ข่าว

นมแม่กัมพูชามีเหลือเฟือเจือจาน"ขาย"ได้ไหม 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การปั๊มนมแม่จากประเทศกำลังพัฒนาอย่างกัมพูชา ไปขายให้กับคุณแม่ในอีกซีกโลก ควรทำได้หรือไม่

 

                    การขายน้ำนมแม่ออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้วในหลายประเทศ เว็บไซต์ซื้อขายผุดเป็นดอกเห็ดโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา นอกจากลูกค้าเป็นบรรดาคุณแม่มีน้ำนมไม่พอจนต้องซื้อเพิ่มให้ลูกแรกเกิด ยังมีนักเพาะกายที่ยกนมแม่เป็น "ทองคำเหลว” ในฐานะสุดยอดเมนูเพิ่มกล้าม  ผู้ป่วยมะเร็ง เรื่อยไปจนถึงผู้ที่มีรสนิยมทางเพศใช้นมแม่กระตุ้นอารมณ์ ที่ซื้อหาในตลาดออนไลน์ที่ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมมากนัก ขณะคุณแม่ที่มีน้ำนมส่วนเกินก็มีรายได้พิเศษ
                    แต่การปั๊มนมแม่จากประเทศกำลังพัฒนาอย่างกัมพูชา ไปให้แก่ลูกค้าฐานะดีในอีกซีกโลกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง  
                   กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชามีคำสั่งให้บริษัทอเมริกันมีสำนักงานในรัฐยูทาห์ที่ชื่อว่า แอมโบรเซีย มิลค์ ระงับการส่งออกน้ำนมจากอกแม่ในประเทศไปขายให้ลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หลังเวบไซต์ข่าวผู้หญิง Broadly ในเครือ Vice.com นำเสนอข่าวประเด็นนี้ จึงทำให้รู้ว่ามีบริษัททำธุรกิจรูปแบบนี้อยู่มาตั้งแต่ปี 2558 และมีสตรีกัมพูชายากจนหลายสิบคนที่ยึดเป็นอาชีพ แล้วตอนนี้ก็ต้องตกงานขาดรายได้ เพราะล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาสั่งห้ามขายและส่งออกน้ำนมแม่อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 
                    รัฐมนตรีกระทรวงสตรีกัมพูชา อิง กันทา พาวี กล่าวว่า แม้กัมพูชาจะเป็นประเทศยากจน แต่การขายนมแม่ไม่ใช่เรื่องเหมาะสม อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กกัมพูชา สวนทางกับความพยายามส่งเสริมแม่รุ่นใหม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเอง

 

นมแม่กัมพูชามีเหลือเฟือเจือจาน"ขาย"ได้ไหม 

 


                    แอมโบรเซีย มิลค์ หรือที่กัมพูชารู้จักในชื่อ Khun Meada (พระคุณแม่) มีที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนแออัด สตุงเมียนเจย ชานกรุงพนมเปญ  อ้างว่าเป็นธนาคารนมแม่แห่งเดียวที่นำเข้าน้ำนมจากต่างประเทศเพื่อลูกค้าในสหรัฐ  บรอนสัน วูดส์ กับ ไรอัน เนเวลล์ ร่วมหุ้นก่อตั้งเมื่อกรกฎาคม 2558 โดยได้ประโยชน์จากเครือข่ายที่วูดส์สร้างไว้สมัยเป็นมิชชันนารีมอร์มอนเดินทางมายังกัมพูชาเมื่อสองสามปีก่อนหน้านั้น  แต่ไอเดียธุรกิจนมแม่เกิดขึ้น หลังกลับไปสหรัฐ  พี่สะใภ้ของเขามีลูกแฝด แต่นมสำหรับลูกสองคนไม่พอ เมื่อสำรวจดูก็พบว่าความต้องการนมในตลาดสูง แต่ปริมาณสวนทาง  การค้านมแม่จะทำได้หากตั้งเป็นธนาคารนม หรือค้าผ่านตลาดออนไลน์ที่ยังไม่มีระเบียบควบคุม และกัมพูชา ประเทศที่เขารู้จักดี ก็ตอบโจทย์ เพราะมีอัตราการให้นมลูกในระดับสูง

 

นมแม่กัมพูชามีเหลือเฟือเจือจาน"ขาย"ได้ไหม 

 


                    broadly.vice.com ที่เจาะเรื่องนี้ ระบุว่า สตรีกัมพูชาจะได้รับค่าตอบแทน 64 เซนต์ (22.5 บาท) ต่อน้ำนม 1 ออนซ์ และปกติจะปั๊มได้วันละประมาณ 12 ออนซ์ เปรียบเทียบกับสหกรณ์นมแม่ในสหรัฐ ซึ่งจัดหานมเชิงการค้าให้แก่เมโดแลค แลบบอราทอรีส์ จะจ่ายให้ผู้บริจาคชาวอเมริกัน 1 ดอลลาร์ (35 บาท) ต่อออนซ์
                    นมที่ปั๊มจากอกแม่ในกัมพูชาจะนำไปแช่แข็งแล้วส่งไปพาสเจอไรซ์ที่รัฐยูทาห์ เตรียมส่งให้ลูกค้าทั่วสหรัฐ ผ่านการสั่งซื้อทางเว็บไซต์ที่ราคา 200 ดอลลาร์ (ราว 7,000 บาท) ต่อกล่อง กล่องหนึ่งมี 10 ซอง ซองละ 5 ออนซ์ หรือพอๆ กับน้ำอัดลมครึ่งกระป๋อง ลูกค้าของบริษัทคือคุณแม่ชาวอเมริกันที่ต้องการเพิ่มอาหารเสริมแก่ลูก หรือไม่มีนมของตัวเองมากพอ
                    เจ้าหน้าที่ของบริษัทกล่าวว่า นับจากเริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2558 บริษัทส่งออกนมแม่แช่แข็ง 500 กิโลกรัมต่อทุก 2-3 เดือน แต่ 500 กิโลกรัมหลังสุดยังค้างส่งอยู่ หลังกระทรวงไม่อนุญาต 
                    บริษัทอธิบายรูปแบบธุรกิจ คือส่งเสริมสตรีกัมพูชาให้นมลูก ควบคู่ไปกับการหารายได้พิเศษ และช่วยเติมสต็อกธนาคารน้ำนมในสหรัฐที่ยังขาดแคลน  โดยมีเกณฑ์ว่า  แม่กัมพูชาที่จะร่วมงานต้องผ่านการให้นมลูกอย่างต่ำ 6 เดือนตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ จากนั้นเป็นขั้นตอนตรวจสุขภาพและตรวจโรคที่ผู้ก่อตั้งบริษัทอ้างว่าเข้มงวดยิ่งกว่าสำนักงานอาหารและยาสหรัฐกำหนดเสียอีก บริษัทจะอนุญาตให้ปั๊มเพียงวันละ 2 ครั้ง ซึ่งหมายความว่า แม่ที่ขายนม ยังต้องให้นมลูกของตัวเองต่อไปเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม พวกเขาจึงมองว่านี่เป็นธุรกิจแบบวินวินได้ทั้งคนขายและคนซื้อ


                    แต่กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าการซื้อขายนมแม่เป็นการแสวงหาประโยชน์จากสตรียากจน เนื่องจากบั่นทอนข้อเสนอแนะที่ว่าควรให้นมลูกจนกว่าอายุ 2 ขวบ และอย่างน้อย 5 ครั้งในหนึ่งวัน ยูนิเซฟเชื่อว่าธนาคารนมแม่ไม่ควรดำเนินงานด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงผลกำไร นมส่วนเกินควรอยู่ในกัมพูชา ประเทศที่ยังมีปัญหาภาวะขาดโภชนาการและการให้นมแม่อย่างเหมาะสม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพและโภชนาการของเด็ก 

                    เช่นเดียวกับรส โสภา ผู้อำนวยการองค์กรเพศสภาพและการพัฒนาเพื่อกัมพูชา ที่กล่าวว่า การซื้อขายนมแม่อยู่ในพื้นที่สีเทาทางจริยธรรม ไม่ได้ต่างจากธุรกิจอุ้มบุญในกัมพูชา หนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่ยังอนุญาตให้ทำได้ภายใต้กฎเกณฑ์ไม่มาก โดยต่างก็มองผู้หญิงส่วนหนึ่งเป็นเครื่องมือผลิตให้ผู้หญิงและคนอีกส่วนที่มีโอกาสมากกว่า และต่อให้แม่เหล่านั้นขายน้ำนมโดยสมัครใจ แต่ก็เป็นเพราะแรงกดดันทางการเงิน ไม่มีทางเลือกเรื่องงาน และไม่มีโอกาสได้คิดวิเคราะห์

 

นมแม่กัมพูชามีเหลือเฟือเจือจาน"ขาย"ได้ไหม 


 

                แต่สำหรับคุณแม่วัย 40 ปี นางยล ทินา การปิดบริษัทแอมโบรเซีย เป็นข่าวร้าย  เธอเคยรับจ้างเย็บผ้า รายได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ขายนมจากอกตัวเองเป็นอาชีพทำเงินได้ถึงวันละ 20 ดอลลาร์ (ราว 700 บาท) หากปั๊มนมได้ 3 ขวดขนาด 10 ออนซ์ เท่ากับว่าทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ จะมีรายได้ถึง 120 ดอลลาร์ (4,200 บาท) ขณะค่าจ้างขั้นต่ำของคนงานโรงงานเสื้อผ้าทั้งเดือนอยู่ที่เพียง 144 ดอลลาร์ (ประมาณ 5,000 บาท)
                    หลังจากไม่ได้ทำงานนี้อีก แม่ลูก 4 อย่างเธอต้องอาศัยเงินเก็บที่มีไม่มากและอาศัยข้าวกินจากโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยเอ็นจีโอ สามีของเธอทำงานไม่ได้มาระยะหนึ่งเพราะป่วย เธอเองก็ยังหางานทำลำบากเพราะลูกคนเล็กสุดวัยขวบครึ่ง ไม่มีคนดูแล 
                    แม่หลายคนที่ขายน้ำนมให้แอมโบรเซีย มีเรื่องราวไม่ต่างกันมากนัก โดยรวมคือเป็นงานทำเงินดีกว่างานเย็บผ้า เก็บขยะ เก็บผัก หรือล้างจานตามร้านอาหาร และเศร้าใจไปตามๆกันที่จะต้องขาดรายได้ส่วนนี้ไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ