ประชาสัมพันธ์

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

SACICT ชูภูมิปัญญาพัฒนาไอเดีย รูปแบบการนำเสนอแปลกใหม่ นำหัตถศิลป์ไทยสู่สายตาชาวโลก ในงาน "Revelations 2019" ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

               งานหัตถศิลป์ไทย ภายใต้การส่งเสริมและดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT นำภูมิปัญญามาพัฒนาไอเดีย รูปแบบการนำเสนอแปลกใหม่

 

               เป็นงานอาร์ตร่วมสมัยที่ทรงพลังและน่าทึ่ง เป็นศาสตร์และศิลป์ที่รสกลมกล่อม ไปรู้จักกับผลงานหัตถศิลป์ไทยที่ถูกนำเสนอสู่สายตาชาวโลก ในงาน “Revelations 2019” ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อาทิ

 

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

 

งานหัตถศิลป์ดั้งเดิม ประเภทงานผ้า ได้แก่ 


               1.ผ้ามัดหมี่ลายไก่

               อายุราว 80 ปี ได้จากพื้นที่อีสานตอนเหนือ ขนาด 70 × 100 cm ผ้ามัดหมี่เป็นงานหัตถกรรมที่เป็นรู้จักกันดีในภาคอีสานของไทย ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน จัดเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา สำหรับผ้ามัดหมี่ผืนนี้เป็นผ้ามัดหมี่ลายรูปสัตว์ที่เป็นที่นิยมทั่วไปในภาคอีสานตอนเหนือ มีความสนใจในแง่การใช้สีที่แม้จะเป็นสีเคมี แต่มีความงดงามละมุนตา และที่สำคัญคือมีการมัดย้อมเส้นไหมเป็นลวดลายที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง

 

               2.ผ้าไหมกาบบัวลายไก่ ลายมัดหมี่

               คั่นเส้นพุ่งพิเศษ จกลายดาวทั้งผืน จังหวัดอุบลราชธานี ขนาด 90 × 100 cm โดย นายมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2559 ผ้ามัดหมี่แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดพัฒนาด้านลวดลายในงานผลิตไหมมัดหมี่ไทยยังคงรูปแบบและแนวทางดั้งเดิมไว้ แต่มีการปรับตำแหน่งจัดวางลายให้มีความน่าสนใจ และสอดแทรกเทคนิคการทอพิเศษเข้าไว้ในผืนเดียวกัน จัดเป็นงานสร้างสรรค์ในแนวประเพณีที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

 

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

 

               3.ผ้าปูม ลายเทพพนม สร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากโครงสร้างของผ้าปูมโบราณ แต่ประยุกต์ใช้ลวดลายผ้าลายอย่าง ย้อมเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติทั้งกระบวนการ จังหวัดสุรินทร์ ขนาด 368 x 100 cm โดย นายสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2559 ลวดลายผ้าหลายอย่างแบบโบราณนั้นเกิดจากการย้อมกันสี ซึ่งต้องใช้การเขียนเทียนเป็นเส้นบนผ้าฝ้าย แต่ผ้าไหมผืนนี้เกิดจากเทคนิคการมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ ด้วยทักษะความชำนาญของช่างหัตถกรรมอีสานใต้ จึงเกิดเป็นผ้าที่ดูเหมือนผ้าโบราณที่ฟื้นฟูทั้งกระบวนการย้อม และภูมิปัญญาในการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติในการผลิตในเวลาเดียวกัน

 

               นอกจากนี้ยังมีผลงานหัตถศิลป์ที่ถูกพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรม แรงบันดาลใจและจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัด อาทิ 

 

               4.ผลงาน “บัว” 

               แรงบันดาลใจ : ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากการนำบาตร ปัจจุบันในการผลิตบาตรใช้วิธีทางอุตสาหกรรมทั้งสิ้น เหลือเพียงชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงทำด้วยมือตามแบบอย่างโบราณ คือที่ชุมชนบ้านบาตร กรุงเทพฯ โดยเอกลักษณ์ของบาตรพระฝีมือของชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้คือรอยตะเข็บ 8 ชิ้นจางๆ ที่ปรากฏอยู่รอบบาตร มาจากพุทธประวัติ เป็นธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บเปรียบประหนึ่งการประสานบาตรของพระพุทธเจ้า

 

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

 

               ซึ่งศิลปินนำบาตรบุเป็นงานหัตถกรรมที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สะท้อนถึงจิตวิญญาณและ แรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา มาตีความใหม่โดยยังคงคุณค่าของความประณีตเป็นเอกลักษณ์ของเทคนิคการขึ้นมือ เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างใหม่ตามจินตนาการโดยลดทอนความไม่จำเป็นลง ยังคงทิ้งร่องรอยของบาตรแปดตะเข็บอันเป็นเอกลักษณ์ไว้

 

               ส่วนการทำสีใช้สีเทอร์โมโครมิก (Thermochromics) ร่วมกับผิววัสดุแบบดั้งเดิม โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิด จากทำสีเพื่อคงสภาพ เปลี่ยนเป็นเน้นการเปลี่ยนสภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แปลกใหม่ เป็นการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมในเทคนิคใหม่ได้สอดประสานเข้ากับวิถีของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้เรื่องราวและแรงศรัทธาถูกบอกเล่าออกไปในมิติใหม่อย่างสร้างสรรค์

 

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

 

               5.ผลงาน “ทศกัณฑ์ชีวภาพ”

               ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากโขน ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ที่รวมศาสตร์และศิลป์ของไทยหลากหลายแขนง ทั้ง วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ และหัตถศิลป์ โดยมากนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ หัวโขนมักทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยวัสดุบางอย่าง เช่น กระดาษ หนัง หรือพลาสติก และใช้กรรมวิธีอื่นๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ร่วมด้วย

 

               แต่ครั้งนี้ศิลปินออกแบบโดยใช้เซลลูโลสชีวภาพ ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อข้าว เป็นการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco design) รูปแบบ ซีโร่ เวสท์ (Zero-waste) ขึ้นรูปเป็นงานประติมากรรมสามมิติ หัวโขน “ทศกัณฑ์” จากเดิมเป็นตัวละครที่มี 10 หน้า โดยมีใบหน้าหลักอยู่ตรงกลางแล้วแทนใบหน้าที่เหลือเป็นใบหน้าเล็กๆ ซ้อนเป็นชั้นขึ้นไป

 

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

 

               แต่ใน “ทศกัณฑ์” ในมุมมองของศิลปินเป็นการนำเสนอใบหน้าเรียงต่อกันเป็นวงรอบศีรษะ โดยขึ้นโครงเป็นเรซิ่นแล้วใช้เส้นใยที่เกิดจากจากการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเซลลูโลสปิดทับซ้อนกันไป แสดงให้เห็นถึงมุมของวรรณคดีผสานกับวิทยาศาสตร์ เป็นการตีความองค์ความรู้ดั้งเดิมนำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัยทันโลกที่คมคายอย่างยิ่ง

 

               6.ผลงาน “ปลาอานนท์”

               ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ความเชื่อทางพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมายาวนาน ว่า "ปลาอานนท์" มีลักษณะเขี้ยวคม ดวงตาแดงกล่ำ ยามปกติปลาอานนท์นิ่งสงบ แต่การที่แบกโลกทั้งใบไว้นานๆ อาจจะเกิดความเมื่อยขบ เลยพลิกตัวบ้างเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ นั่นเองส่งผลทำให้เกิดแผ่นดินไหว ภัยพิบัติเหนือผิวโลกและลมฟ้าแปรปรวน

 

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

 

               ศิลปินสร้างสรรค์งานประติมากรรมไทยโดยใช้การดุนโลหะด้วยมือ เป็นเทคนิควิธีการและลวดลายแบบล้านนาซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน ใช้ความละเอียดประณีตและความเพียรพยามยามในการใช้สิ่วแบบโบราณในการตอกลายขึ้นมาทีละชิ้นอย่างใจเย็น ใช้เทคนิคการดุนลายจนเกิดเป็นร่อง มีความสูงต่ำเกิดเป็นมิติที่ชัดเจน ขณะเดียวกันลวดลายมีความความละเอียดอ่อนช้อยทำให้พลิ้วไหวดุจดั่งมีชีวิต

 

               7.ผลงาน “จุดเริ่มต้น”

               ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากดิน การสลายตัวทางกายภาพตามธรรมชาติ เป็นซากพืชซากสัตว์ทับถมเป็นผิวชั้นบนที่ห่อหุ้มโลก เป็นจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืช ศิลปินจึงเกิดแรงบันดาลใจในการจำลองเหตุการณ์ธรรมชาติของดินในรูปแบบที่ถูกนำมาเล่าใหม่ ผ่านงานเบญจรงค์ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ เขียนลายโดยลงยาด้วยสีต่างๆ ทั้ง 5 เป็นตัวแทนแสดงความเป็นไทย

 

               โดยศิลปินจำลองภาพของเหตุการณ์ธรรมชาติ โดยขุดดินขึ้นมา แล้วนำมา ควัก ตัด ดึง หรือ ฉีก โดยทิ้งสภาวะของการไม่ถูกควบคุม ให้คงอยู่มากที่สุด แล้วนำมาเสริมด้วยงานเบญจรงค์ เทคนิคการเขียนสีบนเคลือบ บางชิ้นงานมีรูปทรงเกิดจากการนำภาชนะพลาสติกมากดอัดในดิน ทำให้กลายเป็นรูปทรงที่เลียนแบบฟอสซิล เป็นตัวแทนบ่งบอกถึงการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่ใช้วัสดุที่ไม่ย่อยสลายในวิถีชีวิต กลายเป็นขยะปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ จนเกิดเป็นคำถามที่ลุ่มลึกว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะช่วยกันลดปริมาณขยะและการใช้พลาสติกและวัสดุที่ไม่ย่อยสลายเหล่านี้ลงเพื่อช่วยรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่ต่อไป

 

หัตถศิลป์ไทย...ศาสตร์และศิลป์ที่กลมกล่อม

 

               8.BIO-TULIP Chair

               แรงบันดาลใจ : ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Tulip Chair” เก้าอี้ที่มีรูปร่างคล้ายกับดอกทิวลิป ผลงานออกแบบของสถาปนิกและดีไซน์เนอร์ชาวฟินแลนด์ในปี 1956 ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในด้านของการออกแบบ เป็นนวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงและความฮือฮาให้กับวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยมีรูปทรงที่เป็นธรรมชาติ ล้ำสมัยแม้ว่าจะถูกออกแบบมาแล้วกว่า 60 ปี

 

               โดยเฉพาะในช่วงยุค Modern เก้าอี้ Tulip เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความร่วมสมัยที่รับรู้ได้ทันที ศิลปินได้นำเสนอผ่านการใช้วัสดุเนื้อเยื้อชีวภาพ Organic โดยใช้เทคนิคการทับซ้อน และใช้ความสามารถในการรวมตัวเป็นเนื้อเดียวในระดับ Nano เมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษของเนื้อเยื้อชีวภาพนี้ เพื่อให้เกิดเป็นผลงานอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และยังใช้การย้อมด้วยสีที่แตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป โดยใช้สีผสมอาหารในการสร้างสีสันแก่ผลงาน ทำให้ผลงานมีความเป็นธรรมชาติในทุกมิติของการนำเสนอ

 

               ผลงานหัตถศิลป์ไทยที่นำไปจัดแสดงในครั้งนี้ ต่างได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยตลอดทั้งวันนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดี มีผู้เข้าร่วมชมจำนวนมาก และบางรายให้ความสนใจในการสั่งทำชิ้นงานหัตถศิลป์ไทยของ SACICT ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมและประสานงานไปยังผู้ผลิตต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ