ข่าว

จีนเผยโฉมต้นแบบรถไฟแมกเลฟวิ่ง 600 ก.ม.ต่อชม. 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังซุ่มพัฒนา 3 ปี วิศวกรจีนเปิดตัวรถไฟแมกเลฟต้นแบบที่วิ่งได้เร็วติดอันดับโลก

 

ซีอาร์ซีซี  ผู้ผลิตอุปกรณ์รถไฟที่ใหญ่ที่สุดของจีน เผยโฉมต้นแบบรถไฟพลังแม่เหล็กความเร็วสูง หรือ แมฟเลฟ ที่วิศวกรอวดว่าสามารถทำความเร็วสูงสุดถึง 600 ก.ม.ต่อชม. ที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ทางตะวันออก เมื่อวานนี้  ( 23 พ.ค.) 

 

จีนเผยโฉมต้นแบบรถไฟแมกเลฟวิ่ง 600 ก.ม.ต่อชม. 

 ภาพ Xinhua 

 

นายติง ซานซาน หัวหน้าทีมพัฒนาและวิจัยรถไฟ และรองหัวหน้าวิศวกร ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง ผู้สร้างรถไฟ กล่าวว่า รถไฟต้นแบบความยาว 5 ตู้ สร้างขึ้นเพื่อใช้ทดสอบเทคโนโลยีและระบบการทำงานหลัก ก่อนวางแผนพัฒนาต้นแบบในขั้นที่สอง ที่คาดว่าจะผลิตออกมาทดลองได้ในปี 2020 และเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบอย่างสมบูรณ์ในปี 2021 

สำนักข่าวซินหัวระบุว่า ความเร็วของรถไฟแม่เหล็กที่กำลังพัฒนา จะติดอันดับรถไฟแม่เหล็กเร็วที่สุดในโลกเท่าที่มีการบันทึก นับเป็นก้าวคืบหน้าสำคัญยิ่งของระบบรถไฟแมกเลฟของจีน 

 

จีนเผยโฉมต้นแบบรถไฟแมกเลฟวิ่ง 600 ก.ม.ต่อชม. 

 ( ชมภาพเพิ่มคลิก ภาพ Xinhua  ) 

 

ปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงในจีน ช่วยร่นเวลาเดินทางระหว่างเมืองใหญ่ของจีนลงไปได้มาก หากมีรถไฟแมกเลฟจะยิ่งร่นเวลาลงอีก อย่างการเดินทางระหว่างปักกิ่งกับเซี่ยงไฮ้ สองมหานครสำคัญที่สุดของจีน จะไวขึ้นอีก 2 ชม. จาก 5 ชั่วโมงครึ่ง เหลือ 3 ชั่วโมงครึ่ง 

การพัฒนาต้นแบบรถไฟแมกเลฟที่เผยโฉมเมื่อวาน เริ่มมาตั้งแต่กรกฎาคม 2559 เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ( 2559-2563 ) ของพรรคคอมมิวนิสต์ โครงการนี้เป็นการระดมวิศวกรรถไฟแถวหน้าจากบริษัท มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยกว่า 30 แห่ง วางเป้าหมายพัฒนาเป็นรถไฟที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของจีนเอง 

 จีนมีรถไฟหัวกระสุน ฟู่ซิง ที่วิ่งได้ 350 ก.ม.ต่อชม. และเปิดใช้ระบบรถไฟแมกเลฟพาณิชย์สายแรก ระยะทาง 30 ก.ม.ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อปี 2545 เชื่อมสนามบิน ผูตง ในเซี่ยงไฮ้กับใจกลางเมือง ด้วยทุนสร้างกว่า 4 หมื่นล้านบาท  โดยบริษัทเซี่ยงไฮ้ แมฟเลฟ ทรานส์พอร์เทชัน ดีเวลลอฟเมนต์ ร่วมพัฒนากับกลุ่มบริษัทเยอรมนี วิ่งได้เร็วสูงสุด 431 ก.ม.ต่อชม. และเป็นระบบรถไฟพาณิชย์เร็วที่สุดในโลก ณ เวลานี้ 

ปัจจุบัน รถไฟแมกเลฟ ของ เจแปน เรลเวยส์ เป็นเจ้าของสถิติความเร็วที่สุดในโลก 603 ก.ม.ต่อชม. จากการทดสอบวิ่งเมื่อปี 2559 แต่ยังไม่เคยนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ