ข่าว

เกาะแปซิฟิกใต้อันไกลโพ้นไม่มีคนแต่ขยะท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกาะห่างไกลในแปซิฟิคใต้ กลายเป็นพื้นที่ที่มีขยะหนาแน่นที่สุดในโลก


                    เกาะเฮนเดอร์สัน เกาะห่างไกลในแปซิฟิกตอนใต้ ทางตะวันออกของประเทศนิวซีแลนด์ ไร้ผู้คนอาศัย และห่างจากแผ่นดินใหญ่ใกล้ที่สุด ถึง 5,000 กิโลเมตร แต่กลับมีขยะพลาสติกมากถึง 37.7 ล้านชิ้น

 

เกาะแปซิฟิกใต้อันไกลโพ้นไม่มีคนแต่ขยะท่วม

 

                    เจนนิเฟอร์ เลเวอร์ส นักวิจัยจากสถาบันทางทะเลและแอนตาร์กติกศึกษา มหาวิทยาลัยทาสมาเนีย กล่าวว่า ทีมวิจัยพบขยะพลาสติก 21- 671 ชิ้นต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ทำให้เกาะแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของขยะพลาสติกในอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ของโลก คือ 99.8% นอกจากนี้ จากการสุ่มตรวจพื้นที่ 5 จุดบนเกาะ พบมีขยะพลาสติกมากถึงกว่า 17 ตัน และอีกกว่า 3,570 ชิ้นพัดขึ้นสู่ชายหาดแห่งหนึ่งในแต่ละวัน ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ถูกฝังอยู่ใต้พื้นดินลึกกว่า 10 ซม.

 

เกาะแปซิฟิกใต้อันไกลโพ้นไม่มีคนแต่ขยะท่วม

 

                    เกาะห่างไกลสวยงามบริสุทธิ์ เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะพิตแคร์นของสหราชอาณาจักร ร่ำรวยความหลากหลายทางชีวภาพ ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก จุดที่ตั้่งห่างไกลมาก จนการไปเยือนเพื่อวิจัยกระทำได้เพียง 5-10 ปีต่อครั้งเท่านั้น นักวิจัยพบปัญหามลพิษพลาสติกจากการลงสำรวจครั้งหลังสุดเมื่อปี 2558

                    จุดที่ตั้งอยู่ใกล้กับวังวนใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ (South Pacific Gyre) ทำให้เกาะเฮนเดอร์สันเป็นจุดอันตรายรับเศษขยะจากอเมริกาใต้ หรือขยะจากเรือประมงทิ้งลงน้ำ ขยะที่พบราว 27% มีต้นทางจากอเมริกาใต้ อาทิ อุปกรณ์ใช้บนชายหาด และทำประมง ขณะเดียวกันก็พบขยะจำนวนมากที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ประจำวันในครัวเรือน อาทิ ไฟแช็ก มีดโกนพลาสติก แปรงสีฟัน ช้อนตักผงซักฟอกหรือนมผง และจุกนม มาจากชุมชนใกล้สุดบนเกาะพิตแคร์น ซึ่งมีประชากรราว 40 คนและอยู่ห่างออกไป 190 กิโลเมตร อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร เดอะเนชั่นแนล อเคเดมี ออฟ ไซแอนซ์ อาจไม่ได้ครอบคลุมขอบข่ายมลพิษพลาสติกอย่างแท้จริง เนื่องจากนักวิจัยสำรวจเฉพาะชายหาด ยังไม่ได้ลงสำรวจชายฝั่งที่เป็นก้อนหินหรือแนวหน้าผา

 

เกาะแปซิฟิกใต้อันไกลโพ้นไม่มีคนแต่ขยะท่วม

 

                    นักวิจัย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะเฮนเดอร์สัน เป็นตัวอย่างสะท้อนว่า ไม่มีที่ใดหนีมลพิษพลาสติกพ้น ต่อให้เป็นพื้นที่ห่างไกลที่สุดของมหาสมุทรก็ตาม และควรเป็นสัญญาณเตือนโลกว่ามลพิษจากพลาสติก เป็นมหันตภัยต่อมนุษยชาติเท่ากับไคลเมทเชนจ์ หรือสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเกาะเกือบทุกแห่งบนโลกและสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดในมหาสมุทร ล้วนได้รับผลกระทบจากขยะของคนเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

                    โลกผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านตันในปี 2497 เป็น 311 ตันในปี 2557 ประเมินว่าปัจจุบัน มีพลาสติกราว 5 ล้านล้านชิ้น ส่วนใหญ่ขนาดไม่ถึง 5 มิลลิเมตร ไหลวนอยู่บนพื้นผิวมหาสมุทรทั่วโลก

 

หมายเหตุ ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ