ข่าว

ปาปัวตะวันตก....แผ่นดินนี้ของใคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

 

ขณะที่ประชาคมโลกมุ่งความสนใจไปที่การประท้วงครั้งใหญ่สุดในรอบ 22 ปีบนเกาะไข่มุกฮ่องกงที่กลายเป็นไข่มุกร้าวไปแล้ว ซึ่งส่อเค้าว่าคงจะยืดเยื้อไปอีกนานพอควร นับตั้งแต่ม็อบกลุ่มเสื้อดำได้รวมตัวกันเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน กดดันให้สภานิติบัญญัติถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับใหม่

 

การประท้วงมาราธอน ได้กลบความสำคัญของข่าวการประท้วงอีกแห่งหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี  แถมยังขยายวงกว้างลามไปกว่า 30 เมืองทั่วประเทศ แต่โชคร้ายที่เป็นดินแดนอันห่างไกลความเจริญ ทั้ง ๆ ที่เป็นเกาะมากด้วยทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเหมืองแร่ ทั้งทองคำ เงิน ทองแดง แถมยังไม่ไกลจากตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียมากนัก ที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งของแดนอิเหนา อินโดนีเซีย หนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสำคัญของกลุ่มอาเซียน

 

่าวเกี่ยวข้อง 

( มีคลิป ) ตร.อินโดนีเซียฉาวใช้"งู"สอบปากคำผู้ต้องสงสัยในปาปัว

 

การประท้วงมาราธอนที่ถูกสื่อและประชาคมโลกมองข้ามก็คือ การประท้วงของชาวปาปวน ที่จังหวัดปาปัวตะวันตก สาเหตุมาจากน้ำผึ้งหยดเดียวแท้ๆ  นั่นคือประท้วงตำรวจที่จับกุมนักศึกษาชาวปาปวน แต่สุดท้ายบานปลายกลายเป็นการเรียกร้องเอกราช

 

 

แม้ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการประท้วงเรียกร้องเอกราชเนื่องจากเคยเกิดขึ้นหลายครั้งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การประท้วงครั้งล่าสุดนี้ถือว่า เป็นครั้งใหญ่สุดที่เคยมีมา หนำซ้ำ ยังมีชาวเมืองอิเหนาเข้าร่วมจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากกระแสการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์

 

 

 

น้ำผึ้งหยดเดียวที่บานปลายจนแทบจะกลายเป็นอิเหนาเผาเมืองครั้งใหม่เริ่มขึ้น เมื่อตำรวจเมืองสุราบายาในจังหวัดชวาตะวันออก เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ ได้บุกเข้าไปในหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยปาปัวในเมืองนี้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันฉลองเอกราชของแดนอิเหนา แล้วจับกุมนักศึกษาชาวปาปวน 43 ราย ในข้อหาช่วยกันหักธงชาติอินโดนีเซียที่ตั้งตระหง่านหน้าหอพักนักศึกษา นำไปสู่การประท้วงและตำรวจปราบจลาจลได้ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการประท้วง

 

 

 

ปาปัวตะวันตก....แผ่นดินนี้ของใคร

 

 

ต่อมาสถานการณ์ได้บานปลายไปที่จังหวัดปาปัวตะวันตก ซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศ เมื่อผู้ประท้วงหลายพันคนได้ผสมโรงด้วยการจุดไฟเผาอาคารรัฐสภาประจำจังหวัด เผาร้านค้า เผารถยนต์ ทำลายป้ายจราจร และขว้างปาก้อนหินใส่สถานที่ราชการหลายแห่ง จนทำให้เมืองมาโนกวารี เมืองเอกของจังหวัดนี้ที่มีประชากรราว 130,000 คนกลายเป็นอัมพาต ร้านค้าพากันปิดตายขณะทางการสั่งปิดโรงเรียน  นอกจากนี้ สถานการณ์ยังลามไปยังเมืองต่างๆ กว่า 30 เมืองทั้งในจังหวัดนั้นและอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการบอกต่อทางโซเชียลมีเดีย หลังจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งได้แพร่ภาพของผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งที่ชุมนุมต่อต้านนักศึกษากลุ่มนี้ พร้อมกับตะโกนด่าทอว่าเป็น "ลิง” ไม่ใช่คน อันเป็นคำส่อเสียดสะท้อนถึงการเหยียดเชื้อชาติ

 

 

กระทั่งรัฐบาลต้องสั่งบล็อกอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากส่งทหารกว่า 6,000 คนไปตรึงสถานการณ์ แต่กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น

 

 

นักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่าการประท้วงครั้งนี้  ต่างไปจากการประท้วงที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาคาราคาซังที่ฝังลึกอยู่ในใจของประชาชนในปาปัวตะวันตกมานาน สังเกตได้จากรูปแบบการประท้วงที่ไม่มีแกนนำคอยวางแผนเหมือนก่อน  ที่เคยมีผู้นำของขบวนการปาปัวเสรีที่ลี้ภัยในต่างประเทศคอยปลุกระดมให้มีการประท้วง แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ผิดกับการประท้วงครั้งล่าสุดนี้ ที่มาจากพลังบริสุทธิ์ของชาวปาปวนที่เป็นชาวบ้านแท้ๆ ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษาในจาการ์ตาที่เข้าร่วมจำนวนมากเพื่อเรียกร้องให้ทางการยุติการเหยียดผิวในปาปัวตะวันตก

 

 

 

ปาปัวตะวันตก....แผ่นดินนี้ของใคร

 

ภาพ  Jarkata Post 

 

ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงเริ่มขยายจากเดิมที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงด้านชาติพันธุ์ ยกเลิกการสั่งแบนอินเทอร์เน็ตและให้โยกทหารกลับจากปาปัว ไปสู่การเรียกร้องให้จัดทำประชามติครั้งใหม่เพื่อให้ชาวปาปวนได้มีโอกาสกำหนดอนาคตของตัวเอง ปูทางสู่การแยกตัวเป็นเอกราชในภายหลัง

 

 

ก่อนหน้านี้ มีนักเคลื่อนไหวกว่า 1.8 ล้านคนได้ลงชื่อยื่นจดหมายถึงประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้จัดทำประชามติในปาปัวตะวันตกว่าชาวปาปวนต้องการแยกตัวหรือไม่ หลังจากมีการร้องเรียนมานานว่าการจัดทำประชามติเมื่อปี 2512 ไม่โปร่งใส เพราะให้ชาวปาปวนที่ฝักใฝ่อินโดนีเซียแค่ 1,025 คนเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียง ขณะที่ชนพื้นเมืองแท้ๆ กลับถูกกีดกัน จากนั้นก็ออกข่าวว่ามีการลงมติเอกฉันท์ต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย

 

 

 

อังเดรส์ ฮาร์โซโน นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวกลุ่มจับจ้องสิทธิมนุษยชนชาวอินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า "การประท้วงในวันนี้แตกต่างไปจากเดิมเนื่องจากได้กระจายไปทั่วประเทศ ผิดกับครั้งก่อนๆ ที่จัดขึ้นโดยผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาปวนที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นในดินแดนของปาปัวตะวันตกเองและลามไปยังจังหวัดต่างๆ แค่อาทิตย์แรกก็มีการประท้วงตามมาใน 30 เมืองแล้ว สะท้อนถึงความสับสนที่ฝังลึกในหมู่ชาติพันธ์ต่างๆ ในปาปัวต่อการปกครองของอินโดนีเซีย”

 

 

 

เดิม ปาปัวและปาปัวตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะนิวกินี (ส่วนพื้นที่อีกครึ่งหนึ่งทางตะวันออกของเกาะนี้เป็นประเทศปาปัวนิวกินี)  เป็นอาณานิคมของดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์  ซึ่งจำใจยอมมอบเอกราชให้เมื่อปี 2504 แต่ภายใต้การสมคบคิดและการสนับสนุนจากตะวันตก นำโดยสหรัฐที่ต้องการเข้าไปกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของดินแดนนี้  โดยเฉพาะเหมืองแร่มีค่า  อินโดนีเซียจึงได้ประกาศผนวกปาปัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ตามข้อตกลงนิวยอร์กปี 2505 ท่ามกลางความไม่พอใจของชนพื้นเมืองซึ่งประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ กว่า 200 ชนเผ่า ส่วนใหญ่เป็นเป็นชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ไม่ใช่ชาวมุสลิม อันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย

 

 

ปาปัวตะวันตก....แผ่นดินนี้ของใคร

 

 

เพื่อสร้างความชอบธรมในการยึดปาปัวตะวันตก อินโดนีเซียได้จัดฉากให้มีการลงประชามติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2512 ปรากฏว่าผู้ออกเสียงซึ่งมีแค่ 1,025 คนเท่านั้น ได้ลงมติเอกฉันท์สนับสนุนให้ปาปัวตะวันตกรวมเข้ากับอินโดนีเซีย และเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดอิเรียน จายา จนถึงปี 2543 ก่อนที่อินโดนีเซียจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นจังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตกในปี 2546

 

 

 

ตอนแรก คนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้งขบวนการปาปัวเสรีขึ้นเพื่อต่อสู้หมายจะแยกปาปัวตะวันตกเป็นเอกราช แต่เพราะเกิดความแตกแยกภายใน ประกอบกับผู้นำได้หนีไปลี้ภัยต่างประเทศ ผสมผสานกับการถูกปราบอย่างรุนแรง ขบวนการปาปวนเสรีจึงมีแต่อ่อนแอลงตามลำดับ กระนั้น ความต้องการจะแยกตัวเป็นเอกราชได้ฝังรากลึกอยู่ในใจชาวปาปวนแล้ว และนับวันก็ยิ่งร้อนระอุใกล้ถึงจุดเดือดมากขึ้นทุกที ทั้งจากปัญหาที่ถูกรัฐบาลทอดทิ้ง แทบไม่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจใดๆ ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน คุณภาพชีวิตอยู่ในระดับต่ำมาก

 

 

 

เหนืออื่นใดก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในระดับเลวร้ายมาก ชาวปาปวนกล่าวหารัฐบาลว่าได้ก่อเหตุสังหารหมู่ระหว่างเกิดจลาจลหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมามีผู้เสียชีวิตกว่าแสนคน ผู้หญิงหลายพันคนถูกข่มขืน อีกนับหมื่นทรมานหรือถูกจับเข้าคุก ทหารได้ปกครองปาปัวแบบรัฐตำรวจ ห้ามกลุ่มการเมืองแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากนี้ ยังเข้มงวดและจำกัดชาวต่างชาติที่จะไปยังพื้นที่นั้นเพราะเกรงว่าจะถูกเปิดโปงเรื่องการกวาดล้างขบวนการชาตินิยมชาวปาปวน

 

 

 

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า จนถึงขณะนี้ยังเป็นไปได้ยากมากที่อินโดนีเซียจะยอมทำผิดพลาดครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ด้วยการยินยอมให้ชาวปาปวนไปลงประชามติ หลังจากเคยได้บทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้วคราวให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2542 หรือกำลังจะครบ 20 ปีในเร็วๆ นี้ว่าจะแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ ด้วยความหลงลำพองใจว่าชาวติมอร์คงจะไม่ยอมแยกตัวเป็นเอกราช แต่ผลกลับตาลปัตรจนถือเป็นบทเรียนใหญ่ของรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้

 

 

เพราะถ้าทำผิดพลาดครั้งที่ 2 ได้ก็อาจเกิดผิดพลาดครั้งที่ 3, 4, 5 ตามมาก็ได้ ในเมื่อมีอีกหลายดินแดนที่จ้องตาเป็นมันอยากจะแยกตัวเป็นเอกราชเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่อาเจะห์หรือที่หมู่เกาะมาลูกูหรือที่เคยรู้จักกันชื่อโมลุกกะ เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ