ข่าว

ชำแหละตำราเรียน 9/11 เมื่อคนรุ่นใหม่มองเป็นเรื่องไกลตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

 

แทบไม่น่าเชื่อ ชั่วพริบตาเดียว เหตุการณ์ช็อกโลก 9/11 ได้ผ่านพ้นมานานถึง 18 ปีเต็ม ที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่านั้นก็คือขณะที่มะกันชนรุ่นนี้มองเหตุการณ์ 9/11 ว่าเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่สำหรับเด็กอเมริกันรุ่นใหม่ที่เกิดหลังโลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 กลับมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเพียงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ตัวเองไม่มีความรู้สึกร่วมแต่ประการใด

 

 

ในโอกาสนี้ นิตยสารไทม์ได้เสนอบทความชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดเด็กรุ่นใหม่จึงรู้สึกเช่นนั้น เป็นเพราะตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่น่าเบื่อใช่หรือไม่ และมีวิธีใดบ้างที่จะกระตุ้นให้เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องของ 9/11

 

สิ่งที่จะต้องเรียนรู้

 

อันที่จริง เหตุการณ์ช็อกโลก 9/11 ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์เต็มตัว เพราะยังอยู่ในขั้นกระบวนการของการเขียนประวัติศาสตร์ เนื่องจากยังต้องดูผลกระทบต่อสังคมที่ยังปรากฏอยู่ในขณะนี้

 

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกใจแต่อย่างใด ที่ครูส่วนใหญ่ยอมรับว่าการถ่ายทอดเหตุการณ์นี้เป็นงานที่ซับซ้อนพอควร นอกเหนือจากมีเรื่องของอารมณ์หดหู่เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ หัวข้อก็ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แสนอ่อนไหว พอๆ กับการตัองระมัดระวังในการเลือกภาพและเอกสารต่างๆ ที่ใช้เป็นสื่อถ่ายทอดให้เด็กนักเรียนได้เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา

 

 

ที่สำคัญรัฐบาลกลางเองยังไม่มีแนวปฏิบัติระดับชาติตามที่รัฐต่างๆ เรียกร้องเพื่อกำหนดแนวทางในการสอนในหัวข้อนี้ ดังนั้นบทเรียนต่างๆ ที่สะท้อนออกมาจึงหลากหลายขึ้นอยู่กับครูแต่ละคนและนโยบายของโรงเรียนทั่วประเทศ ในรายงานว่าด้วยมาตรฐานทางวิชาการของแผนกสังคมศึกษาของโรงเรียนมัธยมใน 50 รัฐทั่วประเทศและที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2560 ชี้ว่ามีการพูดถึงการโจมตีในเหตุการณ์ 9/11 มากเป็นพิเศษ 26 ชิ้น มีอยู่ 9 ชิ้นพูดถึงการก่อการร้ายหรือการทำสงครามปราบปรามการก่อการร้าย มีอยู่ 16 ชิ้นไม่พูดถึงเหตุการณ์ 9/11 หรือไม่พูดถึงการก่อการร้ายและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

 

 

ความหลากหลายนี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลว่าทำไม เจเรมี สก็อดดาร์ด ศาสตราจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน จึงต้องการสำรวจว่าพวกครูได้สอนเรื่อง 9/11 อย่างไรในชั้นเรียนทั่วประเทศ

 

 

ผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่สก็อดดาร์ดสุ่มสำรวจความเห็นของครูระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย 1,047 รายที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ เผยว่าอุปกรณ์การสอนที่ครูนิยมใช้มากที่สุดก็คือเอกสารและวิดีโอ ซึ่งแทบจะเป็นชุดเดียวกัน อีกวิธีหนึ่งก็คือการช่วยกันแสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน สำหรับวิธีที่ 3 ที่ครูนิยมทำกันมากก็คือการบอกเล่าประสบการณ์ตรงของตัวเองในเหตุการณ์นั้นๆ

 

 

ในรายงานผลการวิจัยของสก็อดดาร์ดให้ข้อสังเกตว่าพวกครูรุ่นใหม่มีแนวโน้มอยากจะให้เด็กๆ มีอารมณ์ร่วมแบบเดียวกับที่ตัวเองเคยประสบมาก่อน ต้องการให้เด็กรู้สึกตื่นตระหนกและหวาดกลัวเหมือนคนที่ประสบเหตุการณ์ในวันนั้นโดยตรงรู้สึก

 

 

ผลการสำรวจซึ่งอิงอยู่กับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ผ่านการสังเคราะห์ตำราเรียนและการพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การสอนในชั้นเรียนในช่วง 2-3 ปีแรกหลังเหตุการณ์ 9/11 ทั้งสก็อดดาร์ด และ ไดอานา เฮสส์ เพื่อนร่วมทำวิจัยได้ศึกษาตำราเรียนที่ขายดีที่สุดใประเทศ 9 เล่ม ทั้งตำราประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ประวัติศาสตร์โลก ตำราว่าด้วยรัฐบาลและกฎหมายที่ตีพิมพ์ระหว่างปี 2547-2549 หลังจากนั้นก็ทำการเปรียบเทียบตำราเดียวกันที่จัดพิมพ์ใหม่ในปี 2552 และ2553 เพื่อดูว่าได้บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างไร

 

 

ผลการศึกษาพบว่าตำรา 4 ใน 9 เล่มของตำราขายดีที่สุดที่พิมพ์เมื่อปี 2547 และ 2549 พูดถึงสงครามในอิรักว่าเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลัง 9/11 แต่ตอนที่สก็อดดาร์ดและเฮสส์ทำการวิจัยในปี 2548 มีตำราแค่เล่มเดียวคือ The Americans ของสำนักพิมพ์ McDougal Littell ตีพิมพ์เมื่อปี 2548 ที่พูดว่า ไม่พบอาวุธประสิทธิภาพทำลายล้างสูงดังที่อ้างกัน  ขณะที่ตำรา Magruder’s American Government ของสำนักพิมพ์ Prentice Hall’s ฉบับตีพิมพ์ปี 2548 กล่าวว่าตอนที่รัฐสภาให้อำนาจประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช สามารถดำเนินมาตรการ “ที่จำเป็นและเหมาะสม” เพื่อขจัดภัยคุกคามจากเผด็จการซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก ซึ่งเกิดขึ้นตามติดหลังเหตุการณ์ 9/11 ”เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลได้สะสมอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพจำนวนมหาศาล” แต่ฉบับพิมพ์ปี 2553 ได้ลบประโยคว่าด้วยอาวุธประสิทธิภาพทำลายล้างสูงออกไป

 

 

ยิ่งเวลาผ่านไปมากขึ้น ตำราเรียนยุคหลังๆ จะพูดถึงการโจมตีน้อยลง ตัวอย่างเช่น The Americans ฉบับตีพิมพ์ปี 2548 บอกว่ามีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีอาคารเวิลด์เทรดราว 3,000 คน ทั้งยังให้ข้อมูลจำเพาะเจาะจงว่ามีผู้โดยสารกี่คนบนเครื่องบินมรณะลำนั้น มีกี่คนที่ทำงานอยู่ที่อาคารระฟ้าหรือเป็นนักท่องเที่ยวกี่คน และมีคนรีบตอบรับเป็นจิตอาสาเป็นรายแรกๆ กี่คน แต่ในฉบับพิมพ์ใหม่ๆได้ตัดรายละเอียดของผู้เสียชีวิตลง

 

 

ประเด็นสำคัญๆ จำนวนมากที่เราเห็นในตำราเรียนฉบับพิมพ์ปี 2546 รวมไปถึงวันแห่งความทรงจำ การให้ความสำคัญกับการรายงานหรือการตอบรับเป็นจิตอาสาทันที เรื่องราวของบรรดาวีรบุรุษในวันนั้นและวีรกรรมของพวกเขา การที่โลกผนึกใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อตอบโต้การก่อการร้าย ประเด็นเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงมีการสอนกันอยู่... โรงเรียนประถมปลายหรือมัธยมต้นยังคงให้ความสำคัญกับการตอบรับเป็นจิตอาสาและวีรบุรุษในวันนั้น โรงเรียนมัธยมอาจจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับสาเหตุที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่การโจมตีและการตอบโต้ ครูที่สอนระดับมัธยมปลายจะพูดมากขึ้นเรื่องของรัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิหรือกฎหมายรักชาติและการสอดส่อง ครูบางคนอาจจะเปรียบเทียบความมั่นคงแห่งชาติกับเสรีภาพของพลเมือง

 

 

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการสอนได้ขยายตัวขึ้น ในปีนี้ ตำราเรียนไม่ใช่แหล่งที่จะไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 อีกต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม้ว่าสำนักพิมพ์จะพยายามปรับปรุงแก้ไขตำราเรียนให้ทันสมัยอยู่เสมอ แต่เนื่องจากโรงเรียนต่างๆ ไม่มีงบประมาณที่จะจัดซื้อตำราเรียนฉบับพิมพ์ล่าสุด ครูสอนวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนต่างๆ จึงยังคงใช้ตำราเรียนฉบับพิมพ์เมื่อปี 2544 หรือต้องอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวมาช่วยเพิ่มความรู้นอกตำราให้แก่นักเรียน

 

 

 

ชำแหละตำราเรียน 9/11 เมื่อคนรุ่นใหม่มองเป็นเรื่องไกลตัว

 

 

ผลการสำรวจความเห็นล่าสุดของครูระดับมัธยมของสก็อดดาร์ด ปรากฏว่า 71% ตอบว่าพึ่งพาข้อมูลจากเว็บไซต์ 33% บอกว่าใช้แบบเรียนพิเศษที่จัดทำโดยกลุ่มสนับสนุนการศึกษาโดยไม่แสวงหากำไร 23% บอกว่าใช้ตำราเรียนมาอธิบายเหตุการณ์ 9/11 มี 20% บอกว่าไม่ได้ใช้แบบเรียนหรืออุปกรณ์ใดๆที่จำเป็นมาช่วยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 และสงครามตอบโต้การก่อการร้าย

 

 

ขณะที่องค์กรเพื่อการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไรได้เสนอให้ข้อมูลทางออนไลน์ฟรีเพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่าง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนที่อายุน้อยที่สุด ด้านพิพิธภัณฑ์รำลึก 9/11 ก็มีข้อมูลส่งเสริมการศึกษาที่หลากหลาย แม้กระทั่งระดับเด็กอนุบาล ซึ่งในบทเรียนมีการพูดถึงสุนัขช่วยค้นหาและช่วยชีวิตผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร แผนช่วยฉุกเฉิน หรือเว็บไซต์อื่นๆ อาทิ เว็บไซต์ที่เสนอให้รู้จักอดทนอดกลั้น ซึ่งได้ผลิตเอกสารแนะแนวทางออนไลน์ว่าด้วยการหักล้างภาพลักษณ์เชิงลบของมุสลิม เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ดี ตำราเรียนที่ยืดหยุ่นก็ควรจะพูดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับครู เทอร์เนอร์เผยว่าเธอถูกผู้ปกครองเด็กนักเรียนตอบโต้เมื่อเธอบอกเด็กนักเรียนว่ากลุ่มอิสลามสุดโต่งที่เป็นตัวการจี้เครื่องบินในเหตุการณ์ 9/11 ไม่ใช่ตัวแทนสะท้อนความเห็นของมุสลิมโดยรวม หรือการที่นักเรียนบางคนเชื่อในเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดว่าเหตุการณ์ 9/11 ไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือเป็นการบงการจากรัฐบาล ขณะที่ครูจำนวนไม่ใช่น้อยบอกว่ามีนักเรียนตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด

 

 

ครูหลายคนต้องชี้ให้นักเรียนรับรู้ว่ากระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิและมาตรการคุมเข้มที่สนามบินเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 9/11 บางคนก็แนะว่านักเรียนจะสามารถมีสวนช่วยเหลือได้อย่างไรหากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นมาอีก

 

 

รู้สึกเหมือนกับเกิดมานานแล้ว

 

เด็กนักเรียนบางคนได้เรียนรู้จากการเดินทางไปไปร่วมรำลึกเหตุการณ์ 9/11 ที่อนุสรณ์สถาน บางคนดูวิดีโอภาพข่าวที่โทรทัศน์นำมาเผยแพร่ซ้ำ บางคนเรียนรู้จากการไปที่พิพิธภัณฑ์และได้ศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์ 9/11 กับประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นอย่างสงครามกลางเมืองและการปลดปล่อยทาส สงครามการปฏิวัติและการประกาศเอกราช เด็กบางคนโชคดีที่แม่ได้อธิบายให้ลูกเข้าใจว่ามีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง อาทิ ต้องเข้าแถวยาวเหยียดรอการตรวจค้นก่อนจะได้เข้ามาที่พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

 

เด็กนักเรียนบางคนเผยว่ารู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากที่บ้านมากกว่าจากโรงเรียน เนื่องจากพ่อได้เห็นเหตุการณ์นั้นมากับตัวจึงถ่ายทอดให้ลูกได้รับรู้บ้าง ทำให้ลูกๆ ได้คิดว่า 9/11 ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ไกลตัว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-หนังสือใหม่เผยปูตินยกหูเตือนบุช 2 วันก่อนวินาศกรรม 9/11
-สหรัฐเล็งเปิดชื่อจนท.ซาอุฯคนสำคัญสงสัยเอี่ยววินาศกรรม 9/11 
-สลดหนุ่มอเมริกันผู้รอดจาก9/11 เสียชีวิตจากโจมตีโรงแรมในเคนยา
 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ