ข่าว

เจาะลึก 'Iron Dome' เกราะป้องกันสุดล้ำของ 'อิสราเอล' คุ้มจริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะลึกทุกแง่มุม 'Iron Dome' เกราะป้องกันล้ำสมัยที่สุดในโลก ราคาหมื่นล้าน ของ 'อิสราเอล' คุ้มกับการรองรับ สงคราม จริงหรือ

สงครามการสู้รบระหว่าง “อิสราเอล” กับ “กลุ่มฮามาส” ของปาเลสไตน์ ยังคงดุเดือด คร่าชีวิตประชาชนทั้งสองฝั่งไปแล้วกว่า 2,000 คน นับตั้งแต่ที่ฮามาส เปิดฉากยิงถล่มอิสราเอล ด้วยจรวดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา “Iron Dome” (ไอเอิร์นโดม) หนึ่งในระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ล้ำสมัยที่สุดในโลกของอิสราเอล จึงถูกนำมาใช้ และกลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง “Iron Dome” มีประสิทธิภาพขนาดไหน ถึงได้ชื่อว่าเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก

Iron Dome เกราะป้องกันอิสราเอล

Iron Dome คืออะไร

 

 

“Iron Dome” เป็นระบบป้องกันทางอากาศเคลื่อนที่ทุกสภาพอากาศของอิสราเอล พัฒนาโดย Rafael Advanced Defense Systems และ Israel Aerospace Industries ระบบได้รับการออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นและทำลายจรวดพิสัยใกล้ และกระสุนปืนใหญ่ ที่ยิงจากระยะไกล 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) ถึง 70 กิโลเมตร (43 ไมล์)

 

 

ส่วนที่มาที่ไป ต้องย้อนกลับไปในปี 2549 ครั้งที่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธ “เฮซบอลเลาะห์” ของเลบานอน ซึ่งตอนนั้น มีการยิงจรวจโจมตีอิสราเอลหลายพันลูก สร้างความเสียหายรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และต้องอพยพผู้คนจำนวนมาก และภายหลังจากเหตุการณ์นั้น อิสราเอลได้มีการพัฒนาระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศขึ้นมาใหม่ นั่นคือ “Iron Dome” โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ บริจาคเงินทั้งหมด 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สงครามอิสราเอล

ประสิทธิภาพของ “Iron Dome”

 

 

ทีเด็ดของ “Iron Dome” คือ เป็นระบบที่สามารถทำงานได้ในทุกสภาพลมฟ้าอากาศ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อต่อต้านอากาศยาน และอาวุธพิสัยการยิงระยะใกล้ คือระหว่าง 4 - 70 กิโลเมตร โดยตรง เช่น จรวด กระสุนปืนใหญ่ โดรน และเครื่องบินรบ ที่บินในระดับความสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต และนอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถแยกแยะได้ ระหว่างจรวดที่มีแนวโน้มจะมุ่งเป้าไปยังแหล่งชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น กับบริเวณที่คนไม่หนาแน่น และจะเลือกทำลายจรวด หรือขีปนาวุธ ที่มุ่งเป้าไปยังแหล่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันชีวิตพลเรือนในบริเวณนั้นๆ

 

 

และตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2564 นับตั้งแต่เริ่มนำ “Iron Dome” ออกใช้งาน ปัจจุบันอิสราเอลได้ประจำการกลุ่มอาวุธชนิดนี้ 10 จุดทั่วประเทศ สามารถสกัดกั้นการโจมตีจากกลุ่มฮามาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงไปได้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

 

โดยมีการเคลมว่า ในเดือน พ.ย. 2555 “Iron Dome” สามารถสกัดกั้นจรวดได้กว่า 400 ลูก และภายในปลายเดือน ต.ค. 2557 ระบบสามารถสกัดกั้นจรวดได้มากกว่า 1,200 ลูก

การทำงานของ Iron Dome ภาพจาก BBC

 

กรมข่าวทหารบก ระบุว่า ถึงแม้ว่า Iron Dome จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ก็ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในด้านต้นทุนการผลิต เพราะเทคโนโลยีของมัน มีต้นทุนในการผลิตสูง อาวุธนำวิถีที่ใช้กับระบบ มีราคาลูกละ 40,000 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยคร่าวๆ ก็ลูกละ 1,200,000 บาท ส่วนฐานยิง (ระบบตรวจจับและท่อยิง) ราคาหน่วยละ 50 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็ 1500 ล้านบาท

   

 

ในขณะที่จรวดคัตซั่ม (Qassam) ของปาเลสไตน์ ผลิตอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ระยะยิง 5-16 กิโลเมตร กลับมีต้นทุนการผลิตเพียงลูกละ 800 เหรียญ หรือ 24,000 บาทเท่านั้น ทำให้ผลิตออกมาได้เป็นจำนวนมาก เวลาระดมยิงพร้อมๆ กัน จึงออกมาเป็นร้อยๆ ลูก ต่อให้อิสราเอลมีระบบป้องกันที่ดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถสกัดจรวดที่ประดังยิงกันเข้ามาได้หมดทุกลูก

    

 

ทั้งนี้ กรมข่าวทหารบก วิเคราะห์ว่า ด้วยระบบของ Iron Dome ที่ใช้งบประมาณในการผลิตที่สูง แต่ครอบคลุมพื้นที่ยังไม่มาก หากต้องการพัฒนาระบบใหญ่ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มาก ก็จะยิ่งทำให้ต้องลงทุนสูงเพิ่มขึ้นไปอีก และการออกแบบ ก็ออกแบบมาสำหรับสกัดกั้นเฉพาะอาวุธไม่นำวิถีเป็นหลัก ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นใน “สงครามอิสราเอล” ครั้งล่าสุด จึงถูกตั้งคำถามว่า ทำไมความสูญเสียจึงมหาศาล

 

 

 

 

ขอบคุณ : DOI RTA กรมข่าวทหารบก, wikipedia,BBC

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ