ข่าว

ไม่น่าเลย!!ใช้รถตักดินจับเสือเบงกอลกลายเป็นโศกนาฏกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนรักสัตว์ในอินเดียโกรธมาก หลังคลิปแชร์ว่อน เจ้าหน้าที่อุทยานใช้รถตักดินจับเสือแล้วทำมันตาย 

 


                       เหตุเศร้าสลดที่อุทยานแห่งชาติ จิม คอร์เบ็ต ทางภาคเหนืออินเดีย กำลังจุดกระแสโกรธแค้นให้กับคนรักสัตว์อย่างมาก  หลังคลิปเผยนาทีที่เสือเบงกอลตัวหนึ่ง พยายามหนีรถตักดินขนาดมหึมาที่มนุษย์นำมาใช้จับ แต่กลายเป็นทับมันตายอย่างน่าเวทนา ถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ และนักสิทธิสัตว์เตรียมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสัตว์ไร้ทางสู้ 

                    ทางการอ้างว่าเสือตัวนี้ทำร้ายแรงงานต่างถิ่นในเหมืองหินเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน เจ้าหน้าที่อุทยานได้รับมอบหมายให้ไปจับและพามันไปอยู่ลึกเข้าไปในอุยาน  เมื่อหามันเจอ เจ้าหน้าที่อุทยานยิงยาสลบ และพยายามที่จะใช้รถเจซีบีหรือรถขุดหน้าตักหลังของเหมืองหิน ยกตัวมันขึ้นมาทั้งที่ยายังไม่ออกฤทธิ์ เสือตื่นตกใจ และท่ามกลางความโกลาหล เครื่องขุดก็ทับลงไปบนตัวมัน เสือเคราะห์ร้ายตายในคืนเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่อ้างว่าตายจากติดเชื้อและขาดอากาศหายใจ 

                    แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานถูกกดดันจากเจ้าของธุรกิจเหมืองหินให้ย้ายเสือออกไป เพราะคนงานหวาดกลัวไม่กล้าทำงาน ขณะหนึ่งในทีมแพทย์เปิดเผยว่า เสือถูกยาสลบมากเกินไป และพบอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังซึ่งก็น่าจะมาจากโดนเครื่องขุดทับ แต่ยากที่จะบอกได้ชัดเจนว่าเสือตายเพราะยาสลบเกินขนาด หรือเพราะบาดเจ็บ หรือทั้งสองอย่าง 

 

  

                 สาโรช โลธี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์บอกกับไทมส์ออฟอินเดียว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนความอัปยศของมนุษย์ จากคลิปวิดีโอน่าตกใจมากที่มีคนร่วม 200 มุงดูสัตว์ประจำชาติถูกทารุณจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคอร์เบต แต่ไม่มีใครคิดช่วย กลับส่งเสียงเชียร์และเป็นประจักษ์พยานความทารุณ 

                    ด้าน เทพาภัตรา สเวน เจ้าหน้าที่สำนักงานอนุรักษ์เสือแห่งชาติของอินเดียเปิดผยว่าส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่แล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเปิดเผยว่าแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ต้องทำอะไรบางอย่างในสถานการณ์ขัดแย้งแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ แต่ไม่ควรใช้รถตักดินจับเสือ 

                    เสือเบงกอล ถูกจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในบัญชีแดงของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอซียูเอ็น) ในประเทศอินเดียมีเหลือไม่ถึง 1,500 ตัว และถูกแบ่งแยกตัดแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ทำให้การอนุรักษ์ทำได้ยาก 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ