ข่าว

จีนา แฮสเปล ผู้คุมคุกลับในไทยสู่ว่าที่ผอ.ซีไอเอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซีไอเอกำลังจะได้บอสใหม่เป็นผู้หญิงคนแรก ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ผลงานในอดีต

 

                    ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ปรับสองตำแหน่งสำคัญในสายความมั่นคงและการทูต ให้ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศหลังจากศรศิลป์ไม่กินกันหลายเรื่อง จากนั้น โยกไมค์ ปอมเปโอ จากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) มาเป็นนักการทูตหมายเลขหนึ่งแทน และตั้ง จีนา แฮสเปล จากรองผอ.ซีไอเอ ขึ้นเป็นผอ.คนใหม่ 

                    ด่านต่อไปหลังผู้นำสหรัฐเสนอแต่งตั้ง คือวุฒิสภาลงมติรับรอง ซึ่ง หากไม่มีอะไรพลิกผัน สหรัฐอเมริกาจะได้ผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับก้องโลก เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่ประเด็นไม่ใช่ความเป็นผู้หญิงคนแรก กลับเป็นผลงานด้านมืดของซีไอเอในยุคสงครามกวาดล้างก่อการร้ายพุ่งขีดสุด หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2554 และว่าที่ผอ.คนใหม่วัย 61 ปี มีส่วนเกี่ยวข้อง 

                    แฮสเปล ร่วมงานกับซีไอเอมาตั้งแต่ในปี 2528 ถือเป็นหญิงเก่งที่ประสบความสำเร็จในหน่วยงานที่มีแต่ผู้ชาย

                    ไม่มีเสียงโต้แย้งเรื่องความสามารถของธอ บรรดาอดีตสายลับซีไอเอและเอฟบีไอ ที่เคยร่วมงาน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอเป็นมืออาชีพ เด็ดขาด ไม่เข้าใครออกใครในทางการเมือง จัดการด้านความสัมพันธ์ยากๆกับหน่วยข่าวกรองต่างชาติได้ 

                    30 ปีในซีไอเอ เธอถูกส่งไปเป็นหัวหน้าหน่วยในหลายประเทศทั่วโลก เริ่มต้นจากหน่วยยุโรปกลาง ตุรกี เอเชียกลาง ก่อนกลับเป็นหัวหน้าหน่วยในนิวยอร์ก ปีเดียวกับที่ โอซามา บิน ลาเดน ถูกปลิดชีพ และได้ทำงานใกล้ชิดกับเอฟบีไอ คุ้ยข้อมูลต่างๆ ที่นำไปจากที่กบดานของอดีตหัวหน้าอัลไกดา

                    อีกคุณสมบัติที่ได้รับการยอมรับในแวดวงข่าวกรองสำหรับแฮสเปล คือความพร้อมในการรับตำแหน่งและภารกิจยากๆ ในปฏิบัติการลับ แต่ก็กลายเป็นปมสกัดดาวรุ่ง เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานหน่วยปฏิบัติการลับแห่งชาติ ในปี 2556 อยู่ได้ไม่นานก็ต้องตั้งคนอื่นมาแทน เพราะบทบาทในโครงการรีดความลับจากผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายหลังเหตุ 9/11 ตามหลอกหลอน

 

จีนา แฮสเปล ผู้คุมคุกลับในไทยสู่ว่าที่ผอ.ซีไอเอ

( นักเคลื่อนไหวสาธิตการทรมานด้วยวิธี วอเตอร์บอร์ดดิง ภาพ AFP ) 

 

                    แฮสเปลถูกส่งมากำกับดูแลคุกลับ หรือ แบล็ค ไซต์ ของซีไอเอ ในประเทศไทยปลายปี 2545 ซึ่งมีชื่อรหัสว่า “Cat’s Eye  เป็นคุกลับต่างแดนแห่งแรกของสหรัฐ ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา สั่งยกเลิกทั้งหมดเมื่อปี 2552 

                    ที่นี่ คือสถานที่ที่อาบู ซูไบดาห์ ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญที่ปากีสถานจับตัวได้ กับ อับด์ อัล ราฮีม อัล นาสฮีรี ผู้ต้องสงสัยอัลไกดาที่วางระเบิดเรือรบยูเอสเอสโคล ถูกเค้นข้อมูลด้วยวิธีการซ้อมทรมาน รวมถึงให้อดนอน จับกักบริเวณในกล่อง และโหดสุดคือวอเตอร์บอร์ดดิง หรือการใช้ผ้าคลุมหน้าเหยื่อแล้วเทน้ำลงไปเป็นระยะ ให้ทรมานเหมือนกับการจมน้ำ

                    นิวยอร์กไทมส์ รายงานก่อนหน้านี้ว่า ซูไบดาห์ถูกทรมานด้วยวิธีการวอเตอร์บอร์ดดิงถึง 83 ครั้งในเดือนเดียว และถูกจับโขกกำแพงหลายหนจนเกือบตาย เมื่อฟื้นขึ้นมาก็ถูกสอบปากคำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน อัล นาสฮีรี โดนกระดานน้ำ 3 รอบ ปัจจุบันยังถูกขังที่เรือนจำกวนตานาโม

                    ซีไอเอยืนกรานว่าทุกอย่างที่ทำลงไปไม่ผิดกฎหมาย ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐเวลานั้นอนุมัติ

                    การสอบปากคำและซ้อมทรมานถูกบันทึกเทปไว้ด้วย เทปทั้งหมด 92 ม้วนถูกเก็บไว้ในที่ปลอดภัย แต่ต่อมาในปี 2548 มีคำสั่งให้ทำลาย โดยในเอกสารมีชื่อของแฮสเปล ในฐานะผู้ดูแลโครงการทรมานอยู่ด้วย แต่อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอหลายคนกล่าวว่า โจเซ โรดริเกซ ผอ.ศูนย์ต้านก่อการร้ายของซีไอเอขณะนั้นเป็นคนสั่งให้แฮสเปล ที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาของโรดริเกซ ร่างคำสั่งอนุญาตทำลาย

                    กระทรวงยุติธรรมสั่งสอบสวนการทำลายวิดีโอ  สุดท้ายก็ไม่มีการแจ้งข้อหาใคร แต่เป็นอีกเรื่องอื้อฉาวที่แฮสเปลพัวพัน 

 

จีนา แฮสเปล ผู้คุมคุกลับในไทยสู่ว่าที่ผอ.ซีไอเอ
 

         

                 ผลงานในอดีตของเธอ ทำให้การประชุมคณะกรรมาธิการข่าวกรอง วุฒิสภา เพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติการแต่งตั้งหรือไม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เป็นที่จับตาอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่า เธอจะต้องถูกซักอย่างหนักว่า มีความคิดจะฟื้นวอเตอร์บอร์ดดิงกลับมาหรือไม่ และยังมีความเชื่ออยู่หรือไม่ว่า การซ้อมทรมานคือวิธีการที่ได้ผลในการรีดข้อมูลจากผู้ต้องสงสัย เพราะตอนหาเสียง ประธานาธิบดีทรัมป์ เคยพูดเห็นด้วยกับการทรมานด้วยวอเตอร์บอร์ดดิงเพราะเชื่อว่าได้ผล

                    ทั้งที่ผลสอบสวนของวุฒิสภาเมื่อปี 2557 ชี้ว่า โครงการคุกลับทรมานผู้ต้องสงสัยเพื่อรีดข้อมูลที่ใช้ภาษีชาวอเมริกันหลายสิบล้านดอลลาร์ มีช่องโหว่ และคนที่มีส่วนร่วมกับโครงการทำให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจผิดว่าได้ผล แต่รายงานหลายพันหน้านี้ไม่ได้บอกบทบาทของแฮสเปล เนื้อหารายงานส่วนที่เปิดสู่สาธารณะ เป็นเพียงบทคัดย่อและมีการปิดบังชื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง                     

                     กระนั้น หนทางเดียวที่จะทำให้แฮสเปลไปไม่ถึงดวงดาว ก็คือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรีพับลิกัน ที่ครองที่นั่ง 51 ต่อ 49 ในวุฒิสภา 

                    จอห์น แมคเคน ส.ว.คนสำคัญของรีพับลิกัน อดีตทหารผ่านศึกที่เคยตกเป็นเชลยถูกซ้อมทรมานในเวียดนามเหนือ 5 ปีครึ่ง กล่าวว่า การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในช่วงทศวรรษที่แล้ว เป็นหนึ่งในจุดดำมืดที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ แฮสเปลคงต้องอธิบายถึงลักษณะและขอบข่ายความเกี่ยวข้องของเธอในโครงการสอบปากคำอื้อฉาว

                    ส่วน รอน ไวเดน ส.ว. เดโมแครต หนึ่งในคณะกรรมาธิการข่าวกรอง วุฒิสภา กล่าวว่า ปูมหลังของแฮสเปล ทำให้เธอไม่เหมาะสมกับผอ.ซีไอเอ ขณะที่ แทมมี ดัคเวิร์ท สมาชิกวุฒิสภาสายเลือดไทย จากพรรคเดโมแครต อดีตทหารผ่านศึกอิรัก คัดค้านเต็มประตู โดยให้เหตุผลว่าไม่เพียงกำกับโครงการซ้อมทรมานโดยตรง แฮสเปลยังมีส่วนร่วมปกปิดด้วยการช่วยทำลายหลักฐานอีกด้วย

                    ด้านกองเชียร์อย่าง เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (ดีเอ็นไอ) ชื่นชมแฮสเปลว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ด้วยความฉลาด ความสามารถและประสบการณ์ ทุกระดับชั้นต่างยอมรับเธอ เป็นเรื่องดีที่ได้มืออาชีพด้านข่าวกรองมานั่งตำแหน่งนี้

                    จอห์น เบนเน็ต อดีตผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการลับของซีไอเอ กล่าวว่า ที่ผ่านมา แฮสเปลต้องทำงานที่กดดันมากที่สุดและได้รางวัลน้อยที่สุดในสงครามก่อการร้าย ไม่ใช่เพราะเธอแสวงหา แต่เพราะเธอคิดว่ามันเป็นหน้าที่

        


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ