ข่าว

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

 

ทันทีที่นายโยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแถลงว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจเลือกชื่อรัชสมัยใหม่ว่า “เรวะ” อันมีความหมายว่า "การเริ่มต้นความสงบสุขอันดีงาม” หรือ "โองการให้บังเกิดความสงบกลมเกลียว” เท่ากับเป็นสัญญาณเริ่มนับถอยหลังอย่างเป็นทางการวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต จักรพรรดิพระองค์ที่ 125 แห่งบัลลังก์เบญจมาศจะทรงสละราชย์ในวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นวันสิ้นสุดศักราชเฮเซโดยปริยาย ก่อนจะเริ่มศักราชหรือรัชสมัย "เรวะ” ในวันที่ 1 พฤษภาคม เมื่อเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126

 

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 
( ซ้าย-ขวา / มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ  สมเด็จพระจักรพรรดิอาคิฮิโตะ และอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ  ) 


พลันคำถามก็ทะลักเข้ามาอย่างท่วมท้นว่าเจ้าชายนารุฮิโตะทรงพร้อมหรือยังที่จะขึ้นมาเป็นประมุขพระองค์ใหม่แม้จะเป็นในเชิงสัญลักษณ์ก็ตามที บทบาทของพระองค์จะเป็นเช่นใด รัชสมัยเรวะจะแตกต่างจากรัชสมัยเฮเซหรือไม่ และอย่างไร ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมต่างๆ

 

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

สื่อหลายสื่อได้ตั้งคำถามคล้ายๆ กันว่าเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์จะทรงเป็น "สายเลือดใหม่” ของสถาบันอันเก่าแก่นี้หรือไม่ เทียบกับสมเด็จพระราชบิดา ผู้เป็นที่รักยิ่งของประชาชนอย่างสูง จากพระจริยวัตรที่ทรงมีเมตตา ทรงดูแลโครงการการกุศลต่างๆ เจ้าชายนารุฮิโตะเคยตรัสหลายครั้งว่าจะ "ทรงนำสายเลือดใหม่” มาสู่พระราชวงศ์นี้และต้องการใกล้ชิดกับประชาชน ที่ผ่านมา พระองค์ทรงมีข้อขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่อาวุโสในสำนักพระราชวังว่า "กอดจารีตประเพณี” เคร่งครัดชนิดไม่ยอมลืมหูลืมตาดูโลก

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

อิซาโอะ โทโคโระ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ซังเงียว และผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลให้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสละราชย์ให้ความเห็นสั้นๆ ตรงไปตรงมาว่า “เจ้าชายมกุฎราชกุมารทรงเรียนรู้ที่จะทรงขึ้นมาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิตั้งแต่แรกประสูติแล้ว” พร้อมกับย้ำว่าตัวเองได้เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตใหม่เพราะรู้สึกได้ว่าบทบาทของพระองค์จะสอดคล้องไปกับห้วงเวลาที่เป็นอยู่ให้มากที่สุด

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะมีพระราชดำรัสเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ เจริญพระชนมายุ 59 พรรษา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ว่า การเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิทำให้พระองค์ทรงรู้สึก “จริงจัง” กับพระราชพิธีนี้เป็นที่สุด และมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระราชบิดาควบคู่ไปกับการสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

ที่ไม่ได้ตรัสไว้แต่เป็นที่รู้กันก็คือพระองค์จะทรงหลีกเลี่ยงไม่ยุ่งกับการเมือง แต่จะทรงมุ่งมั่นในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมทั้งทรงส่งเสริมวัฒนธรรมและค่านิยมอันดีของแดนอาทิตย์อุทัย

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ประสูติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2503 เป็นเจ้าชายพระองค์แรกที่ทรงเติบโตในพระตำหนักเดียวกับพระราชบิดา พระราชมารดา รวมทั้งกับพระอนุชากับพระขนิษฐา โดยไม่ทรงถูกแยกตัวไปอยู่กับพระนมและพระอาจารย์เหมือนเจ้าชายพระองค์อื่นๆ ในอดีต

 

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยกะกุชุอิงแล้ว ได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยเมอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เคยทรงเล่าว่าชอบชีวิตในอังกฤษที่เป็นอิสระ ไม่ต้องอยู่ใต้กรอบโบราณราชประเพณี ไม่ต้องระวังองค์ทุกฝีก้าว ในห้องพักส่วนพระองค์ติดภาพโปสเตอร์ของบรูค ชีลด์ อดีตดาราแสนสวยของฮอลลีวู้ดในยุคนั้น

นอกจากสนพระทัยด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังโปรดดนตรีอย่างวิโอลา ส่วนกีฬาโปรดการวิ่งจ๊อกกิงและปีนเขาในยามว่าง-นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาการขนส่งสมัยโบราณ ทรงติดตามประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ โดยมีพระราชดำรัสในที่ประชุมของเวทีต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

พระสวามีที่ทรงปกป้องพระชายา

พระองค์ทรงได้รับความชื่นชมอย่างยิ่งจากคนรุ่นใหม่ในสังคมว่า เป็นเจ้าชายสุภาพบุรุษ เป็นพระสวามีที่แสนอบอุ่น แม้ว่าภาพลักษณ์โดยทั่วไปพระองค์จะค่อนข้างขี้อาย แต่เพื่อความสุขของครอบครัวและเพื่อทรงปกป้องและให้กำลังใจเจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารีที่ประชวรด้วยพระโรคภาวะการปรับตัวผิดปกติ จนทรงมีภาวะซึมเศร้า แทบจะไม่ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนมานานกว่า 10 ปี

 

ในฐานะพระสวามี ทรงยอมออกหน้าวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชบริพารในราชสำนักอย่างตรงไปตรงมาว่าเคร่งครัดในจารีตประเพณีมากเกินไปจนไม่ยอมผ่อนปรนหรือพลิกแพลงให้เข้ากับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป สมกับที่เคยให้สัญญากับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ ว่า “ผมจะปกป้องคุณตลอดทั้งชีวิตของผม”

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

พระองค์ทรงรักษาสัญญานี้ยิ่งชีวิตตลอดช่วงการอภิเษกสมรส ซึ่งเพิ่งจะฉลองครบรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้เจ้าหญิงมาซาโกะทรงเริ่มกลับมาปฏิบัติพระกรณียกิจตามปกติแล้ว และนับตั้งแต่เจ้าหญิงไอโกะ พระธิดาประสูติ พระองค์ก็ทรงกระตือรือร้นในการทำหน้าที่พระบิดาด้วยพระองค์เอง

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

เรื่องเกี่ยวข้อง ว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่แห่งบัลลังก์เบญจมาศ

 

อย่างไรก็ตาม ในสังคมอนุรักษ์นิยมที่ยังยึดมั่นระบบชายเป็นใหญ่แล้ว กลุ่มหัวเก่ากลับมองว่าเป็นเรื่องชวนเศร้ามากกว่ากับการที่ต้องคอยปกป้องพระชายา ที่ดีแต่ฟูมฟายคร่ำครวญสงสารตัวเองเท่านั้น จนทำให้ทั้ง 2 พระองค์แทบไม่ได้ทรงพระราชกรณียกิจเป็นชิ้นเป็นอัน

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

หน้าที่ใหม่ของพระราชวงศ์

เจ้าชายนารุฮิโตะตั้งพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะทรงนำประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดามาทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะทรงอยู่กับประชาชนอย่างใกล้ชิด จะทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน เพื่อนำพาความสุขมาให้ประชาชน ดังที่เคยตรัสว่าจะทรง “ยืนหยัดใกล้ชิดกับพสกนิกร”

“ข้าพเจ้าจะสวดภาวนาให้ประชาชน จะนึกถึงพวกเขาตลอดเวลา และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขา เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาได้ทรงกระทำมาแล้ว”

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

ถือเป็นพระราชปณิธานอันหนักอึ้งที่พระองค์ต้องทรงแบกไว้ว่าจะสร้างความสมดุลระหว่างโบราณราชประเพณีที่สถาบันที่เก่าแก่ที่สุดในโลกได้ปฏิบัติสืบต่อกันมานานนับพันปี ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของประชาชนควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลง ให้สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับค่านิยมสมัยใหม่และความเป็นไปของโลกที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญเช่นกัน

 

จากเจ้าชายสุภาพบุรุษสู่จักรพรรดิผู้มุ่งมั่น

 

และเพื่อจะให้ประชาชนเห็นว่าพระองค์ต้องการนำ “กระแสความเปลี่ยนแปลงใหม่” เข้ามาในสถาบันอันเก่าแก่นี้ พระองค์จึงประกาศจะทรงยกเลิกธรรมเนียมการเดินทางแบบเหมารถไฟความเร็วสูงหรือชินคันเซ็น และเหมาเครื่องบินทั้งลำ ระหว่างเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิเพื่อลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งเพื่อให้พระองค์สามารถพบปะกับประชาชนอย่างใกล้ชิดด้วย แต่เดิมนั้น ทุกครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตและพระจักรพรรดินีมิชิโกะจะเสด็จฯ ไปที่แห่งใด สำนักพระราชวังจะจัดการเช่าเหมาลำรถไฟความเร็วสูงและเครื่องบิน เพื่อสะดวกต่อการถวายอารักขาความปลอดภัยของพระประมุขสูงสุดของประเทศ

แต่กระนั้น สื่อมวลชนก็แสดงความห่วงใยอยู่พอสมควร เพราะฐานะสมเด็จพระจักรพรรดินั้นมีความสำคัญต่อชาวญี่ปุ่นอย่างใหญ่หลวง จึงไม่สมควรให้มีข้อผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นเป็นอันขาด

หลังผลัดเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือ พลังและความกระตือรือร้นของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ซึ่งอาจจะนำความแตกต่างไปจากสิ่งที่เคยเห็นกันอยู่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ