ข่าว

เจาะใจ"เซร์จิโอ โมโร" ทนายมือปราบนักการเมืองขี้ฉ้อบราซิล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

                                        จากไทยแลนด์แดนแค่นยิ้มที่อดีตนายกฯสองพี่น้องรวมทั้งนักการเมืองอีกหลายคนถูกฟ้องในคดีโคตรโกง สู่คดีทุจริต 1 เอ็มดีบีในแดนเสือเหลืองมาเลเซียที่อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ตกเป็นผู้ต้องหาสำคัญ สู่คดีการทุจริตคอรัปชั่นและติดสินบนครั้งใหญ่สุดในโลก

 

                                        ที่แดนแซมบาบราซิลโดยมีอดีตประธานาธิบดีราว 5 -6 คนและนักการเมืองระดับประเทศและระดับท้องถิ่นหลายร้อยคนตกเป็นผู้ต้องหาสำคัญ กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้ากฎหมายอ่อนแอ แต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการและผู้พิพากษาเข้มแข็ง มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง แล้วก็สามารถกระชากตัวคนผิดมาลงโทษได้ดีกว่าประเทศที่มีกฎหมายเข้มแข็งแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายกลับย่อหย่อน

 

เจาะใจ"เซร์จิโอ โมโร" ทนายมือปราบนักการเมืองขี้ฉ้อบราซิล

 

                                       เซร์จิโอ โมโร อาจจะเป็นชื่อที่คนทั่วโลกไม่รู้จักว่าเป็นใคร สำคัญอย่างไร แต่สำหรับชาวเมืองแซมบาบราซิลแล้ว ชื่อนี้เหมือนกับชื่อของพระกาฬที่นักการเมืองและนักธุรกิจที่โกงบ้านโกงเมืองต่างหัวหดในฐานะมือปราบนักการเมืองโคตรโกงมาลงโทษ ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และตรงไปตรงมา ถึงขนาดทำสติกเกอร์ท้ายรถมีข้อความว่า “พวกเราทุกคนคือเซร์จิโอ โมโร”

 

                                       ทั้งๆที่เป็นแค่ผู้พิพากษาหนุ่มใหญ่วัย 45 ปีประจำเมืองคูริติบา เมืองเล็กๆทางใต้ของบราซิล แต่เขาก็สามารถกระชากตัวนักการเมืองระดับบนสุดถึงล่างสุด รวมทั้งประธานาธิบดีทั้งอดีตและปัจจุบัน สมาชิกรัฐสภารวมแล้วกว่า 100 คนที่เกี่ยวพันกับคดีลาวา ฮาโตหรือคดีล้างรถ หรือคดีการทุจริตและรับสินบนจากเปโตรบราส รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดและจากบริษัทโอเดเบรทชต์ บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในละตินอเมริกา มาเข้าคุกคิดรวมกันแล้วนานถึง 1,600 ปีตลอดช่วง 4 ปีท่านมา

 

                                       ความเป็นคนตรงดุจไม้บรรทัด นอกจากจะมีคนรักดุจผืนหนังแล้ว ก็มีคนชังดุจผืนเสื่อเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจที่เสียโอกาสกอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งต่างประนามเขาว่าเป็นยักษ์เป็นมารกรณีตัดสินเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ให้จำคุกอดีตประธานาธิบดีขวัญใจคนจน ลูอีส ลูลา ดา ซิลวา แต่โมโรก็ตอบกลับอย่างไม่ยี่หระว่า “ผมชอบเป็นคนแรก”

 

เจาะใจ"เซร์จิโอ โมโร" ทนายมือปราบนักการเมืองขี้ฉ้อบราซิล

 

                                       กระนั้น โมโรก็เรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าจะเป็นวีรบุรุษเพียงคนเดียวไม่ได้ ทุกอย่างยังต้องขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาคนอื่นๆ รวมทั้งอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดี”ล้างรถ” เจ้าตัวยอมรับว่า”บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้จะทำอะไรโดยใช้อารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่ ซึ่งในระดับหนึ่งแล้วถือว่าไม่สมควร เนื่องจากหัวใจของเรื่องก็คือการทำเพื่อสถาบัน” ก่อนจะย้ำว่า “ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่ปานใดก็ตาม เมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจน พวกคุณก็ต้องถูกลงโทษ

    


                                      ด้วยหลักการนี้ทำให้ไม่มีใครสงสัยว่าทำไมผู้พิพากษาจากเมืองเล็กๆจึงมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของประเทศ แถมยังส่งผลกระทบไปทั่วละตินอเมริกา เริ่มต้นจากการสอบสวนพ่อค้าเงินในตลาดมืดแล้วค่อยๆขยายวงไปสู่กระบวนการติดสินบนครั้งมโหฬารครอบคลุมไปถึงพรรคการเมืองใหญ่ๆ และยิ่งสาวลึกมากขึ้นเมื่อบริษัทโอเดเบรทชต์ บริษัทก่อสร้างใหญ่สุดของบราซิลสารภาพว่าได้ใช้เงินเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ในการติดสินบนนักการเมืองใน 12 ประเทศ

 

                                       ผลการสอบสวน ทำให้ประธานาธิบดีเปโดร พาโบล คุกซินสกีแห่งเปรูต้องประกาศลาออกเมื่อเดือนมีค.ที่ผ่านมา

 

เจาะใจ"เซร์จิโอ โมโร" ทนายมือปราบนักการเมืองขี้ฉ้อบราซิล


                                      เมื่อเดือนเม.ย.นี้ โมโรตัดสินให้อดีตประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา เข้าคุกทันทีที่ศาลสูงสุดไม่รับฎีกาที่ลูลา ดา ซิลวาขอให้กลับคำตัดสินของโมโรที่ให้จำคุก 12 ปี ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 เปาบุ้นจิ้นแห่งแดนแซมบาได้ตัดสินให้จำคุกมาร์เซโล โอเดเบรชต์ ประธานบริษัทของกลุ่มธุรกิจครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลเป็นเวลา 19 ปี

 

                                      เซอร์จิโอ โมโร เกิดและโตที่รัฐปารานา ซึ่งเป็นรัฐเกษตรกรรมทางภาคใต้ก่อนจะไปเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐ ก่อนจะกลับมาเป็นผู้พิพากษาท้องถิ่นเล็กๆแล้วสร้างชื่อโด่งดังจากการเป็นคนตรงและมือสะอาด ด้วยความหวังว่าถ้าบ้านเมืองปราศจากคนโกงกินเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความเข้มแข็ง เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเอง พลอยทำให้อนาคตของประเทศนี้สดใสมากขึ้นเช่นกัน


                                      แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความฝันอันสูงสุด ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อใดจึงจะกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ตราบใดที่ยังไม่เร่งแก้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น เร่งปฏิรูปการเมืองแบบถอนรากถอนโคน ด้วยการยกเครื่องทั้งระบบตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการเงิน การจำกัดพรรคการเมืองที่มีมากมายเหลือคณานับ เพื่อจะลดปัญหาการแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน การยกเลิกสิทธิพิเศษแก่นักการเมือง ผู้พิพากษา นายกเทศมนตรี นายทหารรวมแล้วเกือบ 56,000 คนที่ไม่ต้องขึ้นศาลธรรมดาแบบประชาชนทั่วไป หากทำผิดก็ขึ้นศาลสูงสุดที่จะตัดสินชี้ขาดว่าผิดจริงหรือไม่

 

                                      ปัญหาก็คือกระบวนนี้ช้ายิ่งกว่าเรือเกลือเสียอีก ในทางปฏิบัติบ่อยครั้งหมายถึงพวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องรับโทษ ถึงแม้ว่าตอนนี้มีความพยายามที่จะลดขั้นตอนความล่าช้าต่างๆ จนท้ายที่สุดสามารถนำนักการเมืองที่โกงกินบ้านเมืองมาขึ้นศาลได้โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆและต้องถูกลงโทษทันที

 

เจาะใจ"เซร์จิโอ โมโร" ทนายมือปราบนักการเมืองขี้ฉ้อบราซิล

( ผู้สนับสนุน ชุมนุมให้กำลังอดีตประธานาธิบดีลูลา เมื่อ 7 พ.ค. /AFP)  

 


                                      อีกประเด็นหนึ่งที่โมโรมองว่าเป็นจุดอ่อนของบ้านเมืองก็คือ การเปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง อันเป็นต้นตอของการทุจริตคอรัปชั่นรวมไปถึงที่เปโตรบราส ผลการรณรงค์ของโมโรทำให้ท้ายสุด รัฐสภาได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งห้ามนักการเมืองทุกคนเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองยังคงอยู่เหนือกฎหมายอยู่ดี อันเนื่องมาจากระบบอุปถัมป์ที่ยังแข็งแกร่งอยู่มากในประเทศนี้


                                      ประเด็นสุดท้ายที่โมโรเรียกร้องก็คือการสอบสวนจะต้องไม่มีวันหมดอายุความ ตราบใดที่ยังมีหลักฐานใหม่ๆเข้ามา การสอบสวนก็จะต้องดำเนินต่อไป โดยทั้งผู้พิพากษาและอัยการไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


                                      “สิ่งที่ผมปรารถนาก็คือในอีก 10 ปีข้างหน้า การลงโทษผู้ที่มีความผิดในข้อหาทุจริตคอรัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอาวุโสหรือนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล จะเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยในบราซิล โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือการทะลายบรรทัดฐานของการได้รับการยกเว้นโทษ อย่างคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในอนาคตจะถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องจิ๊บจ๊อย ถ้าใครสักคนก่ออาชญากรรม เขาจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำไว้ ถ้าทำได้อย่างนี้ เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปตามปรกติ” โมโรย้ำ


                                      อย่างไรก็ดี นักการเมืองได้กล่าวหาเขากรณีเร่งนำตัวอดีตประธานาธิบดีลูลาเข้าคุก ว่าเพราะมีแรงจูงใจทางการเมือง หวังจะกลั่นแกล้งไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งกำหนดมีขึ้นในเดือนตค.นี้ แต่โมโรแย้งว่าศาลได้ปฏิบัติต่ออดีตนักการเมืองจากพรรคต่างๆอย่างเท่าเทียมเหมือนกันหมด ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิเหนือกว่าใคร

                                      “การตัดสินคดีต่างๆในศาลจะต้องโปร่งใสให้มากที่สุด ด้วยการรับฟังการไต่สวนและหาหลักฐานมายืนยันให้มากที่สุด ทุกหลักฐานมีการเปิดเผยให้ประชาชนทราบ ในความคิดของผม ไม่มีใครถูกฟ้องร้องอันเนื่องจากทัศนะทางการเมืองของพวกเขา”

 

เจาะใจ"เซร์จิโอ โมโร" ทนายมือปราบนักการเมืองขี้ฉ้อบราซิล


                                      แม้จะมีความคิดดี มีความจริงใจที่จะทำเพื่อชาติ แต่ทุกวันนี้ความคิดของโมโรยังล่องลอยไปกับสายลมเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่มีใครหยิบยกข้อเสนอแนะของเขาขึ้นสู่โต๊ะเจรจา ประธานาธิบดีมิเชล เทเมอร์ ซึ่งถูกส่งฟ้องเมื่อกลางปีที่แล้วในข้อหารับสินบน รวมไปถึงนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลอีกไม่ใช่น้อยในข้อหาก่ออาชญากรรมต่างตอบโต้กระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง

 

                                      เมื่อเร็วๆนี้เทเมอร์ได้ขอให้ศาลสูงสุดห้ามโรดริโด อาน็อต อธิบดีกรมอัยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมาสอบสวนตัวเองเพิ่มเติมอ้างว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง ขณะที่สมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งพยายามจะออกกฎหมายควบคุมผู้พิพากษามากขึ้น อ้างว่าผู้พิพากษาเหล่านั้นใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยการสั่งคุมขังก่อนหน้าการพิจารณาคดีและอาศัยแต่การต่อรองเพื่อให้รับสารภาพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ