ข่าว

โลกอาลัย“สตีเฟน ฮอว์คิง”ปรมาจารย์ฟิสิกส์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยา ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากทั่วโลกในความสามารถระดับอัจฉริยะ เสียชีวิตแล้วในวัย 76 ปี  

 

          นักฟิสิกส์ชื่อดัง “สตีเฟน ฮอว์คิง” เจ้าของผลงานทฤษฎีหลุมดำ-ต้นกำเนิดของจักรวาล เสียชีวิตในวัย 76 จากภาวะแทรกซ้อนโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง นักวิทย์-องค์กรวิทยาศาสตร์-บุคคลมีชื่อเสียงทั่วโลกร่วมไว้อาลัย ยกย่องเป็นแรงบันดาลใจ สร้างประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ของโลกอย่างมหาศาล

          สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาชาวอังกฤษ ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากทั่วโลกในความสามารถระดับอัจฉริยะจากการถอดรหัสความลึกลับของจักรวาล เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักภายในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ขณะมีวัย 76 ปี หลังเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (เอแอลเอส) ที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทสั่งการ

          ลูซี รอเบิร์ต และทิม ลูกของฮอว์คิง ระบุในแถลงการณ์ว่า "พวกเราเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของพ่อผู้เป็นที่รัก ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นบุคคลพิเศษ ผลงานและมรดกของท่านจะยังคงอยู่อีกนานเท่านาน ความกล้าหาญและความเพียรพยายาม พ่วงอัจฉริยภาพและอารมณ์ขัน เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทั่วโลก ครั้งหนึ่งท่านกล่าวว่า จักรวาลคงไม่มีความหมายเท่าใดนัก หากมันไม่ใช่บ้านของคนที่คุณรัก เราจะคิดถึงท่านตลอดไป”

 

โลกอาลัย“สตีเฟน ฮอว์คิง”ปรมาจารย์ฟิสิกส์
ภาพ : AFP

 

 

          การประกาศข่าวการเสียชีวิตของเขาตรงกับวันเกิดครบรอบ 139 ปีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พอดี

          ฮอว์คิง เป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ไม่กี่คนในยุคปัจจุบันที่สามารถอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้ หนังสือประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) และจักรวาลในเปลือกนัท (The Universe in a Nutshell) ของเขา ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนังสือที่อธิบายเรื่องยากๆ อย่าง ควอนตัมฟิสิกส์ ให้คนทั่วไปอ่านได้ โดยเฉพาะประวัติย่อแห่งกาลเวลา ตีพิมพ์ในปี 2531 กลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลกอย่างไม่คาดคิด

          ฮอว์คิง เกิดวันที่ 8 มกราคม 2485 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาจักรวาลวิทยาจากทรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่โชคร้ายที่เขาป่วยเป็นโรคเอแอลเอส อันเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมีผลกับประสาทสั่งการ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเกือบเป็นอัมพาต ต้องนั่งรถไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเขาพูดและขยับตัวไม่ได้ ทำได้เพียงขยับนิ้วและกะพริบตา แต่ก็ยังสามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ด้วยอุปกรณ์พิเศษที่สังเคราะห์เสียงพูดได้จากตัวอักษร

          เขาเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตยสถานของอังกฤษ ในวัย 32 ปี ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์แรงโน้มถ่วง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปี 2520 ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็น “เมธีคณิตศาสตร์ลูเคเชียน” ในปี 2522 ซึ่งตำแหน่งนี้ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2206 โดยบุคคลที่ได้รับตำแหน่งก่อนหน้านี้คือ เซอร์ไอแซก นิวตัน ทำให้ฮอว์คิงถูกเปรียบเทียบกับนิวตันและไอนสไตน์

          ชีวิตส่วนตัว ฮอว์คิง แต่งงานครั้งแรกกับเจน ไวลด์ มีลูกด้วยกัน 3 คน ก่อนจะหย่าและแต่งงานใหม่กับพยาบาล ชื่อ เอเลน เมสัน

          ผลงานของฮอว์คิงมุ่งเน้นการรวมเอาทฤษฎีสัมพัทธภาพ กับทฤษฎีควอนตัมเข้าไว้ด้วยกัน ในการอธิบายต้นกำเนิดของจักรวาล และดำรงอยู่อย่างไร แต่ความโด่งดังของฮอว์คิง ยังสะท้อนผ่านวัฒนธรรมป็อป เห็นได้จากการปรากฏตัวเป็นภาพโฮโลแกรมในซีรีส์ สตาร์ เทร็ก : เดอะ เน็กซ์ เจเนอเรชัน" และการ์ตูนดัง เดอะ ซิมป์สัน นอกจากนี้ เสียงสังเคราะห์ของเขายังถูกนำมาใช้ในเพลงของพิงค์ฟลอยด์ด้วย

          เรื่องราวของฮอว์คิงถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything" ในปี 2557

          นักวิทยาศาสตร์และบุคคลหลายวงการ ร่วมไว้อาลัยต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ และยกย่องบุคคลท่านนี้ในแง่ของแรงบันดาลใจ นำโดยนาซา ที่ไว้อาลัยด้วยการทวิตคลิปวิดีโอที่ฮอว์คิงยิ้มกว้างขณะลอยตัวในภาวะไร้น้ำหนักที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา เมื่อปี 2557 ช่วยให้เขาไม่ต้องพึ่งเก้าอี้รถเข็นได้ในช่วงสั้นๆ นาซาระบุว่า ฮอว์กิงเป็นทูตสันถวไมตรีของวิทยาศาสตร์ และทฤษฎีของเขาปลดล็อกจักรวาลแห่งความเป็นไปได้มากมายที่เราและโลกกำลังสำรวจ

          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โพสต์เฟซบุ๊กร่วมไว้อาลัยว่า การจากไปของฮอว์คิง ถือเป็นข่าวที่สร้างความเศร้าเสียใจกับวงการฟิสิกส์และดาราศาสตร์ของโลก แม้ป่วยด้วยโรคเอแอลเอสชนิดหายาก จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ต้องสื่อสารผ่านอุปกรณ์สังเคราะห์เสียงพูด แต่ยังคงยืนหยัดสร้างผลงานวิชาการออกเผยแพร่มาตลอด สร้างประโยชน์กับวงการวิทยาศาสตร์ของโลกอย่างมหาศาล
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ