ข่าว

องค์การอนามัยโลกแนะนำครั้งแรกเด็กเล็กควรอยู่หน้าจอนานแค่ไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำกิจกรรมทางกายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ตั้งแต่เวลานอนคว่ำ จนถึงเวลาอยู่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

คู่มือไลฟ์สไตล์สำหรับเด็กเล็ก ที่องค์การอนามัยโลกจัดทำออกมาเป็นครั้งแรก แนะนำว่า ควรให้ทารกต่ำกว่า 1 ขวบ ที่ยังเดินไม่ได้ มีกิจกรรมทางกาย  อันรวมถึงการนอนคว่ำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ไม่ควรอยู่ในรถเข็น หรือผูกติดบนหลังใครคนใดคนหนึ่งนานกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้ง ควรนอนระหว่าง 12-17 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรให้อยู่หน้าจออิเล็กทรอนิกส์เลย

 

เด็กอายุ 1 – 2 ขวบ องค์การอนามัยโลกแนะว่าควรทำกิจกรรมทางกายวันละ 3 ชั่วโมง เวลานั่งๆนอนๆหน้าจอไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง และหลับอย่างน้อย 11 ชั่วโมง 

สำหรับเด็กอายุ 3-4 ขวบ ควรมีกิจกรรมทางกายวันละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และใน 3 ชั่วโมงนี้ควรเป็นการเคลื่อนไหวปานกลางถึงแข็งแรงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ส่วนเวลาหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง 

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า อัตราโรคอ้วนส่อเป็นภัยคุกคามสาธารณสุขเพิ่มขึ้นทุกขณะ และวัยรุ่นราว 80% ที่ไม่ได้มีกิจกรรมทางกายมากพอ ถึงเวลาแล้วที่จะวางกรอบปฏิบัติดีที่สุดสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยพัฒนาการที่สำคัญ 


สำหรับพ่อแม่ คำแนะนำเหล่านี้มองว่าเป็นแนวทางปฏิบัติตามสามัญสำนึกอยู่แล้ว อาทิ ไม่ให้ทารกต่ำกว่า 1 ขวบอยู่หน้าจอเลย แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญบ่างคน ติงว่าคำแนะนำอย่างกว้างเหล่านี้มีหลักฐานรองรับน้อยมาก และให้นิยามคำสำคัญ อาทิ ช่วงเวลาหน้าจอ แบบง่ายเกินไป 


เควิน แมคคอนเวย์ ศาสตราจารย์เกียติคุณด้านสถิติประยุกต์ โอเพน ยูนิเวอร์สตี ในอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์ว่า นโยบายสาธารณสุขที่กระทบครอบครัวหลายล้าน ไม่ควรตั้งอยู่บนหลักฐานคุณภาพต่ำมาก และตั้งคำถามว่า เวลาหน้าจอแบบเฉื่อยเนือย ( sedentary screen time) คืออะไรกันแน่  ซึ่งสำหรับเขายังไม่ชัดเจนมากพอ


องค์การอนามัยโลกระบุว่า เวลาหน้าจอที่ว่านี้ ไม่รวมการเล่นเกมบนแทบเล็ต หรือรายการโทรทัศน์ ที่ต้องใช้กิจกรรมทางกายหรือกระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหว เลียนแบบการเคลื่อนไหวเพื่อเต้น และมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ 


ส่วน Andrew Przybylskiนักวิจัยจากสถาบัอินเตอร์เน็ตออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เห็นด้วยกับการจำกัดเวลาหน้าจอของเด็ก แต่เวลาที่ใช้หน้าจอ ก่อผลไม่เท่ากัน ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมหลากหลายกับหน้าจอของเด็ก และผลกระทบ  


องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าคำแนะนำเข้มงวด ตั้งอยู่บนหลักฐานคุณภาพต่ำมาก แต่มั่นใจว่าเป็นแนวทางที่สามารถใช้ได้กับเด็กทุกคน ทุกเพศสภาพ พื้นเพทางวัฒนธรรมหรือสถานภาพทางสังคม-เศรษฐกิจ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ