ประชาสัมพันธ์

กฟผ.-ตลท.ดันตลาดกลาง หนุนซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฟผ.-ตลท.ดันตลาดกลาง หนุนซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน

 


 
          กฟผ.เล็งเซ็นเอ็มโอยู ตลท.ศึกษาตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน หนุนคนไทยใช้ไฟฟ้าราคาถูก นักลงทุนได้ผลกำไรปตท.ชี้แนวโน้มยอดใช้รถยนต์ไฟฟ้าพุ่ง หนุนธุรกิจแบตเตอรี สบพน.คาด 2 ปี ราคาน้ำมันทรงตัว 60-70 ดอลลาร์ นักวิชาการ ห่วงพึ่งพาไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ฉุดความมั่นคงไฟฟ้า


          เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายในงานสัมมนา Energy Disruption : พลังงานไทยยุค...ดิสรัปชั่น มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชน ถึงทิศทางพลังงานในอนาคตกับการเสวนาหัวข้อ “จับตาสถานการณ์พลังงานไทย” 

 

 

          โดย นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากผลกระทบภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รวดเร็ว รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทุกฝ่ายต่างโทษมาที่อุตสาหกรรมพลังงานเป็นหลัก 


          ดังนั้นจึงมีการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานอย่างเต็มที่เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเทคโยโลยีด้านไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นได้ดิสรัปชั่นด้านการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจากเดิม กฟผ.จะเน้นตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะหมดความสำคัญลงเปลี่ยนมาเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กที่กระจายไปทุกพื้นที่แทน เปลี่ยนจากการใช้สายส่งขนาดใหญ่ไปสู่การเป็นสมาร์ทกริดแทน ดังนั้น กฟผ. จึงต้องวางแนวทางในการปรับตัวไปสู่ทิศทางดังกล่าวอย่างไร


          หนุนสมาร์ทกริดขายไฟอาเซียน
          ทั้งนี้ แผนพีดีพี 2019 ได้ปรับแผนการพัฒนาไฟฟ้าไปสู่การเป็นการส่งและเชื่อมต่อข้อมูลพลังงานให้ทันสมัย ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะทำระบบไฟฟ้าให้เชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าในปัจจุบัน รวมทั้งขณะนี้ไทยมีกำลังสำรองไฟฟ้าเหลือถึง 35% ส่วนลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไทยไปซื้อมาใช้ก็จะยิ่งมีปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็มีแนวทางสนับสนุนนโยบายรัฐบางจัดทำเชื่อมโยงระบบกริดเพื่อซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ นำไฟฟ้าส่วนเหลือของลาวส่งผ่านไทยไปขายเมียนมา กัมพูชาและมาเลเซีย 


          รวมทั้งการมีบุคคลที่ 3 ในระบบส่ง และเปิดเสรีไฟฟ้าภายใต้ระบบที่เป็นสากล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับภูมิภาคนี้ ถ้าเราเอาไฟจากประเทศไทยไปขายต่างประเทศได้ คนไทยก็จะได้ใช้ไฟราคาถูกลง นักลงทุนไทยก็จะได้ประโยชน์จากเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ด้วย

 



          “กฟผ. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะลงนามเอ็มโอยูร่วมกันศึกษาและเตรียมความพร้อมในการทำตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค เหมือนในยุโรปที่มีตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งจะสามารถรองรับการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าของอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องดังกล่าวภายในปีนี้”


          นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจสตาร์ทอัพด้านไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นระบบการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลขนาดเล็กๆ แล้วนำไฟฟ้ามาแปลงเป็นไฮโดรเจน เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงไม่มีแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีสตาร์ทอัพใหม่เข้ามาผลิตอุปกรณ์อีกเป็นจำนวนมาก 


          รวมทั้งวันที่ 11 ส.ค.นี้ กฟผ.จะลงนามกับบ้านผีเสื้อซึ่งเป็นโครงการที่นำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด มาพัฒนาในการสร้างบ้านพักอาศัย โดยใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และระบบผลิตไฮโดรเจนควบคู่กันกรณีที่ไม่มีแสงแดด

 

          “ในอนาคตคาดว่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะไม่เพิ่มและมีแนวโน้มลดลง จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงด้วย พลังงานทดแทนมีแนวโน้มราคาถูกลงต่อเนื่อง”

 

 

          ปี 2024 ราคารถไฟฟ้าเท่ารถยนต์
          นายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานโลกในขณะนี้ ก๊าซธรรมชาติเข้ามาเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น จากเดิมที่พึ่งพาถ่านหินเป็นหลัก และพลังงานหมุนเวียนจะใช้มากขึ้น โดยพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนถึง 60% ของการผลิตไฟฟ้าในปี ค.ศ.2030


          โดยเทคโนโลยีหลักที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบ ได้แก่ ราคาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมจะถูกลงและจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญ รวมทั้งราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลงจนทำให้มีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคาดว่ากลางทศวรรษหน้าราคารถยนต์ไฟฟ้าราคารถยนต์ไฟฟ้าจะเท่ากับราคารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้คาดว่าภายในปี ค.ศ.2024 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก


          ปตท.เร่งศึกษาพลังงานใหม่
          ดังนั้น ปตท.เตรียมศึกษาพื้นที่ผ่อนปรนทดสอบระบบเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ , ระบบสมาร์ทซิตี้ เทคโนโลยีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ วิจัยในเรื่องดิจิทัลแพลงฟอร์ม อิเล็กทริกซิตี้ การลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ไฟฟ้า เช่น การลงทุนในเหมืองแร่ลิเทียม การผลิตแบตเตอรี่ครบวงจร เอนเนอยี่สตอร์เรจ โครงสร้างพื้นฐานรองรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการสนับสนุนธุรกิจให้นำระบบเอไอ และหุ่นยนต์เข้ามาใช้ และลงทุนในสตาร์ทอัพระดับโลกในการผลิตพลังงานรูปแบบใหม่ นำรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาทดลองใช้ในไทย


          “โลกดิสรัปชั่น ปตท. ก็ต้องปรับตัว โดยปั้มน้ำมันของ ปตท. ก็ได้ปรับรูปแบบไปมากจนเป็นสถานีที่มากกว่าการขายน้ำมันไปสู่เป็นแหล่งกิจกรรมต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารฟาสฟู้ด ปรับรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับความต้องการของคนยุคปัจจุบัน”


          ส่วนการสร้างความมั่นคงทางพลังงานนั้น จะลดการพึ่งพาแหล่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย และในเมียนมา ที่มีจำนวนจำหัด ไปสู่การลงทุนคลังก๊าซแอลเอ็นจี (ก๊าซธรรมชาติแหลว) โดยล่าสุดได้ประมูลโครงท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 จัดทำคลังแอลเอ็นจีรองรับความต้องการในอนาคต ขณะที่ราคาน้ำมันจะทรงตัวที่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาก๊าซธรรมชาติจะลดลง ไม่รวมปัจจัยเฉพาะหน้า เช่น สถานการณ์ตะวันออกกลาง
 

          ราคาน้ำมันยืน60-70ดอลลาร์
          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพน.ราคาน้ำมันในตลาดจะขึ้นกับดีมานความต้องการของโลกที่ขึ้นกับการเติบโตของ จีดีพี โลก โดยล่าสุดหลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการจีดีพี โลกลง เติบโตต่ำกว่า 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีหน้าจะสูงกว่าปีนี้ไม่มากนัก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่เพิ่มขึ้นมากนัก 


          โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ยืดเยื้อทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่มาก ส่วนด้านซัพพลายกลุ่มหลักๆ คือ โอเปค ที่ส่งออกน้ำมันประมาณ 3 – 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังมีการผลิตน้ำมันจากแหล่งเชลล์ออยล์จากสหรัฐเพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันไม่ให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ซัพพลายน้ำมันโลกล้นตลาดอยู่พอสมควร ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะยืนในระดับนี้ได้อีก 1-2 ปี ทำให้ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันโลกไม่น่าห่วง

 

          ห่วงพึ่งโซลาเซลล์เสี่ยงมั่นคงไฟฟ้า
          รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในแผนพีดี 2018 ได้ปรับเปลี่ยนลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามาใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้ยาก ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ รวมทั้งยังได้ปรับเปลี่ยนจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอ่างไทย และเมียนมา มาเป็นแอลเอ็นจี เพราะราคาแอลเอ็นจีไม่แพงเหมือนในอดีต รวมทั้งได้ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 35% ของการใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด


          ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะลดลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่มีข้อจำกัดที่ผลิตไฟฟ้าได้มากเฉพาะช่วงกลางวัน และในช่วงกลางคืนจะลดลงหากไม่มีเทคโนโลยีใหม่เข้าช่วย ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงให้กับการผลิตไฟฟ้าของไทย ซึ่งจากการคำนวณพบว่าปี 2571 ปริมาณไฟฟ้าจะเริ่มไม่พอในช่วงกลางคืน ปริมาณสำรองลดเหลือเพียง 7% หากมีโรงไฟฟ้าขัดข้องก็จะมีความเสี่ยงต่อไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างเพิ่มขึ้น


          อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากระทรวงพลังงานได้เตรียมรับมือเหตุการณ์ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าไว้แล้ว เพราะในอนาคตเทคโนโลยีจะปรับเปลี่ยนเร็วมาก จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งคาดว่าเทคโนโลยีเอนเนอยี่สตอเรจจะดีขึ้นและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจ่ายไฟฟ้าในช่วงกลางคืนได้
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ