ข่าว

จับสัญญาณสหรัฐทบทวนนโยบายจีนเดียว-สัมพันธ์ไต้หวัน  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิเคราะห์ชี้สัญญาณบ่งว่ารัฐบาลทรัมป์อาจกำลังทบทวนนโยบายจีนเดียว ท่ามกลางความตึงเครียดสงครามการค้าวอชิงตันกับปักกิ่ง

 

                    สำนักข่าวไต้หวัน นิวส์ อ้างบทความของ มาร์วิน ออต นักวิจัยสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ (เอฟพีอาร์อ)  “U.S.-China Competition and the Taiwan Tripwire” เผยแพร่บนเวบไซต์สถาบัน เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ว่าไต้หวันอาจเป็นเวทีหลักในการตัดสินอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา 

 

                    นักวิจัยชี้ว่า ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ภูมิศาสตร์และประชาธิปไตยของไต้หวัน ทำให้วอชิงตันไม่อาจเพิกเฉยความสัมพันธ์ล่อแหลมระหว่างไต้หวันกับจีนไปได้ และมีความเป็นไปได้ว่า การปฏิเสธ”นโยบายจีนเดียว”แบบเดิม กำลังถูกพิจารณาอยู่หลังฉาก เมื่อพิจารณาจากท่าทีใหม่ๆของวอชิงตันในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่มีต่อจีน 

                    การเรียกจีนอย่างเปิดเผยว่า เป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนท่าทีที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน อย่างกระทรวงต่างประเทศสหรัฐตำหนิสามประเทศในอเมริกากลาง ปานามา สาธารณรัฐโดมินิกัน และเอลซัลวาดอร์ ที่เลิกรับรองไต้หวันทางการทูต และสมาชิกวุฒิสภาเสนอร่างกฎหมายให้กระทรวงต่างประเทศ มีอำนาจลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศที่ตัดสัมพันธ์ไต้หวัน หันไปรับรองจีน


                    ยังไม่นับรวมถึงหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งแล้วโทรศัพท์หาประธานาธิบีไช่ อิง เหวิน ของไต้หวันในปี 2559 กับการผ่านกฎหมายว่าด้วยการเดินทางไต้หวัน ( Taiwan Travel Act )เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เพื่อส่งเสริมการเดินทางเยือนในทุกระดับ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงไต้หวันด้วย ล้วนเป็นสัญญาณว่า นโยบายจีนเดียว ในสายตาของรัฐบาลวอชิงตัน อาจถูกตีความเป็นอื่นได้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่จะทำให้ปักกิ่งไม่พอใจมาก  


                    เบื้องหลังความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความดุเดือดและปรากฎชัด ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจยืดเยื้อเป็น 10 ปีหรือนานกว่านั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าไต้หวันจะขยับมาเป็นศูนย์กลางในสนามช่วงชิงอนาคตของเอเชียอีกครั้งหนึ่ง 


                    ล่าสุด เมื่อวานนี้ รัฐบาลทรัมป์ ยังได้อนุมัติการขายอะไหล่เครื่องบินรบ รวมถึงเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และเครื่องบินลำเลียง ซี-130 รวมมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไต้หวัน โดยกระทรวงกลาโหมระบุว่า การขายอาวุธนี้จะช่วยส่งเสริมมนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐ ด้วยการช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการป้องกันดินแดนของผู้รับ  


                    รัฐสภามีเวลา 30 วันในการคัดค้านข้อตกลงซื้อขาย แต่คาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงกลาโหมเชื่อว่าไต้หวันจะยังเป็นกองกำลังสำคัญสำหรับเสถียรภาพการเมือง ดุลทางทหารและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาค 


                    การประกาศอนุมัติขายอาวุธที่คาดว่าจะทำให้รัฐบาลปักกิ่งไม่พอใจ ยังมีขึ้นในวันเดียวกับที่มาตรการเก็บภาษีสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 2.5 แสนดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ