ข่าว

เมื่อมหาเศรษฐีโลกบริจาคที่ดินเพื่ออนุรักษ์ผืนป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

                    ปกติมักจะเห็นบรรดาบรมเอกอัครมหาเศรษฐีทั้งระดับประเทศหรือระดับโลกแข่งขันกันสะสมทรัพย์ สะสมอัญมณี สะสมที่ดิน หรืออาจจะลามไปถึงการสั่งสมอำนาจ มีแค่กระผีกลิ้นเท่านั้นที่ยอมบริจาคทรัพย์ที่มีอยู่นับแสนๆ ล้านบาทคืนให้สังคมในรูปแบบต่างๆ ทั้งผ่านงานวิจัยป้องกันโรคร้าย งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา หรือการยกระดับสถานภาพของผู้หญิง ฯลฯ
                    แต่ที่หาได้ยากยิ่งก็คือการบริจาคที่ดินเพื่อคืนผืนป่าโบราณให้แก่โลก โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าการกระทำนั้นจะเหมือนกับ “ทำดีไม่ได้ดี” ซ้ำร้ายยังถูกมองว่าเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

 

เมื่อมหาเศรษฐีโลกบริจาคที่ดินเพื่ออนุรักษ์ผืนป่า

( ภาพ facebook/tompkinsconservation ) 


                    อัครเศรษฐีหมื่นล้านชาวอเมริกันที่ “ทำดีไม่ได้ดี” ผู้นั้นก็คือ ดักลาส ทอมป์กินส์ เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้านอร์ธเฟซ และผู้ก่อตั้งและผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป “เอสปรี" แบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งได้บริจาคที่ดินหลายล้านไร่ให้รัฐบาลชิลีและอาร์เจนตินาให้เป็นวนอุทยานแห่งชาติ เพื่อจะรักษาผืนป่าโบราณไว้ไม่ให้ถูกทำลาย แต่ความหวังนี้ยังไม่ทันจะสำเร็จลุล่วงเนื่องจากเจ้าตัวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือคยัค เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะมีอายุ 72 ปี
                    โชคดีที่คริสติน แม็คดิวิต ทอมป์กินส์ ภรรยาม่ายได้สานต่อเจตนารมณ์นี้ เดินหน้าเจรจากับรัฐบาลชิลีเพื่อร่วมกันกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ก่อนจะมอบที่ดินกว่า 4 แสนเฮกตาร์ หรือกว่า 4,080 ตร.กม. ที่ภูมิภาคปาตาโกเนีย ทางตอนใต้ของประเทศ เตรียมจัดตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมผืนป่าโบราณฟรี


                    ดักลาส ทอมป์กินส์ ซึ่งคาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด ได้ใช้ชีวิตเยี่ยงลูกเศรษฐีทั้งหลาย ที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งปีนเขา เล่นสกี เซิร์ฟ รวมไปถึงการสำรวจพื้นที่แถบพาตาโกเนียทางภาคใต้ของชิลีนานถึง 6 เดือนเมื่อปี 2511 ก่อนจะตั้งบริษัทนอร์ธเฟซ ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปรากฏว่าธุรกิจประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น แต่เจ้าตัวได้ขายกิจการทิ้งหลังจากนั้นไม่กี่ปี จากนั้นได้จับมือกับภรรยาคนแรกร่วมกันตั้งและปั้นแบรนด์เอสปรีขึ้นจนกลายเป็นแบรนด์ดังไปทั่วโลก แต่สืบเนื่องจากปัญหาในบริษัทและปัญหาชีวิตการแต่งงาน ทอมป์กินส์จึงตัดสินใจหย่าร้างกับภรรยาคนแรก รวมทั้งลาออกจากบริษัทที่ตั้งมากับมือในปี 2533 แล้วย้ายไปอยู่พาตาโกเนียนับแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาได้แต่งงานใหม่กับคริสติน แม็คดิวิต อดีตซีอีโอบริษัทพาตาโกเนีย

 

เมื่อมหาเศรษฐีโลกบริจาคที่ดินเพื่ออนุรักษ์ผืนป่า

( ผู้นำชิลี ลงนามเอกสารรับการบริจาคที่ดิน 2.54 ล้านไร่ จากคริสติน แมคดิวิตต์ เมื่อ 15 มี.ค.AFP) 


                    ด้วยแรงบันดาลใจจากโครงการอนุรักษ์ป่าของสหรัฐ ทอมป์กินส์จึงเริ่มกว้านซื้อที่ดินในแถบนั้นผ่านนายหน้าเพื่อหลบเลี่ยงการตกเป็นเป้าความสนใจหรือการปั่นราคา ตลอดช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เจ้าตัวได้ทุ่มเงินกว่า 400 ล้านดอลลาร์ ซื้อที่ดินสะสมไว้กว่า 1 ล้านเอเคอร์ทั้งในชิลีและอาร์เจนตินา และได้อนุรักษ์ฝืนป่าเหล่านั้นไว้ ถือเป็นโครงการอนุรักษ์ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ดำเนินการโดยเอกชน จนได้รับยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษในการอนุรักษ์ป่า แม้ว่าตอนแรกจะถูกมองด้วยความหวาดระแวงว่าเป็นพวกจักรวรรดินิยม
                    ความหวาดระแวงดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อทอมป์กินส์แถลงต่อประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2537 ว่าได้สร้างวนอุทยานแห่งชาติพาร์ค พูมา ขึ้นครอบคลุมพื้นที่ 275,000 เฮกตาร์ ถ้อยแถลงนั้นได้จุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ขึ้นในสังคม เมื่อมีการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในรัฐสภาว่าเขากำลังท้าทายบูรณภาพแห่งดินแดนชิลี ซึ่งช่วงนั้นเพิ่งจะฟื้นตัวจากการปกครองโดยรัฐบาลทหารมานาน ระหว่างนั้นหวุดหวิดจะเปิดสงครามชายแดนกับอาร์เจนตินาเกี่ยวกับหลักปักปันเขตแดนที่พาตาโกเนีย เหตุนี้ ชาวชิลีต่างจึงยอมรับไม่ได้ที่ "กริงโก” หรือชาวต่างชาติ ได้แอบดอดเข้ามากว้านซื้อที่ดิน
                    โดยเฉพาะเมื่อทอมป์กินส์ได้ตั้งวนอุทยานพาร์ค พูมาขึ้นบริเวณที่จุดแคบที่สุดของชิลี ทำให้ชาวชิลีระแวงว่าเจ้าตัวกำลังจะเป็นราชาที่ดินตั้งแต่ชายฝั่งไปจรดชายแดนอาร์เจนตินา ดีไม่ดีอาจกำเริบเสิบสานคิดแผนร้ายเฉือนแบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วนก็ได้
                    นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาทอมป์กินส์ว่ารุกล้ำที่ดินของชาวนา ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนเล็กๆ ในบริเวณนั้นมานานหลายชั่วรุ่นโดยไม่มีเอกสารสิทธิ แล้ววันดีคืนดี ก็เพิ่งรู้ว่าที่ดินของบรรพบุรุษนั้นกลับกลายเป็นที่ดินของชาวต่างชาติไปแล้ว ทอมป์กินส์ยังถูกกล่าวหาว่าบ่อนทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งยังต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก

 

เมื่อมหาเศรษฐีโลกบริจาคที่ดินเพื่ออนุรักษ์ผืนป่า


                    บางคนยังสงสัยไกลไปถึงทฤษฎีสมคบคิดโดยมีซีไอเอชักใยอยู่เบื้องหลังหรือเป็นแผนของไซออนนิสต์ที่สมคบกับสายลับในคราบนักอนุรักษ์ผืนป่า หรือเป็นความพยายามจะยืดต้นน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาในภูมิภาคนั้น ด้วยความที่อาจจะซึ้งกับหนังเจมส์ บอนด์ 007 ตอนควอนตัม ออฟ โซเลซ หรือ พยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก ซึ่งคนร้ายได้ใช้แหล่งอนุรักษ์ของเอกชนเป็นฐานในการยึดครองแหล่งต้นน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาของโบลิเวีย
                    ความตึงเครียดทางการเมือง ทำให้ทอมป์กินส์ต้องยอมลงนามในข้อตกลงปี 2539 กับประธานาธิบดี สัญญาว่าจะไม่ซื้อที่ดินเพิ่มเติมและยินดีให้มีการสร้างโครงข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานผ่านที่ดินของตัวเอง ทั้งๆ ที่ขณะนั้น มีชาวต่างชาติหลายร้อยคน ตั้งแต่ครอบครัวชนชั้นกลาง ไปจนถึงบริษัทรีสอร์ทอนุรักษ์สุดหรูหรา บริษัทป่าไม้ และเอ็นจีโอระดับชาติและระหว่างประเทศ ได้ไปซื้อที่ดินแบบเดียวกันตั้งแต่ขนาดไม่กี่เฮกตาร์ไปจนถึง 3 แสนเฮกตาร์ ตั้งเขตอนุรักษ์ของเอกชนขึ้นมา แต่กลับไม่มีใครถูกโจมตียับเหมือนดัก ทอมป์กินส์
 
                    ภาพลักษณ์ของทอมป์กินส์เพิ่งจะดีขึ้น หลังจากเซบาสเตียน ปินเญรา อัครมหาเศรษฐีจากสายการบินและเครดิตการ์ด ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2553-2557 ได้ตั้งเขตอนุรักษ์ทันทอโค ของเอกชนขึ้นเมื่อปี 2548 ประกอบกับความเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์เชิงนิเวศวิทยาเริ่มหยั่งรากลึกมากขึ้นในประเทศนี้ พลอยทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 ฝ่ายเริ่มดีขึ้นตามลำดับ
                    ผลตามมาก็คือพลอยทำให้สัญญาฉบับนั้นเป็นโมฆะโดยปริยาย เจ้าตัวจึงเริ่มกว้านซื้อที่ดินอีกครั้ง แถมยังข้ามไปไกลถึงอาร์เจนตินา แม้จะให้สัญญาหนักแน่นว่าจะบริจาคที่ดินให้เป็นวนอุทยานแห่งชาติแต่ไม่มีใครเชื่อ ยังคงโจมตีว่าโครงการนี้ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นอันตรายต่อปลาแซลมอน ต่อป่าไม้และต่อระบบไฟฟ้าพลังน้ำ
                    เมื่อปี 2548 ทอมป์กินส์ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 294 เฮกตาร์ใกล้ภูเขาไฟคอร์โควาโด ให้ชิลี แล้วสร้างเป็นวนอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่เป็นลำดับ 6 ชื่อวนอุทยานคอร์โควาโด ตามด้วยการทยอยบริจาคที่ดินให้รัฐบาลชิลีและอาร์เจนตินาเพื่อสร้างเป็นวนอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง จากวนอุทยานแห่งชาติ 17 แห่งในเขตพาตาโกเนีย ครอบคลุมบริเวณกว้างขนาดประเทศสวิตเซอร์แลนด์
                    แม้ว่าทอมป์กินส์จะลาลับจากโลกนี้ไปแล้ว แต่คริสติน แม็คติวิต ทอมป์กินส์ ภรรยาม่ายยังคงเดินหน้าต่อในโครงการนี้โดยให้เหตุผลว่าวิสัยทัศน์ของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอบริจาคที่ดิน "ถือเป็นการบริจาคที่ดินผืนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่องค์กรเอกชนเคยมอบให้แก่ประเทศ....ฉันรู้ว่าถ้าดักยังอยู่ในวันนี้ เขาจะพูดว่าวนอุทยานแห่งชาติเป็นหนึ่งในการแสดงออกอย่างเป็นประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศหนึ่งจะตระหนักได้ อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ผลงานชิ้นเอกเอาไว้ให้ประชาชนทุกคน"
                    ขณะที่ประธานาธิบดีมิเชล บาเชเลต กล่าวว่า นี่เป็น “ก้าวสำคัญในการอนุรักษ์คุณค่าของแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ”
                    การเสียสละของสองสามีภรรยาทอมป์กินส์ ทำให้รัฐบาลชิลีประทับใจจนกระทั่งตัดสินใจจะเพิ่มพื้นที่อีก 949,000 เฮกตาร์ หรือราว 9,490 ตร.กม. ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ 17 แห่ง กินพื้นที่จากเมืองเปอร์โต มอนต์ ลงไปประมาณ 2,000 กิโลเมตร จนถึงเคปฮอร์นที่อยู่ทางใต้
                    ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือนที่แล้ว คริสติน ทอมป์กินส์ยังได้พบกับประธานาธิบดีมอริซิโอ มาครี ประธานาธิบดีคนใหม่แห่งอาร์เจนตินาเพื่อบริจาคที่ดินขนาด 1.5 แสนเฮกตาร์ (9.375 แสนไร่) ที่กำลังถูกคุกคามและอยู่ติดพรมแดนบราซิล เตรียมจะสร้างเป็นอุทยานแห่งชาติอิเบรา เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าไม่ให้ถูกทำลายจากฝีมือของมนุษย์
                    การกระทำของดัก ทอมป์กินส์ ทำให้มีการตั้งคำถามว่าบรรดาบรมเอกอัครมหาเศรษฐีพันล้านสามารถช่วยการอนุรักษ์ผืนป่าได้ถ้าหากยอมสละที่ดินที่สะสมไว้โดยไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ หรือพัฒนาที่ดินเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ อาทิ สร้างเป็นรีสอร์ทและสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ ถ้าหากมหาเศรษฐีเหล่านั้นยอมเดินตามรอยดัก ทอมป์กินส์ ช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่า เชื่อว่าอาจจะทำได้ดีกว่าภาครัฐ ในเมื่อพร้อมซึ่งแรงจูงใจ มีความยืดหยุ่นและมีนวัตกรรมมากกว่า


(หมายเหตุ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม ) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ