ข่าว

ผู้เชี่ยวชาญชี้เหตุดินไหวเม็กซิโก ‘เปลือกโลกโก่งตัว’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักแผ่นดินไหววิทยาในสหรัฐฯ ชี้ แผ่นดินไหวเม็กซิโกครั้งล่าสุด เกิดจากแผ่นโคโคสที่ซ้อนอยู่ใต้แผ่นอเมริกาเหนือโก่งตัวแล้วเกิดแรงเบียด


               นักแผ่นดินไหววิทยาในสหรัฐฯ ชี้ แผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.1 ทางตอนกลางของเม็กซิโกเมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดจากแรงเบียดของแผ่นเปลือกโลกที่โก่งตัว มากกว่าแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเลื่อนตัวไปซ้อนกัน

               เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นลงบทความของนายจอห์น วิเดล ผู้อำนวยการศูนย์แผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ว่า แผ่นดินไหวใหญ่ทุกครั้งเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก แต่แผ่นดินไหวเม็กซิโกครั้งล่าสุด เกิดจากแผ่นโคโคสที่ซ้อนอยู่ใต้แผ่นอเมริกาเหนือโก่งตัวแล้วเกิดแรงเบียด มากกว่าเกิดจากสองแผ่นนี้เลื่อนตัวเข้าหากัน แม้ปกติแล้วจะเลื่อนตัวเข้าหากันปีละ 3 นิ้ว ก็ตาม

               นายวิเดล เสริมว่า พลังงานที่เกิดจากการเคลื่อนตัวดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 20 วินาที แต่ส่งคลื่นแรงสั่นสะเทือนนาน 1 - 2 นาที ตามพื้นที่เทือกเขาและหุบเขา

               นอกจากนั้น การโก่งตัวของแผ่นโคโคสยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ทางตอนใต้ของเม็กซิโกก่อนเที่ยงคืนวันที่ 7 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน บาดเจ็บกว่า 300 คน แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังระบุชัดเจนไม่ได้ว่า แผ่นดินไหวครั้งดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันอังคารหรือไม่

               อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวล่าสุดเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี เมื่อ 32 ปีก่อน โดยครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน และบาดเจ็บราว 30,000 คน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ