ข่าว

เหมืองถ่านหินต้องมาก่อน! "ทรัมป์"ล้มแผนพลังงานสะอาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหมืองถ่านหินอเมริกามาก่อน "ทรัมป์"ล้มแผนพลังงานสะอาด

 


                    ในที่สุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ก็เริ่มลงมือรื้อทิ้งนโยบายต่อสู้ไคลเมท เชนจ์ หรือภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนก่อน ด้วยการลงนามคำสั่งประธานาธิบดีว่าด้วยความเป็นอิสระด้านพลังงาน โดยแซ่ซ้องว่าเป็นการปิดฉากสงครามถ่านหิน เปิดศักราชใหม่แห่งการผลิตพลังงานอเมริกันและสร้างงาน
                    อีกด้านหนึ่งก็เป็นฝันร้ายของนักอนุรักษ์และผู้เคลื่อนไหวยับยั้งไคลเมท เชนจ์ ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว หลังจากทรัมป์เคยทวิตว่า ไคลเมท เชนจ์ เป็นเรื่องลวงโลก เป็นแผนคบคิดของจีน และหาเสียงโดยชูนโยบายฟื้นอุตสาหกรรมถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

เหมืองถ่านหินต้องมาก่อน! "ทรัมป์"ล้มแผนพลังงานสะอาด


                    คำสั่งของทรัมป์ จะเริ่มต้นด้วยการประเมิน "แผนการพลังงานสะอาด” ที่ถือเป็นโครงการซิกเนเจอร์ด้านสิ่งแวดล้อมของโอบามา เพิกถอนคำสั่งระงับปล่อยเช่าที่ดินของรัฐบาลกลางเพื่อทำเหมืองถ่านหิน ซึ่งโอบามาลงนามเมื่อ 14 เดือนก่อน ยกเลิกคณะทำงานประเมินต้นทุนคาร์บอนทางสังคม ตลอดจนให้หน่วยงานรัฐบาลกลางทุกแห่งแจกแจงระเบียบและนโยบายที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการผลิตพลังงานของสหรัฐ

 

แผนพลังงานสะอาด ( ซีพีพี) สำคัญอย่างไร 
                    ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นความตกลงครั้งแรกในโลก ที่ได้สองประเทศก่อก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด อย่างสหรัฐและจีนมาร่วมวงด้วยนั้น สหรัฐอเมริกามีพันธกรณีที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 26-28% จากระดับปี 2548 ภายในปี ค.ศ.2568 และแผนการพลังงานสะอาดของโอบามา คือกลไกที่ออกแบบมาเพื่อการนี้ และได้ชื่อว่าเป็นมาตรการเข้มแข็งที่สุดที่ประธานาธิบดีสหรัฐเคยเซ็นออกมาเพื่อยับยั้งโลกร้อน
                    ความล้มเหลวของข้อตกลงเกียวโตต่อสู้โลกร้อนเมื่อปี 2535 ส่วนหนึ่งเกิดจากสหรัฐอเมริกาปฏิเสธควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสกปรกที่สุด และมีสัดส่วนปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากทั้งหมด 32%
                    แผนพลังงานสะอาดคือ การยกเครื่องระเบียบใหม่ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) มุ่งลดการปล่อยก๊าซจากโรงไฟฟ้าให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2548 โดยกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ และวางกฎเข้มงวดขึ้นสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่เดิม บังคับให้ติดตั้งเทคโนโลยีจับคาร์บอน 
                    แต่ในปีที่แล้ว แนวร่วมรัฐที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก โดยเฉพาะรัฐที่มีภาคธุรกิจพึ่งพาน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซ นำโดยอัยการรัฐโอคลาโฮมานามว่า สก็อต พรุตต์ ได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลสั่งอีพีเอยกเลิกมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซ และศาลสูงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งระงับการบังคับใช้ไว้ก่อน
                    พรุตต์ ยื่นฟ้องอย่างน้อย 13 คดีต่ออีพีเอ ก่อนเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการอีพีเอเมื่อเดือนก่อน และมีความเชื่อสวนกระแสโลกว่า คาร์บอนไม่ใช่ตัวการหลักของภาวะโลกร้อน
                    ชาร์ด ลาซารุส ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า โอบามาออกนโยบายพลังงานสะอาด ก่อนข้อตกลงปารีส เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า หากสหรัฐไม่ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นอย่างปรากฏชัดแล้ว ข้อตกลงปารีสอาจไม่ได้เกิด

 

เหมืองถ่านหินต้องมาก่อน! "ทรัมป์"ล้มแผนพลังงานสะอาด

(ทรัมป์ลงนามคำสั่งที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.โดยมีคนงานเหมืองรายล้อม)


     

               โดยรวมแล้ว คำสั่งใหม่ของทรัมป์จะเพิกถอนคำสั่งประธานาธิบดีในยุคโอบามาอย่างน้อย 6 ฉบับ รวมถึงคำสั่งที่ออกเมื่อพฤศจิกายน 2556 ที่สั่งให้หน่วยงานรัฐบาลทุกแห่งต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากไคลเมท เชนจ์โดยคำนึงสิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการออกนโยบาย และคำสั่งเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ที่แจกแจงเป็นครั้งแรกว่าภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง เป็นภัยความมั่นคงของชาติ
                    แต่รัฐบาลทรัมป์มองว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลชุดก่อน มองข้ามคนงาน ขณะรัฐบาลใหม่สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง คือ ให้คนมีงานทำ และปกป้องสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป ทั้งแย้งว่า หนทางดีที่สุดในการคุ้มครองสภาพแวดล้อมก็คือการมีเศรษฐกิจเข้มแข็ง เติบโต และมั่งคั่ง
                    ขณะที่บริษัท เอนเนอร์จี อินโนเวชัน ระบุว่า การยกเลิกกฎเข้มงวดเรื่องการปล่อยก๊าซ อันตรายและมีราคาแพง อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐสูญเสีย 6 แสนล้านดอลลาร์ เพราะเป็นการขจัดแรงจูงใจให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนหลายพันตันสู่ชั้นบรรยากาศเพราะยกเลิกกฎข้อนี้ อาจเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวันอันควร 1.2 แสนคน

 

เหมืองถ่านหินต้องมาก่อน! "ทรัมป์"ล้มแผนพลังงานสะอาด


ผลกระทบต่อโลก


                    คำสั่งของทรัมป์แม้จะมุ่งนโยบายในประเทศ แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณปรับจุดยืนของสหรัฐอเมริกาในความพยายามต่อสู้กับไคลเมท เชนจ์ของโลก อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า ความเสียหายจากรัฐบาลทรัมป์อาจจะน้อยกว่าที่หลายคนคิด เพราะโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งกระแสพลังงานหมุนเวียน
                    ผลศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า อุตสาหกรรมถ่านหินอเมริกันตกต่ำมานาน ต้นทุนการทำเหมืองที่สูงขึ้น ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และทางเลือกอื่นที่ถูกลง ทำให้เชื้อเพลิงสกปรกไม่มีอนาคต ต่อให้ไม่มีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอีพีเอ ส่วนคนงานเหมืองถ่านหินในสหรัฐลดลงมากแล้ว ตัวเลขเมื่อปี 2551 มีจำนวนเพียง 8.8 หมื่นคน ปัจจุบันลดเหลือราว 25% เจมส์ วาน นอสสตรันด์ จากมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย กล่าวว่า แผนการของทรัมป์ไม่ว่าจะลดงบประมาณของอีพีเอหนึ่งในสาม หรือปรับโครงสร้างใหม่ และเพิกถอนมาตรการคุมปล่อยก๊าซคาร์บอน ไม่สามารถชุบชีวิตอุตสาหกรรมถ่านหินได้

 

เหมืองถ่านหินต้องมาก่อน! "ทรัมป์"ล้มแผนพลังงานสะอาด
      

                   คำสั่งใหม่ของทรัมป์ ไม่มีถ้อยคำวิจารณ์ข้อตกลงปารีส ซึ่งวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เป็นเพราะอิวานกา และจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกสาวและลูกเขยช่วยกันเกลี้ยกล่อม กระนั้นคำสั่งของทรัมป์อาจส่งสัญญาณเลวร้าย อาจทำให้บางประเทศผ่อนปรนความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามที่ตกลงกันไว้เมื่อสหรัฐทำท่าจะเบี้ยวสัญญา เพราะทรัมป์ยังไม่มีแผนการชัดเจนว่าสหรัฐจะบรรลุพันธกรณีข้อตกลงปารีสอย่างไรหากไม่มีแผนการอื่นมาทดแทน 
                    กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มประกาศยื่นฟ้องรัฐบาลทรัมป์เพื่อปกป้องแผนพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการบังคับให้ทำเนียบขาวต้องไปพิสูจน์ในศาลว่า การวางกฎให้รัฐต่างๆ ต้องควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอีพีเอยุคโอบามา เป็นการออกกฎหมายโดยอำเภอใจอย่างไร ซึ่งอัยการของรัฐบาลกลางจะชนะได้ต่อเมื่อสามารถล้มล้างฉันทามติในวงการวิทยาศาสตร์โลกว่าภาวะโลกร้อนไม่ได้เกิดจากน้ำมือมนุษย์!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ