแน่...

 

            วันนี้ผมพามาดูการโหมโรงของลิเกคนละเรื่องแต่ผลประโยชน์เดียวกัน ที่ท่านทั้งหลายจะต้องซี้ดปาก อึ้ง ทึ่ง เสียว

            ฉากแรกเริ่มต้นที่...ผลสรุปการเปิดซื้อซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 2.3 แสนล้านบาท มีผู้ซื้อซองประมูลรวม 31 ราย เป็นบริษัทไทย16 ราย สาธารณรัฐประชาชนจีน 7 ราย ญี่ปุ่น 3 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย อิตาลี 1 รายและมาเลเซีย 2 ราย

            ขาใหญ่ในไทยที่สนใจประมูลต้องบอกว่ามากหน้าหลายตา บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งฯ ของเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ บริษัท กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ ของเจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ฯ อันนี้มาในนามของเครือ ปตท.

            บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นฯ ของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) บริษัท ช.การช่างฯ ของเจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์ และ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด ของเจ้าสัวประชัย เลี่ยวไพรัตน์

            ขณะที่บรรยากาศการชิงเค้กก้อนโตกำลังคึกคักนั้น ลิเกฉากหนึ่งก็บังเกิดขึ้น เมื่อ “2-3 เจ้าสัว” ต่อรอง ตกลงกันไม่ได้ ในเรื่องการถือครองหุ้นรถไฟฟ้า จึงเกิดการบีบบังคับให้ “รัฐวิสาหกิจไทย” สลับขั้ว สลายค่าย “เจ้าสัว” จะได้งานคล่องคอโดยไม่มีตัวแปรใดมาขวาง และนั่นหมายถึงการตัดทิ้ง “พันธมิตรเดิมที่เคยสัญญากันไว้”

            ไม่รู้ว่าใครจะตัดใคร แต่มีเรื่องราวการเข้า “เตะสกัด” ที่หนักหน่วงเลื่องลือ ล่องลอยอยู่ตาม อีลิท คลับ ที่กินดื่มของเศรษฐีเมืองไทยว่า กำลังมีการจัดระเบียบการประมูลงานใหญ่ในอีอีซี การวิ่งเต้นก่อนการเปิดมูลเดือนพฤศจิกายนนี้ จึงฝุ่นตลบอบอวล

            1 กันยายน 2561 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์ เฟซบุ๊กตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความคุ้มค่าการใช้งบประมาณมหาศาลสร้างรถไฟความเร็วสูง และโครงการ อีอีซี ว่า ไม่ได้ปฏิเสธการสร้างรถไฟความเร็วสูงและโครงการอีอีซี แต่ต้องการนำเม็ดเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้คนรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง มีการศึกษาที่ดีขึ้น เป็นรากฐานและกำลังการผลิตที่สำคัญของชาติ เมื่อคนเข้มแข็ง ชาติเข้มแข็ง จากนั้น จึงค่อยพัฒนาต่อยอดในส่วนอื่นต่อไป

            “ไม่ใช่ผมจะไม่ทำรถไฟความเร็วสูงหรือยุบอีอีซี แต่ผมต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยรวมก่อน ประเทศไทยป่วยมานาน เพิ่งออกจากห้องไอซียู ก็ควรจะค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพด้วยการทำกายภาพบำบัดให้ทรงตัวได้มั่นคงก่อน จากนั้น ก็เริ่มเดินให้เร็วขึ้นแล้วจึงวิ่ง ไม่ใช่ออกมาแล้ววิ่งเลย แล้วก็ต้องล้มอีก เที่ยวนี้อาจไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาอีกก็ได้...

            ผมถามว่า รถไฟความเร็วสูง ใครจะเป็นผู้โดยสาร ในเมื่อคนชนบทส่วนใหญ่มีรายได้จากภาคเกษตรที่ไม่แน่นอน บางช่วงผลผลิตราคาตกตํ่า ขอให้ผมไปหาผู้โดยสารมาให้ก่อนจะดีหรือไม่

            ผมถามว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน กทม. อีกหลายเส้นทาง ทั้งที่ตอนนี้การจราจรใน กทม.ติดไปทุกเส้นทาง ยังไม่พออีกหรือ ผมไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาประเทศ

            แต่ผมเห็นว่าโครงการ อีอีซีมีบุคลากรในเทคโนโลยีชั้นสูงหรือยัง เราควรจะนำเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท มาพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศ ให้มีความพร้อมก่อนจะดีกว่าหรือไม่ ลูกหลานเป็นหนี้ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวออกจากรั้วสถาบันการศึกษา จำนวนหลายล้านคน เป็นเงินหลายแสนล้านบาท กำลังทยอยไปสู่กระบวนการทางกฎหมายฟ้องร้องบังคับคดี ถูกหักเงินเดือน ถูกยึดที่ทำกิน ถูกยึดรถ ยึดบ้าน ขายทอดตลาด           

ผมจึงเห็นว่าเราควรต้องกลับมาจัดลำดับความสำคัญ ในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศเสียใหม่” นายอนุทิน ระบุ

            เป็นวาทะของนักการเมืองชั้นดี ที่น่าสนใจ ต่อมา อนุทิน ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการอีอีซี ในวันที่ 9 กันยายน 2561 อีกว่า ไม่เคยคัดค้านอีอีซี เพราะถือว่าเป็นการดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาในประเทศไทย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแน่นอน แต่สิ่งที่อยากแนะนำคือในเมื่อกฎระเบียบ ในอีอีซีเอื้อให้เกิดการลงทุน ทั้งการปรับระยะเวลาการอนุมัติทั้งหลาย ที่ต้องจบภายใน 120 วัน กฎบีโอไอ ก็ควรจะนำกฎเกณฑ์นี้ไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น เพื่อให้เกิดความน่าลงทุนอย่างเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญออกนอกเมืองใหญ่

            ดูดี มีสาระ ฝากอนาคตได้ใช่มั้ยครับ แต่นักการเมืองนี่เขาว่า ปากคอเชื่อถือไม่ได้ เข้าข่าย มือถือสากปากถือศีล หาไม่ก็ประเภท ปากปราศรัยนํ้าใจเชือดคอ

            ผมติดตามอ่านเรื่องนี้ด้วยความมึนงง สงสัยว่า ถ้าคุณอนุทินไม่เห็นด้วยกับโครงการอีอีซี ที่เป็น 1 ในยุทธศาสตร์ไทยที่จะดึงการค้า การลงทุน การพัฒนาประเทศไทยไปอีกก้าวหนึ่งในอนาคต แล้วคุณอนุทิน ในฐานะเจ้าของตัวจริงเสียงจริงในบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่นฯ ให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ ไปซื้อซองประมูลโครงการนี้ทำไมกัน

            ใช่เพราะโครงการนี้ สามารถทำเงิน ทำกำไรในทางธุรกิจหรือไม่

            ใช่เพราะเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับอีอีซี หรือไม่

            ใช่ว่า กลุ่มซิโน-ไทย กำลังถูกตัดออกจากสารบบกลุ่มที่จะเข้าประมูลรถไฟฟ้า 2.3 แสนล้านบาทหรือไม่ครับ

            คนที่ทำธุรกิจผิดกับหลักการแบบนี้ ใช่ ปากปราศรัย นํ้าใจเชือดคอ หรือเปล่าครับ...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ