ข่าว

คริสโตเฟอร์ ไนท์ ฤาษีพงไพรแห่งศตวรรษที่ 21

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

            เมื่อต้นปีที่แล้ว รัฐบาลแดนผู้ดีอังกฤษได้ประกาศให้การการขจัดความเหงาของประชาชน เป็นวาระแห่งชาติหลังพบว่าความเหงาได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคม ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งหนุ่มสาวและผู้เฒ่าผู้แก่ราว 9 ล้านคน ซึ่งต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เก็บตัวเงียบไม่สุงสิง ไม่พูดคุยกับใครเป็นเวลานานๆ

 


         จะว่าไปแล้วไม่ใช่อังกฤษเพียงประเทศเดียวที่เริ่มตระหนักถึงภัยเงียบจากโรคเหงา ก่อนหน้านี้ มีปัจเจกชนในหลายประเทศได้หาวิธีแก้โรคเหงาของตัวเอง ที่กลายเป็นข่าวดังรายล่าสุดก็คือคริสโตเฟอร์ ไนท์ ( Christopher Knight  )  ชาวอเมริกันที่ขับรถจากบ้านเกิดในรัฐแมสซาชูเสตต์เข้าไปในป่าในรัฐเมน เมื่อปี 2529 ขณะมีอายุแค่ 20 ปี  ก่อนทิ้งรถยนต์พร้อมกุญแจรถ ที่นำติดตัวไปด้วยมีแค่อุปกรณ์ยังชีพสำหรับตั้งแคมป์เท่านั้น จากนั้นก็ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในป่านานถึง  27 ปี

         ไม่ใช่เพราะหลงป่าหรือติดเกาะแบบโรบินสัน ครูโซ หรือเพราะโกรธเกลียดชังโลกใบนี้ หากเจตนาจะปลีกวิเวกเพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตัวที่ไม่เหมือนใครเท่านั้น

 


            2 ปีแรก ไนท์ใช้ชีวิตเร่ร่อนในป่า ไม่คิดจะปักหลักอยู่ที่ไหน กระทั่งพบพื้นที่โล่งกลางป่าทึบใกล้ทะเลสาบนอร์ธ พอนด์ จึงขึงเต๊นท์ผ้าใบขึ้นแล้วใช้เป็นที่พักตลอดช่วง 25 ปีโดยไม่มีใครรู้ว่าเขาหลบซ่อนตัวอยู่ที่นั่น แม้ว่าจะอยู่ห่างจากกระท่อมพักร้อนหลายสิบหลังแค่กิโลเมตรเศษๆก็ตาม

 


        ไนท์เอาชีวิตรอดด้วยการแอบเข้าไปขโมยเฉพาะของจำเป็นในกระท่อมเหล่านั้น อาทิ อาหาร ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย เสื้อผ้า รองเท้า และหนังสือจำนวนมาก รวมแล้วตลอดช่วง 27 ปี เขาไปขโมยข้าวของจำเป็นแค่ราวพันครั้ง หรือเฉลี่ยแล้วก่อเหตุขโมยแค่ปีละ 40 ครั้ง ทุกครั้งพยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสียหายใดๆ ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าตัวไม่เคยทำแก้วน้ำแตกแม้แต่ใบเดียวหรือไม่เคยงัดประตูจนพัง แต่ใช้วิธีสะเดาะกลอนแทน หนำซ้ำเมื่อยามจะกลับเข้าป่าก็ยังปิดประตูลงกลอนให้เรียบร้อยอีกด้วย แต่เพราะเกิดเหตุขโมยอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวบ้านต่างหวาดกลัวและวิตกกังวลไปต่างๆนานา เพราะไม่รู้ว่าตัวการเป็นใคร เป็นหญิงหรือชาย เป็นฆาตกรใช่หรือไม่

 


       และแล้วเมื่อต้นเดือนเม.ย.2556 ไนท์ก็ถูกจับคาหนังคาเขา ขณะเข้าไปขโมยของใช้จำเป็นที่แคมป์ต้นสน ศาลได้ตัดสินเมื่อปลายเดือนตค.ปีเดียวกันให้จำคุก 7 เดือนนานเท่ากับช่วงที่เจ้าตัวถูกขังระหว่างรอการตัดสินคดี นอกจากนั้นศาลยังตัดสินให้ไนท์ต้องจ่ายเงิน 2,000 ดอลลาร์ให้กับเหยื่อที่ได้รับความเสียหาย และต้องภาคทัณฑ์อีก 3 ปี หลังได้รับการปล่อยตัว ไนท์ต้องไปพบผู้พิพากษาทุกอาทิตย์ ห้ามดื่มสุราและต้องทำงานกับพี่ชาย

 

 

 

คริสโตเฟอร์ ไนท์ ฤาษีพงไพรแห่งศตวรรษที่ 21           ระหว่างนั้น ไมค์ ฟิงเคล นักข่าวท้องถิ่นได้ไปสัมภาษณ์ไนท์ในเรือนจำ 9 ครั้งๆละ 1 ชั่วโมงแล้วเขียนเป็นหนังสือชื่อ "The Stranger in the Woods: The Extraordinary Story of the Last True Hermit" หรือ”ชายแปลกหน้าในป่าใหญ่: ชีวิตพิศดารของฤาษีตัวจริงคนสุดท้าย”วางแผงเมื่อเดือนมีค. 2560 เพื่อพยายามหาคำตอบว่าทำไมไนท์ถึงหนีสังคมไปอยู่ในป่าคนเดียวและตัวเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำตัวเป็นฤาษีเช่นนี้ ได้ใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเอง อย่างมีความสุขตามที่ใฝ่ฝันหรือไม่ ตลอดจนการท้าทายต่างๆที่ต้องเผชิญนับตั้งแต่ต้องกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง


        หนังสือเล่มนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนังสือดีที่สุดแห่งปีจากการจัดของนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก


         ในหนังสือเล่มนี้ คริสโตเฟอร์ ไนท์ ซึ่งตอนนี้อายุ 53 ปี  เปิดเผยว่า ตัวเองแค่รู้สึกอึดอัดยามที่ต้องอยู่กับผู้คน ไม่ใช่เพราะมีเรื่องอับอายต้องปิดบังหรือไปก่ออาชญากรรมใดๆ เพียงแต่จะรู้สึกสุขใจเมื่อได้อยู่คนเดียวมากกว่า แรงกระตุ้นนี้รุนแรงกระทั่งเจ้าตัวเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในป่าตามลำพังนานร่วม 30 ปี โดยไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยสักนิด ตรงข้ามกลับรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและโลกภายนอก

 


            ที่พักของเขาจะอยู่ห่างไกล ซ่อนตัวอยู่กลางหมู่หิน ผืนป่ารอบๆแน่นทึบ ช่วยกลบร่องรอยให้เป็นอย่างดี จนแม้กระทั่งกวางก็ไม่สามารถเดินลอดผ่านได้ แต่ไนท์กลับเดินทะลุป่านั้นได้อย่างเงียบกริบในตอนกลางคืน

 

 

คริสโตเฟอร์ ไนท์ ฤาษีพงไพรแห่งศตวรรษที่ 21

 

( Maine Police ) 

 

          ในส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันและการเอาตัวรอดโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศหนาวเหน็บ บางครั้งอุณหภูมิลดต่ำลงถึงลบ 32 องศาเซลเซียส ไนท์เผยว่าตัวเองไม่เคยก่อกองไฟเพื่อไม่ให้เปิดเผยร่องรอยที่อยู่ แต่ใช้เตาแก๊สกระป๋องแบบพกพาที่ขโมยมาจากกระท่อมร้างในการปรุงอาหารและต้มน้ำดื่มและอาบ ในหน้าหนาวไนท์จะเข้านอนเร็วราวหนึ่งทุ่ม ตื่นตอน 02.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่หนาวที่สุด แล้วออกไปเดินรอบๆที่พักเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นจนกว่าจะสว่าง เขามักจะอาบน้ำในช่วงอากาศหนาว โกนหนวดโกนเครา ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้ผิดสังเกตหากเกิดปะหน้ากับคนแปลกหน้าอย่างกระทันหัน

 

      สำหรับชีวิตประจำวันนั้น ไนท์บอกว่าส่วนใหญ่จะไม่ทำอะไรเลย ไม่เขียนบันทึก ไม่เล่นโซเชียลมีเดีย ไม่ถ่ายรูป แม้จะอ่านหนังสือบ้าง เล่นเกมต่อตัวอักษรบ้าง แต่ใช้เวลาไม่นานนัก

 

            ไนท์เล่าว่า ตลอดช่วง 27 ปีตัวเองเคยเอ่ยคำพูดสั้นๆว่า”ไฮ” แค่ครั้งเดียวขณะทักทายนักไต่เขาแปลกหน้าที่พบพานโดยบังเอิญ อย่างไรก็ดี ในหนังสือเล่มนี้กลับให้รายละเอียดมากกว่านั้นว่าไนท์ยังเคยทักทายชาวประมงคนหนึ่งที่พบโดยบังเอิญพร้อมกับลูกชายและหลานชาย เมื่อราวต้นปี 2556 หรือราว 2 เดือนก่อนหน้าที่จะถูกตำรวจจับกุม และชาวประมงครอบครัวนี้เองได้นำเรื่องของเขาไปคุยให้ชาวบ้านฟังจนกลายเป็นตำนานพร้อมกับสมญาว่า”ฤาษีแห่งนอร์ธ พอนด์” ท้ายสุดก็ชักนำให้ตำรวจคนหนึ่งประกาศจะจับตัวฤาษีผู้นี้ให้ได้ ด้วยการซ่อนกล้องวงจรปิดหลายตัวไว้ในป่า กระทั่งสามารถจับตัวไนท์ได้ในที่สุด

 

          นักวิชาการบางคนได้นำเรื่องราวของไนท์ไปเทียบกับเรื่องราวของบู แรดลีย์ ผู้เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านตลอดเวลา ในนวนิยายเรื่อง” To Kill a Mockingbird หรือผู้บริสุทธิ์ นวนิยายรางวัลพูลิตเซอร์แต่งโดยฮาร์เปอร์ ลี ทั้งไนท์และบูจะต่างกันตรงที่เรื่องราวของบูเป็นเรื่องแต่ง แต่เรื่องของไนท์กลับเป็นเรื่องจริงที่แสนพิศดาร  

 

         ขณะเดียวกัน ชีวิตในวัยเยาว์ของไนท์ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย เจ้าตัวเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางยากจน ที่เก็บตัวเงียบ ไม่สุงสิงกับใครแม้กระทั่งเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไนท์ที่เป็นคนขี้อายมากเป็นพิเศษจนแทบไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ เจ้าตัวมีพี่ชาย 4 คนและน้องสาว 1 คน ทุกคนล้วนแต่เป็นเด็กฉลาดมากจนถือเป็นลักษณะเด่นของครอบครัวนี้ ทุกๆเย็น ครอบครัวไนท์จะอ่านหนังสือของเช็คสเปียร์และบทกวีต่างๆ อีกทั้งยังรู้วิธีซ่อมรถยนต์ ซ่อมท่อประปา และยังศึกษาเรื่องเทอร์โมไดนามิกส์  หรืออุณหพลศาสตร์ อันเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของพลังงานในรูปแบบต่างๆ พวกเขายังสร้างเรือนกระจกเพื่อรองรับน้ำให้ไหลซึมกลายเป็นน้ำใต้ดิน สามารถผลิตกระแสไฟได้เองจากเรือนกระจกนั้น กระทั่งยังสามารถปลูกพืชในเรือนกระจกในช่วงฤดูหนาวเพื่อเป็นอาหาร  โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียวให้กับการไฟฟ้า

 

          เมื่อตัดสินใจจะเข้าป่า ไนท์ก็ออกจากบ้านเฉยๆโดยไม่บอกลาใคร ขณะที่พ่อแม่ก็ไม่เคยแจ้งตำรวจหรือติดประกาศเรื่องคนหาย ตำรวจในพื้นที่ต่างไม่ประหลาดใจแม้แต่น้อย เพราะรู้ว่ามิใช่วิสัยของครอบครัวนี้ ขณะที่ไนท์พูดถึงพ่อแม่สั้นๆเพียงแค่ว่า”เป็นพ่อแม่ที่ดี พวกเราไม่เคยทำร้ายกันและกันให้ต้องเจ็บปวด แต่ก็ไม่ได้สนิทสนม จะเรียกว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ก็ได้”

 

            นักวิชาการบางคนให้ความเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นที่ไหนหรือยุคไหน มักจะมีคนที่ชอบทำตัวเป็นฤาษี หรือผู้ที่อยากจะอยู่กับตัวเองไม่อยากจะสุงสิงกับใคร ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือนักแสวงบุญ ผู้ประท้วง และผู้ไล่ล่าหรือนักล่าฝัน


           กลุ่มแรกหรืออาจจะเรียกว่าผู้ถือศิล หรือพวกหมอผี กลุ่มนี้ต้องการปลีกตัวออกจากสังคมก็คือเพื่อตามรอยศาสดาของศาสนาที่ตัวเองนับถือ แต่ไนท์บอกว่าตัวเองไม่ได้นับถือศาสนาอะไร เคยอ่านไบเบิลตอนเด็กๆแต่หลังจากนั้นก็ไม่หยิบจับมาอ่านอีกเลย

 

            กลุ่มผู้ประท้วงหรือผู้ไม่เห็นด้วยกับเรื่องความเป็นไปในโลกใบนี้ พวกเขาประท้วงสงคราม ประท้วงลัทธิบริโภคนิยม ประท้วงความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันด้วยการปลีกตัวจากโลกอันวุ่นวาย ไนท์บอกว่าตัวเองไม่มีความเห็นใดๆเกี่ยวกับโลกนี้และไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือคิดจะทำอะไรเพื่อโลกใบนี้

 

         กลุ่มผู้ไล่ล่าหรือนักล่าฝันเป็นฤาษีอีกประเภทหนึ่งที่พบมากที่สุดในยุคนี้ คนที่ปลีกตัวจากโลกเพื่อศิลปะหรือความงดงาม เพื่อวิทยาศาสตร์หรือด้วยเหตุผลส่วนตัว อย่างเฮนรี่ เดวิด ธอโร ชาวอเมริกันที่เป็นทั้งนักคิด นักปรัชญา นักเขียน กวี นักต่อสู้ทางการเมืองเพื่อการเลิกทาส นักประวัติศาสตร์ นักสำรวจ นักธรรมชาติวิทยา เ ที่บอกว่าชอบเข้าป่าเพื่อแสวงหาความสงบทางใจ หรือแม้กระทั่งไอน์สไตน์ ไปถึงไมเคิลแองเจโลและไอแซค นิวตัน คนกลุ่มนี้ชอบเก็บตัวเป็นฤาษีก่อนจะนำศิลปะที่งดงามที่สุดหรือความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์มาอวดให้โลกรู้

 

            แน่นอน ไนท์ไม่ใช่คนประเภทนี้เช่นกัน สำหรับคริสโตเฟอร์ ไนท์ แล้ว ความโดดเดี่ยวและความเงียบคือรางวัลชีวิต และตัวเองอยากจะใช้ทั้งชีวิตบนพื้นที่เล็ก ๆ ในป่า และตายอย่างเงียบๆท่ามกลางต้นไม้มากกว่า

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ