ข่าว

ยะไข่..วิปโยค เลือดท่วม “มูรัค-อู”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยะไข่ ไม่ได้มีแต่ "โรฮิงญา" วันนี้ตำรวจพม่าสังหารหมู่ชาวพุทธยะไข่

          ไม่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อกระแสหลัก ทั้งที่เป็นการสังหารหมู่เยาวชน 7 ศพ ในรัฐยะไข่ ต่างจากข่าววิกฤตชาวโรฮิงญาอพยพข้ามแดน หนีการล้อมปราบของกองทัพพม่าไปอยู่บังคลาเทศ ที่สื่อนอกกระพือข่าวกันมากมาย

          เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 ที่ เมืองมูรัค-อู โดยมีชาวยะไข่ ที่นับถือศาสนาพุทธนับพันคน ได้จัดงานรำลึกถึงวันครบรอบ 233 ปี แห่งการสิ้นสุดของอาณาจักรยะไข่หรืออาระกัน 

 

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

          ฝ่ายผู้จัดการชุมนุมเล่าว่า ตำรวจพม่าได้เข้ามาสลายการชุมนุมโดยสันติ และยิงปืนใส่กลุ่มเยาวชน จนมีผู้เสียชีวิต 11 รายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งภาพเหตุการณ์ความรุนแรงได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลไปอย่างรวดเร็ว

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

          ตามรายงานของตำรวจพม่าระบุว่า ช่วงค่ำมีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามเข้ายึดอาคารสำนักงานเมืองมูรัค-อู และชักธงชาติอาระกันขึ้นสู่ยอดเสา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 13 ราย

          วันที่ 17 ม.ค.2561 อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐได้รับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่พม่าแล้ว พร้อมกับแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ และรับปากว่า จะฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับสู่ความสงบ โดยจะดำเนินการตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

          พรรคแห่งชาติอาระกัน

          วันเดียวกัน ตำรวจพม่าได้จับกุม “ดร.เอหม่อง” อดีตหัวหน้าพรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) เพราะเขาไปปราศรัยสนับสนุน “กองกำลังอาระกัน” (ULA/AA) ที่เป็นองค์กรนอกกฎหมาย และมี          แนวทางปลุกระดมให้ชาวยะไข่เคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพจากการปกครองของพม่า

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

          การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอาระกันหรือยะไข่นั้นมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีหลายองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งอยู่ในและนอกประเทศ

          หากพลิกประวัติศาสตร์ “ยะไข่” หรือ “อาระกัน” ก่อนปี 2327 ซึ่งเป็นปีที่พม่าผนวกยะไข่ไว้ในอำนาจ และยะไข่สิ้นเอกราชนับแต่ปีนั้น ก็จะเห็นภาพรัฐยะไข่ อาณาจักรอิสระ และมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ มาเป็นเวลาอันยาวนาน 

          เมื่อยะไข่ปลดปล่อยตัวเองจนกลายเป็นรัฐอิสระ และเมืองมรัค-อู ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของรัฐนานถึง 400 ปี ก่อนที่พม่าจะถูกรุกรานและยึดครอง

 

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

          ปัจจุบัน ชาวยะไข่ เป็นใคร? มาจากไหนบ้าง? ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยะไข่ บางส่วนเป็นชาวอินเดีย และบังคลาเทศ ชาวยะไข่เป็นเชื้อสายเดียวกับชาวพม่า ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาพม่า ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา 

          นอกจากนี้ มีคนนับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ ชาวยะไข่มุสลิมเหล่านี้เรียกว่า “โรฮิงญา” ที่สืบเชื้อสายมากจากชาวอินเดียมุสลิมในเบงกอล

          นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ชนเชื้อสายพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ก่อนหน้านั้น บริเวณรัฐยะไข่เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกอินเดีย ที่มาจากฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล ราชวงศ์ที่ปกครองบริเวณนี้ก็เป็นราชวงศ์อินเดีย 

          ปี 1830 ยะไข่เป็นอิสระอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ สลับกันไป และยืนยาวต่อมาถึงปี 2327 พม่ายึดยะไข่ได้ พระเจ้าสะมะดา พระราชวงศ์และชาวยะไข่ ราว 20,000 คน ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย

          ทุกวันนี้ รัฐยะไข่หรืออาระกันอยู่ใต้ร่มธงสหภาพเมียนมา มีเมืองหลวงชื่อเมืองซิตเว(Sittwe) เป็นชายแดนสุดฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล

 

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

 

          ในรัฐยะไข่ มีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากชาวยะไข่คือ พรรคแห่งชาติอาระกัน (Arakan National Party-ANP) ก่อตั้งเมื่อ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 และได้จดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

          พรรคแห่งชาติอาระกัน เน้นการปลุกกระแสชาตินิยม โดยตอกย้ำถึงการเป็นรัฐเอกราชในอดีต และทำให้ความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิมมีมากขึ้นในกลุ่มชาวยะไข่นับถือพุทธ

          ก่อนการเลือกตั้งปี 2558 พรรค ANP มีความพยายามอย่างมากที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบรรดาผู้ที่เป็นพลเมืองชั่วคราวของประเทศ ที่รวมถึงส่วนใหญ่ของชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคน ที่อาศัยในรัฐยะไข่ และยังคงถูกมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

 

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

 

          สมาชิกพรรค ANP ติดสัญลักษณ์ที่แสดงความมุ่งหมายจะพิชิตการเลือกตั้ง และปลุกระดมชาวพุทธยะไข่ให้รักเชื้อชาติของตัวเอง รักษาสายเลือดบริสุทธิ์

          ระหว่างหาเสียง พรรค ANP กล่าวหาว่าซูจีเห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญามากเกินไป และไม่สนใจปัญหาที่ชาวพุทธยะไข่กำลังเผชิญอยู่ แม้ว่า อองซาน ซูจี จะลงหาเสียงช่วยลูกพรรค NLD แต่ผลเลือกตั้งปีนั้น พรรค ANP ชนะเลือกตั้ง ทัั้งสภาระดับชาติ และสภาท้องถิ่น

          นอกจากพรรคการเมืองที่ต่อสู้ในระบบรัฐสภา ก็ยังมีองค์กรชาวพุทธยะไข่ ที่ยึดแนวทางการต่อสู้กู้เอกราชด้วยหนทางปืน คือ "กองทัพอาระกัน“ (Arakan Army) และ ”กองทัพปลดปล่อยอาระกัน" (Arakan Liberation Army – ALA)

 

ยะไข่..วิปโยค  เลือดท่วม “มูรัค-อู”

 

          กองทัพอาระกัน(Arakan Army-AA) ก่อตั้งเมื่อปี 2551 องค์กรนี้ได้สู้รบร่วมกับกองทัพกะฉิ่นอิสระ, โกก้าง และตะอาง โดยมีผู้นำชื่อ พล.ต.ทุนเมียตหน่าย ซึ่งเป็นคนหนุ่ม มีบุคลิกเป็นผู้นำสูง

          กองทัพปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Army – ALA) มีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองปะแล็ตวา รัฐชิน ใกล้กับชายแดนอินเดียและบังกลาเทศ และทาง ALA นั้นได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้ว

          จากเหตุการณ์ตำรวจพม่ายิงเยาวชนชาวยะไข่เสียชีวิต กองทัพอาระกัน ได้ออกแถลงการณ์ทันที โดยประกาศว่า จะโจมตีทหารพม่า เพื่อล้างแค้นให้กับผู้เสียชีวิตจากกรณีสลายการชุมนุมดังกล่าว

          สถานการณ์นองเลือดในเมืองมูรัค-อู สะท้อนให้เห็นภาพความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธยะไข่กับกองทัพพม่า ระหว่างพรรค ANP กับรัฐบาลซูจี และเหนืออื่นใด ยะไข่ไม่ได้มีแต่โรฮิงญา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ