ข่าว

"เคว้กบุ๊ก"สื่อแห่งน้ำใจและเยียวยาจากชาวออนไลน์สู่ผู้ประสบภัยญี่ปุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น ชาวบล็อกเกอร์และนักเขียนกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมมือร่วมใจกันผ่านโลกออนไลน์ ช่วยกันรวบรวมภาพถ่ายสะเทือนใจ ความทรงจำ สะท้อนเรื่องราวหลากแง่มุมเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ จนออกมาเป็

        เจ้าของไอเดีย เคว้กบุ๊ก เป็นอดีตนักข่าว นสพ.ท้องถิ่นชาวอังกฤษ วัย 40 ปี พำนักในจังหวัดชิบะ ทางตะวันออกของกรุงโตเกียว ที่พอใจจะเก็บชื่อเสียงเรียงนามไว้เป็นความลับต่อไป เพื่อรักษาจิตวิญญาณของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือโดยไม่เห็นหน้าค่าตากัน ดังนั้นบุคคลผู้นี้จึงเป็นที่รู้จักในนามบนทวิตเตอร์ว่า "อาวเวอร์ แมน อิน อาบิโกะ" (Our Man in Abiko) ที่มาพร้อมกับคำว่า #Quakebook  

         เริ่มต้นจากความรู้สึกหงุดหงิดกับความไร้ประโยชน์ของตัวเอง ทั้งที่วิกฤติครั้งใหญ่จ่ออยู่ใกล้ประตูบ้าน และคิดว่า คงให้อภัยตัวเองไม่ได้หากไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังหิวโหย ไร้บ้านและต่อสู้กับความหนาวเย็น 
 
       18 มีนาคม หรือราวหนึ่งสัปดาห์หลังสึนามิอาละวาดทำลายชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ชายผู้นี้เริ่มทวิตครั้งแรกว่า ผมอยากรวบรวมประสบการณ์แผ่นดินไหว เป็นหนังสือและตีพิมพ์ในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อบริจาครายได้ทั้งหมดให้แก่กาชาดญี่ปุ่น
  
      "หากทุกคนเขียน 250 คำในหนึ่งหน้ากระดาษ หรือช่วยกันส่งทวิต (ดั้งเดิม) ภาพถ่ายหรืองานศิลป์ที่ชื่นชอบ ผมจะนำไปเรียบเรียง และพิมพ์เป็นหนังสือได้ในเวลาไม่กี่วัน" 

  หลังทวิตแรกผ่านไปไม่ถึง 45 นาที ก็มีผู้ส่งเรื่องให้คนแรก 15 ชั่วโมงผ่านไป ได้รับความเรียง งานศิลปะ และภาพถ่ายมากมายหลายชิ้นอยู่ในมือ รวมๆ แล้วมีผู้เข้าร่วมโครงการดีๆ นี้ราว 200 คน ทั้งที่เป็นชาวญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่อาศัยใช้ชีวิตในญี่ปุ่น และคนที่เฝ้ามองโศกนาฏกรรมจากที่ต่างๆ อันไกลโพ้น รวมทั้งได้อาสาสมัครนักเขียน นักแปลและนักออกแบบที่อยู่ไกลถึงสหรัฐอเมริกาและไอร์แลนด์ ช่วยกันเรียบเรียงและออกแบบโดยใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลาง
 
        เหตุผลที่โครงการนี้เดินหน้าได้ ก็เพราะพวกเราทั้งหมดต่างก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรบางอย่าง และการเปิดพื้นที่ให้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองถือเป็นการเยียวยาอันวิเศษ พวกเขารู้สึกเหมือนถูกลืมหรือทอดทิ้ง ความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกโดดเดี่ยว อาจมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด
  
       โครงการแบบนี้คงสำเร็จในเวลาอันสั้นไม่ได้ หากปราศจากเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง ทวิตเตอร์ ด้านหนึ่ง "เคว้กบุ๊ก" จึงเป็นภาพสะท้อนพลังของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ผนึกผู้คนทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกันได้ในยามทุกข์โศก และยังเป็นกรณีศึกษาความร่วมมือที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญแบบปัจจุบันทันด่วน เมื่อระบบโทรศัพท์และการคมนาคมล่มจากแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 14.46 น. วันที่ 11 มีนาคม
 
         ผู้สร้างเคว้กบุ๊ก กล่าวว่า เราได้พูดคุยกับคนในฟูกูชิมะและมิยางิ ผ่านการทวิต เว็บบล็อกต่างๆ และผ่านเทคโนโลยี ตนคิดว่าคนให้การตอบรับเป็นอย่างดีเพราะเราเป็นพวกสมัครเล่น ความคิดเปิดกว้าง ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ในหนึ่งสัปดาห์ครึ่งเท่านั้น เนื่องจากอารมณ์ ความรู้สึกและความทรงจำยังแจ่มชัด 
 
       แม้เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นความหวาดกลัวและความสับสน แต่ผู้อ่านจะได้สัมผัสถึงการมองโลกในแง่ดีและความหวังในเวลาเดียวกัน  

  ตัวอย่างจากบทคัดย่อ ที่อยู่บนเว็บบล็อก http://quakebook.blogspot.com. โดย แดน คาสเทลลาโน ชาวกรุงโตเกียว ระบุว่า ผมใช้ชีวิตอยู่ในโตเกียวนานถึง 15 ปี การตัดสินใจว่า จะอยู่หรือจาก เป็นเรื่องยากที่สุดเท่าที่เคยตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิต แต่ญี่ปุ่นเป็นบ้านที่สอง เขาจะไม่ทิ้งบ้านที่กำลังไฟไหม้ไว้ตามลำพังหากครอบครัวของเขายังอยู่ในนั้น

  ยูกิ วาตานาเบะ ชาวฟูกูชิมะที่ปัจจุบันอาศัยในโตเกียว แต่บ้านของพ่อแม่ยังอยู่ในรัศมี 40 กม.จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เธอเขียนว่า "พ่อกับแม่ได้รับแจ้งให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ให้ออกไปไหน แต่บ้านได้รับความเสียหายหนักจากแผ่นดินไหวและสึนามิ และยังต้องอดทนกับสารกัมมันตรังสี พวกเราทำกรรมอะไรไว้หรือ พวกเราทุกข์เหมือนคนอื่นๆ ในพื้นที่ภัยพิบัติ แต่ต่างตรงที่พวกเรายังต้องเผชิญกับภัยที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติและมองไม่เห็นอีกด้วย ได้โปรด อย่าทอดทิ้งฟูกูชิมะ"  

    "เคว้กบุ๊ก 2.46 อาฟเตอร์ช็อก เรื่องเล่าจากแผ่นดินไหวญี่ปุ่น" (Quakebook 2:46  Aftershocks : Stories from the Japan Earthquake) จะเปิดให้ดาวน์โหลดผ่านเว็บบล็อกในเร็วๆ นี้ และจะเร่งจัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจำหน่ายผ่านเว็บไซต์อะเมซอน และบริจาครายได้ให้แก่กาชาดญี่ปุ่น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ