ข่าว

ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 


                            ผ่านไปนานกว่า 20 ปีจนโลกแทบจะลืมชื่อและชะตากรรมของของโชโก อะซาฮารา หรือชิโอะ มัตสึโมโตะ เจ้าลัทธิโอมชินริเกียว หรือปรมัตถ์สัจจะ ผู้บงการให้สาวกเปิดฉากโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวด้วยก๊าซพิษซาริน เมื่อเดือนมีนาคม 2538 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บมากกว่า 6,200 คน

 

                            ตลอดช่วงหลังจากนั้นอีก 2-3 เดือนสาวกของโอม ชินริเกียวซึ่งเชื่อในเรื่องวันโลกาวินาศ รวมทั้งการจะเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้พยายามก่อเหตุในสถานีรถไฟอีกหลายแห่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ รวมทั้งก่อเหตุอื่นๆ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 29 ราย นำไปสู่การจับกุมทั้งเจ้าลัทธิมรณะและสาวกรวม 13 คน มีการนำตัวขึ้นศาลพิจารณาความผิดในข้อหาต่างๆ กระทั่งศาลสูงสุดได้พิพากษายืนให้ประหารมัตสึโมโตะและสาวกอีก 6 คน

                            จากนั้น ข่าวคราวของอาซาฮาระและสาวกเริ่มเงียบหาย รู้แต่เพียงว่าลัทธินี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เอลป์” โดยยังคงปฏิบัติตามคำสอนเดิมจนถึงปัจจุบัน

 

 ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

 

                            กระทั่งจู่ๆมีข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งปรากฎขึ้นในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 6 ก.ค.ว่าทางการได้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคออาซาฮาระแล้ว นับเป็นนักโทษคนแรกในจำนวน 13 คนที่ถูกประหาร หลังจากนั้นไม่นานนักก็ประหารชีวิตสาวกอีก 6 คน ในจำนวนนี้รวมถึงโยฮิเด ฮายากาวะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการก่อสร้าง

                            จากนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงค่อยแถลงยืนยันการประหารชีวิตเจ้าลัทธิและสาวกโอมชินริเกียวทั้ง 7 คน พร้อมกับให้เหตุผลถึงเหตุที่การลากยาวการประหารชีวิตนานถึง 23 ปีว่าเป็นเพราะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนต่อสู้คดีจนถึงชั้นสุดท้ายคือศาลฎีกา ซึ่งเพิ่งตัดสินเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยืนคำพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอทุกคน

 

 

                             ก่อนหน้าจะถูกแขวนคอเจ้าตัวแสดงความประสงค์จะมอบศพให้ลูกสาวคนที่สี่ ซึ่งประกาศตัวเมื่อปลายปี 2560 ว่าได้ละทิ้งความเชื่อมั่นในลัทธินี้ และตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับครอบครัวรวมทั้งสาวกที่นับถือลัทธินี้ แต่ลูกสาวนอกคอกคนนั้นประกาศว่าไม่ประสงค์จะเก็บกระดูกของพ่อไว้ รวมทั้งจะไม่มอบให้กับบรรดาสาวกที่ต้องการเก็บไว้แทนเพื่อให้เป็นที่พึ่งจิตใจ สุดท้ายกระทรวงยุติธรรมได้ยุติข้อพิพาทด้วยการให้เก็บกระดูกไว้ในเรือนจำแทน

                            เรียกได้ว่าถึงตัวจะตายแล้ว แต่วิญญาณยังคงถูกจองจำในคุกต่อไป

                            ขณะเดียวกัน สื่อหลายสื่อได้วิเคราะห์ว่าการตายของอาซาฮาะ ได้ทิ้งปมปริศนาไว้หลายปมที่ไม่มีวันได้รับการเฉลยคำตอบตลอดชั่วนิจนิรันดร์ หนึ่งในปริศนาลึกลับก็คือ เจ้าตัวเป็นบ้าจริงหรือไม่หรือเสแสร้งแกล้งทำหมายจะหลุดพ้นโทษประหารชีวิต

 

 ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

 

                            สำนักข่าวหลายแห่งเริ่มลำดับเหตุการณ์หมายจะหาคำตอบให้ได้ แต่สุดท้ายก็ยังไร้ซึ่งคำเฉลยใดๆ เริ่มตั้งแต่ตอนที่อาซาฮาระ ให้การครั้งแรกต่อศาลชั้นต้นในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2539 ว่า”ผมชื่อโชโก อาซาฮาระ แต่ผมสละชื่อนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว “ก่อนจะเสริมว่าชื่อตามกฎหมายก็คือชิซูโอะ มัตสึโมโตะ พร้อมกับยอมรับว่า “ผมเป็นผู้นำโอม ชินริเกียว”

                            นี่คือขั้นตอนแรกของกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งต้องใช้เวลาในการไต่สวนถึง 257 ครั้ง กินเวลานานถึง 7 ปี 10 เดือน ในตอนแรก เจ้าลัทธิปรมัตถ์สัจจะแสดงท่าทีให้เห็นว่ากระตือรือล้นเข้าร่วมการหารือกับทีมทนายความเกี่ยวกับการให้ปากคำของตัวเอง แต่ท่าทีนี้เริ่มเปลี่ยนไประหว่างการสอบปากคำครั้งที่ 8 ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ตอนที่สาวกโอมชินริเกียวไปให้การในฐานะพยานและสารภาพกับศาลว่าได้ก่ออาชญากรรมขึ้นตามคำสั่งของมัตสึโมโตะ

 

 ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

(โยชิฮิโร อินูเอะ)

 

                            ระหว่างการไต่สวนครั้งที่ 13 ในเดือนตุลาคม มัตสึโมโตะได้เรียกร้องไม่ให้ตรวจสอบคำให้การของโยชิฮิโร อินูเอะ สาวกคนหนึ่งเกี่ยวกับการวางแผนโจมตีระบบรถไฟใต้ดินด้วยก๊าซพิษซาริน จากนั้นก็เริ่มพล่ามแถลงย้ำแถลงการณ์ดังกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็นไปไม่ได้ กระทั่งศาลต้องสั่งยกเลิกการไต่สวนกลางคันครั้งแล้วครั้งเล่า

 

 ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

 

                           การไต่สวนครั้งที่ 34 ในเดือนเม.ย. 2540 มัตสึโมโตะได้ยืนให้การเกี่ยวกับคดีที่ถูกฟ้อง 17 คดี ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าลัทธินี้เกี่ยวข้องในทุกข้อกล่าวหา แต่ปฏิเสธว่าตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคลไม่ได้เกี่ยวข้องใน 16 ข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่า ”ผมสั่งสาวกให้ยุติการโจมตีด้วยก๊าซซาริน” และก็กล่าวต่อว่า ”ผมพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย “ จากนั้น ก็พูดภาษาอังกฤษอีก 2-3 ประโยค ก่อนจะลากยาวคำให้การระหว่างการไต่สวนถึงเกือบ 3 ชั่วโมง แล้วปุบปับก็เปลี่ยนไปไม่ให้ความสนใจกับการไต่สวนอีกต่อไป

                            ระหว่างการไต่สวนจากเดือน มี.ค.-เม.ย.2546 ครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อต่างเรียกร้องให้ประหารเจ้าลัทธิโอมชินริเกียว ด้วยอารมณ์และคารมที่พลุกพล่านด้วยความโกรธ แต่มัตสึโมโตะกลับทำท่าหาวด้วยความเบื่อหน่ายหลายครั้งหรือบางครั้งก็ทำทีเหมือนกับงีบหลับ เมื่อกระบวนการไต่สวนมาถึงช่วงท้ายๆในครั้งที่ 256 ซึ่งจะมีการปิดการสอบปากคำ เขาถึงกับนิ่งเงียบ

                            กระทั่งศาลได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 กพ.2547 ให้ประหารชีวิต  การเคลื่อนไหวเดียวของมัตสึโมโตะก็คือยืนก้มหน้า ขณะมือซ้ายกำจนแน่น เมื่อผู้พิพากษาอธิบายถึงกระบวนการยื่นอุทธรณ์ เขาแค่ส่ายหน้าเล็กน้อยเหมือนกับจะบอกว่าไม่อุทธรณ์ พร้อมกับกระซิบพูดกับตัวเองเบาๆ

 

 

 ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

 

                           แหล่งข่าวในกระทรวงยุติธรรมเผยว่าระหว่างถูกขังเดี่ยวรอการประหารชีวิตซึ่งต้องรอนานถึง 23 ปี มัตสึโมโตะจะนั่งเงียบเฉย ไม่ตอบรับใดๆแม้ยามที่อยู่หน้าห้องขังจะบอกว่ามีคนมาเยี่ยม เพียงแต่ยังกินอาหารเองได้และเดินไปรอบๆห้องขังในบางครั้ง หรือพูดพึมพัมกับตัวเอง เวลาจะอาบน้ำต้องมีคนคอยช่วย

                            ในกระบวนการพิจารณาคดีอาญามีอยู่ข้อหนึ่งระบุว่ารัฐมนตรียุติธรรมอาจจะสั่งให้ระงับโทษประหารชีวิตถ้าหากพบว่านักโทษมีอาการป่วยทางจิตหรือเป็นบ้า ตอนแรกหลายคนเชื่อว่ามัตสึโมโตะจะใช้ช่องโหว่ตรงนี้มาเป็นประโยชน์เพื่อให้รอดพ้นโทษประหารชีวิต จึงแสร้งแสดงอาการต่างๆเหมือนคนสติไม่ดี แต่แหล่งข่าวในกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่ารัฐมนตรียุติธรรมไม่เคยพิจารณาจะลดโทษประหารชีวิตให้เพราะยังมองว่าเขาเป็นคนปรกติ เนื่องจากยังสามารถพูดคุยกับคนที่มาเยี่ยม หรือยังสามารถออกกำลังกายและอาบน้ำเหมือนคนปรกติ “แพทย์จะไปตรวจสุขภาพอาซาฮาราเป็นประจำและเขียนใบรับนรองว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใดหากจะประหารชีวิตเขา”

                            ปัญหาทางจิตของอาซาฮาราเป็นที่ถกเถียงกันมานานแม้กระทั่งก่อนที่ศาลสูงสุดจะตัดสินยืนคำพิพากษาให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษาของศาลโตเกียวเมื่อเดือนกพ.2547 และทนายความของเขาไม่ยื่นอุทธรณ์อ้างว่าไม่สามารถจะสื่อสารกับลูกความได้

 

 ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

 

                            แต่แล้วทนายความของมัตซึโมโตะกลับเรียกร้องให้ยุติการพิจารณาคดีนี้อ้างว่าเจ้าตัวไม่แข็งแรงพอที่จะถูกนำตัวไปพิจารณาคดีได้ แต่ศาลสูงโตเกียวได้ตัดสินเมื่อเดือนมี.ค.2549 ยกคำอุทธรณ์ให้ยกโทษประหารชีวิต โดยให้เหตุผลว่ าทั้งผู้ต้องหาและทนายความไม่ได้ยื่นเรื่องของอุทธรณ์ ศาลสูงจึงเชื่อว่าอาซาฮารา แข็งแรงพอที่จะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีโดยดูจากผลการตรวจและประเมินสุขภาพจิตที่มีขึ้นตามคำสั่งศาล

                             อาศัยความจริงที่ว่ามัตสึโมโตะมักจะม่อยหลับและออกแถลงการณ์เป็นช่วงๆระหว่างดำเนินดคี ศาลอุทธรณ์จึงเชื่อว่าเจ้าตัวแสร้งทำตัวว่าไม่สมควรจะดำเนินคดีต่อไป เพราะเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าศาลจะต้องพิพากษาให้ประหารชีวิต พร้อมกับย้ำว่ามัตสึโมโตะได้ตะโกนว่า”ทำไม”พร้อมกับสบถคำหยาบในห้องขังเมื่อรู้ว่าต้องโทษประหารชีวิต “เห็นได้ชัดว่าเขารู้เรื่องโทษประหารชีวิต แต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าเขาเริ่มมีอาการป่วยทางจิตจากผลการถูกกักขังหรือไม่” ศาลสูงโตเกียวได้พิพากษาระหว่างแถลงไม่รับคำอุทธรณ์ที่ขอให้ไม่ต้องโทษประหารชีวิต

 

 ปริศนาการแขวนคอเจ้าลัทธิ"โอมชินริเกียว"

.                            ขณะเดียวกัน ลูกสาวคนที่ 2 ของมัตสึโมโตะและคนอื่นๆได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลและพรรคต่างๆ อ้างว่ามัตสึโมโตะไม่ได้รับการดูแลให้ดีเท่าที่ควรทั้งๆที่เห็นว่าเขามีอาการป่วยทางจิตจากการถูกคุมขัง แต่ศาลโตเกียวตัดสินเมื่อปี 2552 ไม่รับคำฟ้องนี้ อ้างว่าโจทย์ไม่ได้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือได้ ว่ามัตสึโมโตะมีพฤติกรรมที่เรียกว่าเป็น“โรคจิตในเรือนจำ”อันเป็นกลุ่มอาการที่แสดงออกถึงความเครียดหรือความกลัว หรือความสับสนหวังจะเรียกร้องความเมตตาหรือความสงสาร จากสังคม แต่ศาลโตเกียวได้ยกคำฟ้องนี้เมื่อกลางปี 2552 ยืนยันว่ามัตสึโมโตะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากแพทย์ และศาลสูงสุดได้ยืนคำตัดสินนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ