ข่าว

เช็กก่อนจ่าย 'บิลค่าไฟปลอม' ระบาดหนัก แนะจุดสังเกต เจอแบบนี้บิลปลอมชัวร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวบ้านโดนเกือบ 10 หลัง บิลค่าไฟปลอม ระบาดหนัก แนะจุดสังเกตและวิธีเช็กให้ดีก่อนจ่ายเงินให้มิจฉาชีพ เจอแบบนี้ปลอมชัวร์

วันที่ 18 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านภายในหมู่บ้านโครงการแห่งหนึ่ง อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ว่ามีมิจฉาชีพนำ บิลค่าไฟปลอม มาเสียบไว้ที่หน้าบ้านร่วมๆ 10 หลัง โดยทุกบิลจะระบุข้อความว่า “ใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ” แต่ชื่อ และเลขที่บ้านที่ระบุไว้ในบิลค่าไฟนั้น ไม่ตรงกับเลขที่บ้าน ของบ้านที่ถูกนำบิลค่าไฟมาเสียบไว้ จนชาวบ้านต่างก็เกรงว่าผู้สูงอายุที่เล่นโชเชียลไม่ค่อยเป็น อาจจะหลงเผลอสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าไป แล้วทำให้สูญเงินได้ 

 

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้รุดพื้นที่ไปยังหมู่บ้านโครงการดังกล่าว และได้สอบถาม คุณเนย ( หนึ่งในชาวบ้าน ) เล่าว่า จุดสังเกตที่ทำให้ตนรู้ว่าบิลค่าไฟที่ได้รับมานั้นเป็นบิลปลอม คือ โดยปกติบิลค่าไฟจะไม่มีการแจ้งเตือนว่า “ใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ” ที่หัวบิล เพราะถ้ามีการทวงถามค่าค้างชำระ ทางการไฟฟ้าจะส่งมาเป็นเอกสารกระดาษ A4 และบิลนี้ที่ได้รับนั้นก็เป็นบิลเก่า ตัวเลขก็ไม่ชัดเจน ซึ่งตนเคยรู้มาว่าทางการไฟฟ้าได้เคยออกมาชี้แจงและให้ความรู้กับประชาชนว่า 

 

บิลค่าไฟปลอม

จุดสังเกตหลักๆคือ รหัสการไฟฟ้า และ เลขรหัสเครื่องวัด ที่ระบุไว้ในบิล ซึ่งในบิลปลอมเหล่านี้ไม่มี อีกอย่างพนักงานที่นำบิลค่าไฟมาเสียบตามบ้านนั้น จะไม่ใช่พนักงานจากการไฟฟ้าโดยตรง แต่เป็นพนักงานของบริษัทเอกชนที่มารับเหมาจดมิเตอร์ตามบ้าน ซึ่งพนักงานทุกคนจะมีเครื่องวัด และถ้ามีข้อผิดพลาดอะไร ประชาชนจะต้องใช้บิลตัวนี้เข้าไปที่การไฟฟ้า และพนักงานจะใช้ตัวเลขดังกล่าวเพื่อตรวจเช็ค เพื่อที่จะระบุได้ว่าพนักงานใช้เครื่องตัวไหนเป็นตัววัดมิเตอร์ รวมถึงถ้าเป็นบิลจริงจะต้องมีรหัสผู้ใช้ที่ชัดเจน อีกทั้ง บิลรูปแบบนี้ทางการไฟฟ้าได้ยกเลิกใช้ไปแล้ว ปัจจุบันรูปแบบของบิลจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า และสีที่ต่างกัน 

 

ทางด้านนางสาววิภาวรรณ คิดกล้า อายุ 40 ปี ( พนักงานของโครงการ ) เล่าว่า ตนก็เจอบิลค่าไฟปลอมมาเสียบไว้ที่หน้าบ้านเหมือนกัน แต่ที่ตนเอะใจก็คือ ชื่อ และบ้านเลขที่นั้นไม่ใช่ของที่บ้านตน ตอนแรกตนก็รู้สึกหวั่นๆ เกรงว่าทางการไฟฟ้าจะมาถอดมิเตอร์ผิดบ้าน ตนก็เลยถ่ายรูปโพสต์ลงในเฟสบุ๊กว่า “อย่าเอามาติดสุ่ม 4 สุ่ม 5 เด้อ มั่วบ้านไปหมด บ้านฉัน 329/... ไม่ใช่ 469 #การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” 

จากนั้นเพื่อนในเฟซบุ๊กก็ได้เข้ามาคอมเมนต์ว่า อาจจะเป็นมิจฉาชีพ ต่อมาไม่นานตนก็เห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กโพสต์ว่า เจอบิลค่าไฟปลอมแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งตนก็ได้นำบิลปลอมที่ได้รับ ไปเทียบกับบิลจริง ก็ได้เห็นความแตกต่าง ทั้งสีของบิลที่เป็นสีฟ้า แต่ปัจจุบันจะเป็นบิลสีม่วง รวมถึงขนาดก็แตกต่างกัน และบิลปลอมนั้นจะค่อนข้างเก่าอีกด้วย 

 

นางสาววิภาวรรณ คิดกล้า ยังเล่าต่ออีกว่า ตอนนี้ทางนิติของโครงการกำลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดอยู่ เผื่อว่าอาจจะจับภาพของมิจฉาชีพ ขณะที่ตระเวนนำบิลปลอมมาเสียบตามบ้านต่างๆ ตอนนี้เบื้องต้นทางโครงการก็ได้แจ้งให้ลูกบ้านรับทราบแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจเช็คอยู่ว่า บ้านที่ถูกนำบิลปลอมมาเสียบไว้ มีกี่หลัง ซึ่งคาดว่าอาจจะร่วมๆ 10 หลังได้

 

วิธีเช็กบิลค่าไฟปลอมหรือไม่ 

  1. บิลจะระบุข้อความว่า “ใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ” 
  2. ชื่อ และเลขที่บ้านที่ระบุไว้ในบิลค่าไฟนั้น ไม่ตรงกับเลขที่บ้าน
  3. เป็นบิลเก่า ตัวเลขก็ไม่ชัดเจน
  4. รหัสการไฟฟ้า และเลขรหัสเครื่องวัด ที่ระบุไว้ในบิล ซึ่งในบิลปลอมเหลานี้ไม่มี

 

นอกจากนี้ หากไม่มั่นใจว่าบิลค่าไฟที่ได้มานั้นเป็น บิลค่าไฟปลอมหรือไม่ สามารถตรวจสอบค่าไฟฟ้าได้ที่แอปพลิเคชัน PEA Smart Plus

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ