ข่าว

ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนดูประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่เคยต้องคดีอื้อฉาว หรือต้องมีประวัติด่างพร้อยเพราะคนใกล้ตัว

 

                                โคเรีย ไทมส์ สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อนุมัติถอดถอด ปัก กึนเฮ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีตามมติของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากทำให้เธอเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอน  ยังเป็นการตีตั๋วส่งอดีตผู้นำหญิงเดินทางเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่เสื่อมเสียชื่อเสียงจากเรื่องอื้อฉาว ลุแก่อำนาจ ร่ำรวยผิดปกติและทุจริต ที่หากไม่ใช่ตนเองก็เป็นวงศาคณาญาติ หรือเพื่อนสนิท หนทางเดียวที่ ปัก กึนเฮ จะกอบกู้ชื่อเสียงไม่ให้ต้องไปรวมกลุ่มกับอดีตผู้นำคือ การต่อสู้คดียืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองหลังจากพ้นตำแหน่ง   

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

 

                                เริ่มตั้งแต่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรก ซึงมัน รี (5 ส.ค.2488 - 26 เม.ย.2503) ที่ต้องก้าวลงจากตำแหน่งหลังเผชิญการประท้วงทั่วประเทศจากเรื่องอื้อฉาวโกงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2503 ความโกรธแค้นของประชาชนพุ่งถึงขีดสุดเมื่อตำรวจยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมที่เมืองมาซาน 14 เมษายน 2503 เป็นเหตุให้นักศึกษาเสียชีวิต หลังลาออก อดีตประธานาธิบดีรีต้องระเห็จไปลี้ภัยในฮาวาย สหรัฐอเมริกา และเสียชีวิตในวันที่ 28 กรกฎาคม 2508

 

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

 

 ปัก ชองฮี (17 ธ.ค.2506-26 ต.ค.2522)

                                  บิดาของ ปัก กึนเฮ ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีลำดับที่ 3 ของเกาหลีใต้เมื่อ 17 ธันวาคม 2506 จากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจสองปีก่อนหน้านั้น ด้านหนึ่ง เป็นผู้นำที่ได้รับการยกย่องนำพาเกาหลีใต้ฟื้นตัวจากสงครามเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว แต่อีกด้านก็ถูกวิจารณ์แนวทางปกครองแบบเผด็จการ ปัก ชองฮี แก้ไขรัฐธรรมนูญจนมีอำนาจครอบคลุมทั้งบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ เมื่อถูกท้าทายอำนาจ ก็เข้าปราบด้วยกำลัง เป็นเหตุให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักเคลื่อนไหว และนักศึกษา ถูกทารุณและถูกสังหารเสียชีวิตจำนวนมาก

                               ปัก ชองฮี เสียชีวิตจากการถูกหัวหน้าสำนักข่าวกรองของเขาเองลอบสังหารเมื่อ 26 ตุลาคม 2522 โดยหนึ่งในมูลเหตุจูงใจเกิดจากความไม่พอใจที่เมื่อหัวหน้าข่าวกรองรายงานความสัมพันธ์ผิดปกติระหว่าง ปัก กึนเฮ ลูกสาวคนโตของเจ้านาย กับ ชเว แทมิน ผู้นำกลุ่มคลั่งลัทธิ บิดาของชเว ซุนซิล ศูนย์กลางเรื่องอื้อฉาวที่ปิดฉากเส้นทางการเมืองของเธอในปัจจุบัน แต่ถูกเพิกเฉย 

 

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

 

ชอน ดูฮวาน (1 ก.ย.2523 - 24 ก.พ. 2531) และ โรห์ แตวู (25 ก.พ.2531 - 24 ก.พ. 2536) 

                              หลัง ปัก ชองฮี ถูกลอบสังหาร ชอย คยูฮา นายกรัฐมนตรีเวลานั้น ขึ้นทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี แต่ดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งปี ก็ถูกนายพลชอน ดูฮวาน ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2522 อดีตประธานาธิบดีชอนกอบโกยความร่ำรวยขณะอยู่ในตำแหน่ง และเผชิญการลุกฮือต่อต้านรุนแรงที่เมืองควังจูในเดือนพฤษภาคม 2524 นายทหารที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองตอบโต้ด้วยการกวาดล้างนองเลือด ต่อมา ทนแรงกดดันกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ไหว จนต้องรับปากว่าจะหาผู้สืบทอดผ่านการเลือกตั้ง 

 

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

 

                                และโรห์ แตวู ก็กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2531 โรห์ได้รับการยอมรับเรื่องสานต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และประกาศศักดาความสำเร็จของประเทศที่ฟื้นตัวอย่างน่าทึ่งผ่านการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1988 ในกรุงโซล แต่ก็ไม่วายถูกวิจารณ์เรื่องการกวาดล้างศัตรูการเมืองอย่างโหดเหี้ยม ทั้งต่อมา เป็นที่เปิดเผยว่า โรห์ แตวู ก็เป็นผู้นำทุจริตไม่ต่างจากคนก่อน ในที่สุด อดีตประธานาธิบดีชอน และโรห์ ก็ต้องขึ้นศาลคดีรับสินบนและก่อกบฏ ถูกตัดสินลงโทษจำคุกหลายปี

 

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

คิมยังซัม (25 ก.พ.2536 - 24 ก.พ.2541) 
                                    ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของเกาหลีใต้ ที่ได้เครดิตจากการปราบคอร์รัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจังที่สุด รวมถึงการส่งอดีตผู้นำสองคนก่อนหน้าเข้าคุกในข้อหาทุจริต และข้อหาอื่นๆ ระหว่างอยู่ในตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังได้รับคำชื่นชมเรื่องการยกระดับความโปร่งใสในระบบการเงินของประเทศ แต่คุณงามความดีของเขากลับถูกเรื่องอื้อฉาวของลูกชายและคนใกล้ชิดบดบังไปจนเกือบหมด
                                    ยุคของคิม ยังซัม ยังเป็นช่วงเวลาที่เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบเกี้ยเซียะระหว่างภาคธุรกิจกับการเมืองเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก โดยในปี 2540 การล้มละลายของบริษัทเหล็กกล้า ฮันโบ สตีล ส่งผลล้มละลายเป็นลูกโซ่ รวมถึง เกีย มอเตอร์ส และยักษ์ใหญ่ก่อสร้าง ฮันซิน อันดับความน่าเชื่อทางการเงินของประเทศดิ่งเหว คลังสำรองเงินตราต่างประเทศลดฮวบ จนในที่สุดรัฐบาลประธานาธิบดีคิม ยังซัม ต้องรับความช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

 

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

 

                                คิม แดจุง (25 ก.พ.2541 - 24 ก.พ.2546) 
                                อดีตแกนนำฝ่ายค้านที่ต่อสู้กับระบอบเผด็จการจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด เป็นชาวเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2543 จากความพยายามปรับปรุงสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีภายใต้นโยบายตะวันสาดส่อง ที่นำไปสู่การประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ-ใต้ แต่ก็เผชิญเรื่องอื้อฉาวทุจริตรุมเร้าจนสิ้นสุดวาระ กรณีลูกชายสองคนถูกตัดสินจำคุกฐานรับสินบนจากนักธุรกิจแลกกับการใช้อิทธิพลช่วยเลี่ยงภาษี คิม แดจุง ต้องออกมาขอโทษต่อประชาชน และลาออกจากพรรคของเขาเอง

 

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

                                 โนห์มูฮยอน (25 ก.พ.2546 - 24 ก.พ.2551) 
                                อดีตประธานาธิบดีที่ได้รับเครดิตปิดฉากระบอบเผด็จการ แต่ก็หนีไม่พ้นเรื่องสกปรกทุจริต และจบชีวิตแบบโศกนาฏกรรมสุดช็อก กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายที่บ้านเกิด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2552 ขณะอัยการกำลังสอบสวนเอาผิดเขา ในคดีที่ภรรยา บุตรชายและหลานเขย รับเงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากนักธุรกิจที่ร่ำรวยและมีอิทธิพล แต่อดีตประธานาธิบดีโนห์ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องนี้ และรู้สึกอับอายกับการกระทำของสมาชิกในครอบครัว จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย 

 

 ทำเนียบผู้นำเกาหลีกับคดีฉาว

                                อี มยอง บัก (25 ก.พ.2551 - 24 ก.พ.2556) 
                                เป็นผู้นำเกาหลีใต้ที่เผชิญเรื่องอื้อฉาวรุมเร้าตั้งแต่ก่อนได้รับเลือกตั้ง โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ 4 สาย  และในขณะดำรงตำแหน่ง เจอการประท้วงอย่างโกรธแค้นของเกษตรกรและแนวร่วมกรณีนำเข้าเนื้อวัวที่มีข้อครหาว่าไม่ได้คุณภาพจากสหรัฐอเมริกาในปี 2551 และแม้ว่า อี มยองบัก ไม่เคยตกเป็นเป้าสอบสวนด้วยตัวเอง แต่พี่ชาย เพื่อนสนิทและคนใกล้ชิดหลายคน ต้องโทษฐานกระทำผิดทุจริตหลายคดี 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ