ข่าว

อินเดียเล็งแก้กฎ “ตะโกนหย่าเมีย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พงศธร สโรจธนาวุฒิ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) [email protected]

 

    สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานประเด็นสิทธิผู้หญิงของอินเดีย ยื่นคำร้องต่อศาลสูง ขอให้พิจารณายกเลิกกฎหมายหย่าด้วยการใช้คำพูด ระหว่างนี้ ศาลจะพิจารณาตัวกฎหมาย ร่วมกับผู้ประสบปัญหารายกรณี เพื่อประกอบการพิจารณา คาดว่าจะรู้ผลในเร็ววันนี้ ท่ามกลางความลุ้นระทึกของผู้หญิงมุสลิมในประเทศอินเดียว่าอนาคตพวกเธอจะเป็นอย่างไร


    เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกฎหมายหย่าด้วยคำพูด ถือเป็นวัฒนธรรมของอิสลาม มีการบันทึกลงในชารีอะห์ กฎหมายที่เนื้อหาว่าด้วยการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม โดยมีการระบุว่า สามีสามารถตัดสินใจหย่าร้างกับภรรยาได้ทันที เพียงแสดงเจตนาว่าต้องการหย่าด้วยการพูดต่อหน้าผู้หญิงว่า “ตาลัก” (Talag) 3 ครั้ง


     แต่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ยกเลิกวิธีหย่าด้วยการพูดว่า “ตาลัก” กันหมดแล้ว ปัจจุบันมีเพียงอินเดียและซาอุดิอาระเบียเท่านั้นที่ยังใช้อยู่ และ “ตาลัก” ในโลกยุคไอทีก็ยังรวมไปถึงการหย่าผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก โทรศัพท์ หรือเอสเอ็มเอสอีกด้วย


    องค์กร Bharatiya Muslim Mahila Andola ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่ถูกขอหย่าด้วยวิธีนี้ มีการสุ่มตัวอย่าง พบว่าผู้หญิง 404 รายจาก 525 ราย ที่ถูกหย่าด้วยวิธี “ตาลัก” ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษา และเป็นแม่บ้านมาตลอดชีวิต การหย่าร้างทำให้พวกเธอไม่มีที่ไป


    สำนักข่าว Hindu Business Line รายงานว่า สังคมอินเดียประกอบด้วยหลายศาสนา แต่ทุกศาสนาคาดหวังให้คนต้องแต่งงาน ผู้หญิงที่หย่าร้าง หรือใช้ชีวิตคนเดียว เช่น ไปนั่งกินข้าวในร้านอาหารคนเดียวมีสิทธิโดนทำร้าย หรือถูกมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตร เพราะผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นเมียและแม่ ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านไม่มีสิทธิมีเสียง

 

 อินเดียเล็งแก้กฎ “ตะโกนหย่าเมีย”


    โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมอินเดีย ส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิเลือกคู่ครอง และต้องทนอยู่กับสามี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ต้องคอยทำให้สามีพอใจทุกเรื่อง เพราะถ้าสามีเกิดไม่พอใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา แล้วตะโกน “ตาลัก” 3 ครั้ง ภรรยาจะต้องเก็บของ ออกจากบ้าน ไม่มีเงิน และไม่มีที่ไป ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงมีสถิติหย่าร้างอย่างเป็นทางการที่ต่ำมาก


    Zakia Soman นักกิจกรรม และหนึ่งในผู้ยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดบอกกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า แค่ศาลยอมรับเรื่องไปพิจารณาถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แล้ว ในยุคที่ศาสนายังมีอำนาจสูง เรื่องนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน


    ทั้งนี้ อินเดียไม่มีกฎหมายครอบครัว ดังนั้น บทบัญญัติเรื่องการแต่งงาน การหย่า มรดก ฯลฯ จึงอยู่ในการควบคุมของกฎหมายศาสนา ขึ้นกับว่าแต่ละศาสนามีบันทึกไว้อย่างไร เคยมีความพยายามที่จะร่าง พ.ร.บ.Uniform Civil Code หรือกฎหมายครอบครัว บังคับใช้กับทุกคน ทุกศาสนา แต่ก็ถูกต่อต้านจากผู้นำศาสนาว่า เรื่องครอบครัว หรือเรื่องในบ้าน รัฐไม่ควรจะมายุ่ง 


    ฝั่งสนับสนุนกฎหมาย “ตาลัก” เองก็บอกว่า กฎหมายนี้ใช้กันมาเป็นพันปีไม่เคยมีปัญหา และการยกเลิก “ตาลัก” อาจทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในครอบครัวรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเมื่อผู้ชายโกรธแล้วไม่สามารถประกาศหย่าหรือไล่ผู้หญิงออกจากบ้านได้ทันทีเหมือนที่เป็นมา ก็อาจยิ่งโกรธหน้ามืดจนลงมือฆ่าภรรยาเสียก็ได้


    มีการคาดการณ์ว่า ศาลสูงสุดน่าจะตัดสินให้ยกเลิกกฎหมาย “ตาลัก” เพราะศาลสูงสุดให้สัมภาษณ์ว่า “ตาลัก” เป็นกรณีการหย่าร้างที่เลวร้าย และไม่พึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนกลุ่มผู้หญิงมุสลิมเชื่อว่า การยกเลิกตาลักเป็นเพียงการเปิดประตูแรก เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่ผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ