ประชาสัมพันธ์

ยกระดับสินค้าโอทอป หนุนท่องเที่ยวชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยกระดับสินค้า OTOP สู่มาตรฐาน มผช. เพิ่มช่องทางขาย หนุนท่องเที่ยวชุมชน

 

               กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผนึกกำลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับสินค้า OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ให้เป็นที่ยอมรับ ได้มาตรฐาน มผช. นำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม เกิดรายได้กระจายในชุมชน

 

               นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นแนวคิดพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่

 

               โดยเน้นการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน ให้ประชาชนได้ขายสินค้าในชุมชนของตนเอง โดยนำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม มาแปลงเป็นรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรายได้กระจายภายในชุมชน แต่ผลิตภัณฑ์ชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดการพัฒนาในด้านคุณภาพและการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคทั่วไปยังขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

 

               ฉะนั้น เพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนมีคุณภาพมาตรฐาน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน จึงจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ขึ้น เพื่อให้สินค้า OTOP ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

 

ยกระดับสินค้าโอทอป หนุนท่องเที่ยวชุมชน

 

               โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก จำนวน 5,000 ผลิตภัณฑ์ (5,000 ราย) ทั่วประเทศ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช.

 

               ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขอความร่วมมือให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการต่อยอด โดยนำผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) ที่ได้รับการพัฒนาจากกรมการพัฒนาชุมชน เข้าสู่การรับรองมาตรฐานผ ลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบขอรับการตรวจประเมินคุณภาพเบื้องต้น (มผช.ป) โดย กรมการพัฒนาชุมชน จะเป็นผู้รวบรวมรายงานผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเอกสารประกอบการยื่นคำขอที่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ดำเนินการพิจารณาออกใบรับคำขอ มผช.ป.  

 

               และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งสองหน่วยงานได้เห็นชอบร่วมกันในการทำงานที่ใกล้ชิดทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จะขับเคลื่อนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ได้รับการรับรอง มผช. ต่อไป เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีศักยภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค  รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยไปสู่ตลาดที่กว้างมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ