ข่าว

เผยทุ่นลอยสึนามินอกสุลาเวสีเสียมานาน 6 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความสูญเสียอย่างมหาศาล คือผลตามมาจากระบบเตือนสึนามิไม่สมประกอบนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย เพราะขาดงบประมาณกับทัศนคติของชาวบ้าน

 

                    เครือข่ายทุ่นลอยส่งสัญญาณผิวทะเล  22 ตำแหน่งนอกชายฝั่งเกาะสุลาเวสีที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์บนพื้นทะเล คือระบบที่ใช้ส่งข้อมูลเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าไปยังสำนักงานธรณีฟิสิกส์และอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซีย (บีเอ็มเคจี) แต่นายสุโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย (บีเอ็นพีบี) ระบุว่าทุ่นลอยตรวจวัดสึนามิ ใช้การไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ และยอมรับว่าบีเอ็มเคจี ที่รับผิดชอบเตือนสึนามิ ยังไม่ได้เข้าถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เผยทุ่นลอยสึนามินอกสุลาเวสีเสียมานาน 6 ปี

                    แกนหลักของระบบเตือนสึนามิของอินโดนีเซีย คือเครือข่ายสถานีตรวจวัดคลื่น 134 ตำแหน่ง ร่วมกับเครื่องมือตรวจจับ วัดและบันทึกวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนบก ไซเรน 55 จุด และระบบส่งข้อความแจ้งเตือน 

                    สำนักงานธรณีฟิสิกส์อินโดนีเซีย ออกประกาศเตือนว่า อาจเกิดสึนามิสูง 3 เมตร หลังแผ่นดินไหว 7.4 เวลาประมาณ 18.00 น. วันศุกร์ที่ 28 กันยายน แต่ได้ยกเลิกหลังเวลาผ่านไป 34 นาที โดยตัดสินจากผลตรวจวัดคลื่น 6 ซ.ม. จากจุดที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองปาลู เมืองเอกของสุลาเวสีกลาง ไปทางใต้ ถึง 300 ก.ม. เพราะไม่มีข้อมูลจากปาลู 

 

เผยทุ่นลอยสึนามินอกสุลาเวสีเสียมานาน 6 ปี

                    หลังโลกเผชิญสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2547 คร่าชีวิตเหยื่อ 2.3 แสนคนในกว่า 12 ประเทศ กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในจ.อาเจะห์ของอินโดนีเซีย นานานาชาติประสานความพยายามยกระดับระบบเตือนสึนามิ โดยเน้นเป็นพิเศษที่มหาสมุทรอินเดียและอินโดนีเซีย หนึ่งในประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิบ่อยที่สุดในโลก  แต่ระบบเซ็นเซอร์บนพื้นทะเล เคเบิลไฟเบอร์-ออบติก และอุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆที่มีแผนติดตั้งแทนระบบเดิมหลังแผ่นดินไหวและสึนามิ 15 ปีที่แล้ว เจอปัญหาการเมืองภายในและความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณ 1 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณเกือบ 3 ล้านบาท )  ทำให้ระบบเตือนภัยเดิมยังไม่ได้รับการยกระดับ 

                    หลุยส์ คอมฟอร์ต ผู้เชี่ยวชาญจัดการภัยพิบัติมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก กล่าวว่า น่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ ขณะมีเครือข่ายตรวจจับออกแบบอย่างดีที่อาจให้ข้อมูลสำคัญได้ 

 

ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ทุ่นตรวจวัดคลื่นใช้การไม่ได้ 

                    ในปี 2559 แผ่นดินไหวนอกเกาะสุมาตรา เขย่าเมืองชายฝั่งปาดัง เผยให้เห็นความจริง ทุ่นลอย ที่แต่ละทุ่นราคาหลายหมื่นดอลลาร์ ไม่ทำงาน ด้วยเหตุว่ามีคนทำให้เสียหายหรือขโมย ตลอดจนเพราะขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา

 

เผยทุ่นลอยสึนามินอกสุลาเวสีเสียมานาน 6 ปี

                    ด้าน ฮาร์คุนติ พี ราฮายู ผู้เชี่ยวชาญสถาบันเทคโนโลยีบันดุง ชี้ว่า ไฟดับหลังแผ่นดินไหวก็กระทบระบบเตือนภัยด้วย เช่น ไซเรนที่เตือนให้ชาวบ้านอพยพ ใช้งานไม่ได้ “คนส่วนใหญ่ช็อกจากแผ่นดินไหวอยู่ และไม่ได้คิดว่าสึนามิกำลังจะมา” 

                    แม้ว่าการตัดสินใจของบีเอ็มเคจี ในการยกเลิกประกาศเตือนภัยเร็วเกินไป ถูกวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ แต่อดัม สวิตเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญสึนามิ สถาบันสังเกตการณ์โลกของสิงคโปร์ กล่าวว่า ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่หากโยนบาปให้หน่วยงานนี้อย่างเดียว เพราะด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โมเดลเตือนสึนามิที่เรามีอยู่อาจจะง่ายเกินไป ไม่ได้คำนึงปรากฏการณ์หลายอย่างประกอบ แผ่นดินไหวหลายครั้งในเวลาอันสั้น หรือดินถล่มใต้ทะเล กระนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกหลังแผ่นดินไหวในพื้นที่ชายฝั่ง คือควรอพยพขึ้นไปบนที่สูงสักสองสามชั่วโมง ไม่ว่าจะใช้ระบบเตือนภัยแบบไหน 

 

เผยทุ่นลอยสึนามินอกสุลาเวสีเสียมานาน 6 ปี

                    อัดนาน ฟัดจาร์ ชาวเมืองปาลู บอกสำนักข่าวเอบีซีของออสเตรเลียว่า ครอบครัวของเขาอยู่ห่างจากชายฝั่ง 5 ก.ม. หลังแผ่นดินไหว มีรถประกาศให้ชาวบ้านเฝ้าระวังหลังแผ่นดินไหว พวกเขาบอกว่า ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะไม่มีสึนามิ แต่ไม่นาน ฝูงชนพากันวิ่งตรงมาและตะโกนว่า สึนามิ สึนามิ!  ครอบครัวของเขาโชคดีเพราะหนีขึ้นที่อยู่ได้ทันโดยรถยนต์

                    เกวิน ซุลลิแวน นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยโคเวนทรี ที่ทำงานในโครงการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติในเมืองบันดุง  กล่าวว่า หลายคนไม่เชื่อว่าระบบเตือนสึนามิ จำเป็นมาก หลายคนไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรหลังมีข้อความเตือน การเห็นคนยังเตร็ดเตร่อยู่ใกล้ชายฝั่งเมืองปาลู ขณะมองเห็นคลื่นกำลังเคลื่อนตัวเข้ามา สะท้อนว่าไม่ได้ซึมซับบทเรียนจากภัยพิบัติคราวก่อน “ประเด็นอยู่ที่ความล้มเหลวในการอบรม และสร้างความเชื่อมั่นจนประชาชนตระหนักว่าต้องทำอย่างไรเวลาออกประกาศเตือน” 

 

                    ซึ่งนูโกรโฮ จากสำนักงานภัยพิบัติแห่งชาติ เห็นด้วยในเรื่องที่ประชาชนยังขาดความเข้าใจ สึนามิเกิดบ่อยและอาจก่อความสูญเสียในชีวิตอย่างมากมาย แต่ทัศนคติและการตระหนักต่อภัยธรรมชาติลักษณะนี้ของประชาชนยังน้อยอยู่มาก 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ