
หวั่นนักโทษตายทรมาน-เนวาดาประหารครั้งแรกใน12ปี
หวั่นนักโทษตายทรมานจากยา 4 ขนานร่วมที่ยังไม่เคยนำมาใช้ประหารมาก่อน
รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา กำหนดวันประหารชีวิต สก็อต เรย์มอนด์ โดซีเออร์ นักโทษที่อยู่ในแดนประหารมานานกว่า 10 ปี ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่ล่าช้ามานานด้วยเหตุผลด้านจริยธรรมจากยาที่จะนำมาใช้
การประหารชีวิตมักถูกองค์กรพิทักษ์สิทธิ์ประท้วงว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชนเสมอ แต่ในกรณีนี้ ความสนใจพุ่งไปที่ค็อกเทลยาใหม่ หรือยาหลายขนานร่วม ที่ยังไม่เคยใช้ในการประหารมาก่อน
ครั้งหลังสุดที่เรือนจำเนวาดาประหารนักโทษเกิดขึ้นในปี 2549 หนึ่งปีก่อนที่โดซีเออร์ จะถูกส่งเข้าไปอยู่ในแดนประหาร จากความผิดฐานฆาตกรรมเหยื่อสองรายอย่างโหดเหี้ยม
( สก็อตต์ โดซีเออร์ ยื่นหนังสือร้องขอประหารชีวิตต่อศาลเมื่อตุลาคม 2559 )
เมื่อสองปีที่แล้ว นักโทษวัย 47 ถอนอุทธรณ์คดี และให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาสมควรตายมากกว่าใช้เวลาอยู่ในคุก และตั้งตารอวันนั้น แต่ติดที่ไม่มียาประหาร กระทั่งเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว รัฐเนวาดาประกาศว่าจะใช้ยา 4 ขนานร่วม รวมถึง เฟนทานิล ยาระงับปวดประสิทธิภาพสูงในกลุ่มโอปิออยด์ ซึ่งเป็นตัวการหลักในวิกฤติยาเสพติดโอปิออยด์ในสหรัฐในปัจจุบัน
แม้ไม่มีความชัดเจนว่า ยาจะออกฤทธิ์รวมกันอย่างไร แต่โดซีเออร์กำลังจะเป็นคนแรกในสหรัฐที่ถูกประหารค็อกเทลยาใหม่
เวบไซต์ motherjones ระบุว่าในการประหารโดซีเออร์นั้น เจ้าหน้าที่จะใช้ยานอนหลับ ไดอะซีแพม (แวเลียม)ก่อน ตามด้วยเฟนทานิล เพื่อให้หมดสติ จากนั้น ฉีดยาหย่อนกล้ามเนื้อ cisatracurium ทำให้นักโทษเป็นอัมพาต และสุดท้าย โปแตสเซียมคลอไรด์ เพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ แต่หากยาสองขนานแรกไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจ อาการอัมพาตจากยา cisatracurium จะทำให้โดซีเออร์ขยับ หรือพูดไม่ได้เพื่อแสดงออกถึงความเจ็บปวด
การเลือกใช้เฟนทานิล เนื่องจากยาฉีดเดิมที่เคยใช้ หายากขึ้น หลังจากผู้ผลิตและจำหน่ายเริ่มไม่ขายห้กับเรือนจำที่จะนำไปใช้เป็นยาประหาร
( YouTube/Las Vegas Review-Journal )
เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ศาลในลาสเวกัส เคยยับยั้งการประหารโดซีเออร์ ตามคำร้องของสหภาพเสรีภาพพลเรือนอเมริกัน (เอซีแอลยู) ที่แย้งว่า นักโทษรายนี้อาจเจ็บปวดแสนสาหัสก่อนตาย เพราะยาที่ทำให้เป็นอัมพาต อาจทำให้ไม่รู้ว่านักโทษเจ็บปวดทรมาน พร้อมชี้ว่าในรัฐเนวาดา ก็ห้ามใช้ยา cisatracurium ในการการุณยฆาตสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ดี โดซีเออร์ ไม่สนใจว่าการประหารจะทำให้เขาทรมานหรือไม่ และพร้อมจะเผชิญประสบการณ์เจ็บปวดเหมือนกับที่เขากระทำกับพ่อแม่ของเหยื่อ
โดซีเออร์มีความผิดฐานฆาตกรรมเพื่อนพ่อค้ายาเสพติดในปี 2545 จากปมหนี้สิน 1.2 หมื่นดอลลาร์ ก่อนหั่นศพยัดใส่กระเป๋าเดินทาง ซึ่งเขากล่าวว่าไม่รู้สึกผิดที่ฆ่าเหยื่อแต่เสียใจที่ทำให้พ่อแม่ของอีกฝ่ายต้องทุกข์ทรมาน นอกจากนี้ โดซีเออร์ยังมีความผิดฐานฆาตกรรมเหยื่ออีกรายวัย 26 ทิ้งศพไว้ในถังพลาสติก