ข่าว

เริ่มเอาไม่อยู่!เชื้อดื้อยาต้านฤทธิ์แอลกอฮอล์ล้างมือในรพ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แอลกอฮอล์ล้างมือที่เคยใช้คุมซูเปอร์บักแพร่ในโรงพยาบาล เริ่มฆ่าไม่ตายทันทีกับเชื้อดื้อยาบางชนิด



                            ผลการศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียพบว่า Enterococcus faecium เชื้อแบคทีเรียดื้อยาแวนโคไมซิน หรือ วีอาร์อี มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และเริ่มต้านทานน้ำยาล้างมือแบบแอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อที่เคยใช้ควบคุมได้ 


                            ผลศึกษาที่นักวิจัยใช้คำว่า “คลื่นลูกใหม่ของซูเปอร์บัก” ตีพิมพ์ในวารการแพทย์ ไซแอนซ์ ทรานสเลชันแนล เมดิซีน ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 


                            เชื้อวีอาร์อี มักตรวจพบในลำไส้ เป็นสาเหตุการติดเชื้อในท่อปัสสาวะ บาดแผลและในกระแสเลือด ที่ขึ้นชื่อว่ารักษายาก  เนื่องจากดื้อยาปฏิชีวนะหลายขนาน 


                            การถูและล้างมือด้วยไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นหลักปฏิบัติทั่วโลก เพื่อลดการแพร่ซูเปอร์บักในโรงพยาบาล อย่างเชื้อ วีอาร์อี และเอ็มอาร์เอสเอ ( Staphylococcus aureus แบคทีเรียต้านยาเมทิซิลลิน)

                            ทิม สไตเนียร์ นักจุลชีวะ สถาบันโดเฮอร์ตี ในออสเตรเลีย ผู้นำทีมวิจัย กล่าวว่า เฉพาะในออสเตรเลีย การรักษาความสะอาดมือโดยใช้แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 10 เท่าในรอบ 20 ปี แต่ขณะที่อัตราติดเชื้อ MRSA และเชื้ออื่นๆทรงตัว อัตราติดเชื้อวีอาร์อี กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทีมวิจัยจึงหาคำตอบว่า เชื้อวีอาร์อีต้านทานแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อหรือไม่ โดยสุ่มตัวอย่างเชื้อแบคทีเรีย 139 ตัวอย่างช่วงปี 2540-2558 จากโรงพยาบาล 2 แห่งในนครเมลเบิร์น และศึกษาว่าเชื้อรอดได้อย่างไรเมื่อเจอไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 


                            ผลศึกษาพบว่า ตัวอย่างเชื้อวีอาร์อี ที่เก็บมาศึกษาหลังปี 2552 มีฤทธิ์ทานทนต่อแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อมากกว่า เมื่อเทียบกับตัวอย่างแบคทีเรียก่อนปี 2547 จากนั้น นักวิจัยกระจายเชื้อแบคทีเรียบนพื้นกรงหนู และใช้ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด พบว่าตัวอย่างแบคทีเรียต้านแอลฮอล์ฆ่าเชื้อ  มีแนวโน้มเข้าไปและเติบโตในทางลำไส้หนูได้ 

                            การทานทน หมายความว่า แบคทีเรียมีชีวิตอยู่นานขึ้นหลังถูกแอลกอฮอล์ และระยะเวลาที่ยืดออกไปนี้ มากพอทำให้ติดเชื้อได้  

                            แต่ถึงอย่างนั้น นักวิจัยกล่าวว่า ไม่แนะนำให้เปลี่ยนรูปแบบการใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแบบหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งนี้เป็นเสาหลักของการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลมานาน และยังคงประสิทธิภาพลดแพร่เชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลในระดับสูงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ MSRA แต่ทางการสาธารณสุขควรพยายามใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์เข้มข้นขึ้น และแยกผู้ป่วยติดเชื้อวีอาร์อี 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ