ข่าว

วิกิลีกส์ เขย่าซีไอเอ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซีไอเอกำลังเจอโมเมนต์เดียวกับตอนที่เอ็นเอสโดนสโนว์เดนแฉ

 

                            สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ  (เอ็นเอสเอ)  เคยตกที่นั่งลำบากและอับอายขายหน้าอย่างไรเมื่อครั้งที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นักวิเคราะห์ข้อมูลลูกจ้างบริษัทคู่สัญญา เปิดโปงโครงการสอดแนมลับชาวอเมริกันและทั่วโลกผ่านสื่อใหญ่หลายสำนักเมื่อ 6 ปีก่อน เวลานี้สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ก็กำลังเผชิญโมเมนต์ไม่ต่างกัน 
                            เมื่อโจทก์เก่ารัฐบาลวอชิงตันอย่างวิกิลีกส์ เวบไซต์เรียกร้องความโปร่งใสสุดขั้ว เปิดโปงเครื่องมือ เทคนิคและรหัสสอดแนมที่ซีไอเออาศัยช่องโหว่ที่พบในซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์รวมทั้งที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกัน สร้างมัลแวร์เข้าไปแทรกซึมและควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี ให้กลายเป็นอุปกรณ์ดักฟังได้ทุกเมื่อ พร้อมคุยว่า นี่เป็นการเปิดเผยข้อมูลลับจากซีไอเอครั้งใหญ่สุด ภายใต้ชื่อรหัสเรียกขานว่า “Vault 7”   

 

 วิกิลีกส์ เขย่าซีไอเอ 


                            ข้อมูลใหม่ของวิกิลีกส์ ดูเหมือนมาจากศูนย์ข่าวกรองไซเบอร์ของซีไอเอ ที่มีทีมงานราว 200 คน และมีฐานอยู่ภายในสำนักงานใหญ่ซีไอเอ เมืองแลงลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย เอกสารเกือบ 9,000 ชิ้นที่เผยออกมาเมื่อวันอังคาร เป็นแค่ชุดแรกจากทั้งหมดที่ได้มามากมายมหาศาล วิกิลีกส์ตั้งชื่อคอลเลคชั่นแรกว่า  “Year Zero”  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นช่วงปี 2556-2559 ซึ่งถือว่ายังใหม่อยู่มาก 


                            ในทางเทคนิคและขีดความสามารถสอดแนมของหน่วยสืบราชการลับแถวหน้าของโลก ไม่ได้สร้างความประหลาดใจนัก เพราะทั่วโลกได้รู้จักโครงการลักษณะนี้พอสมควรแล้วกับการเปิดโปงของสโนว์เดน  กระนั้น การที่ข้อมูลลับกลายเป็นข้อมูลเปิด  จุดคำถามอีกครั้งเกี่ยวกับศักยภาพของหน่วยจารกรรมของสหรัฐอเมริกาในการปกป้องข้อมูลลับในยุคดิจิทัล นับจากอดีตทหาร เชลซี แมนนิง นักวิเคราะห์ข่าวกรองกองทัพสหรัฐ แพร่งพรายข้อมูลลับทางทหารในอิรักและอัฟกานิสถานเมื่อปี 2553 และสโนว์เดนเปิดโปงโครงการสอดแนมลับของเอ็นเอสเอ และGCHQ สำนักข่าวกรองอังกฤษเมื่อปี 2556 
                            เอกสารของวิกิลีกส์ให้ข้อมูลน่าสนใจ เช่น  สถานกงสุลสหรัฐในเมืองแฟรงเฟิร์ต ประทศเยอรมนี คือฐานแฮคที่สำคัญของสหรัฐ  เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศหลายคนที่ทำงานที่นั่น แท้จริงคือแฮคเกอร์ซีไอเอที่สอดแนมแอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง หรือเรื่องที่ซีไอเอเคยสำรวจหาวิธีการเจาะระบบเพื่อควบคุมรถและทำให้พุ่งชน ซึ่งวิกิลีกส์ระบุว่าจะทำให้เป็นการลอบสังหารโดยไม่สามารถตรวจจับได้

 

 วิกิลีกส์ เขย่าซีไอเอ 

 

                            เวบไซต์จอมแฉระบุว่า ซีไอเอสร้างระบบมัลแวร์, ไวรัสต่างๆ โทรจันและซอฟต์แวร์อื่นๆ กว่า 1,000 ตัว ที่สามารถแทรกซึมและควบคุมระบบอิเล็คทรอนิคส์ของเป้าหมายได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ คลังอาวุุธไซเบอร์ทะลุละลวงความเป็นส่วนตัวของซีไอเอ ถูกขโมยไปจนเกือบหมด และอาจตกอยู่ในมืออาชญากรหรือสปายต่างชาติก็ได้ เพราะวิกิลีกส์เองก็ได้ข้อมูลบางส่วน ที่ถูกขโมยมาและส่งต่อกันอยู่ในอดีตแฮคเกอร์และคู่สัญญารัฐบาล  
                            ส.ส.สหรัฐบางคนจึงเรียกร้องรัฐสภาเปิดสอบสวนทันที ว่าจริงหรือไม่ที่ซีไอเอคุมเครื่องมือแฮคในคลังแสงไซเบอร์ไม่อยู่แล้ว  ใครบ้างที่อาจได้ไปอยู่ในมือ  แล้วจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกันอย่างไร  จูเลียน อาซานจ์ บรรณาธิการวิกิลีกส์ ระบุในแถลงการณ์ว่า  เอกสารเหล่านี้ชี้ให้เห็น “อันตรายอย่างสูงสุด” ของการพัฒนาและแพร่กระจายอาวุธไซเบอร์

                            โยนบาปไปที่คนอื่น 
                            ตามข้อมูลที่วิกิลีกส์ได้มา  ซีไอเอมีกฎว่า แฮคเกอร์จะต้องใช้อาวุธไซเบอร์ในทางที่ไม่ให้สามารถแกะรอยกลับมาที่ซีไอเอ รัฐบาลสหรัฐ หรือบริษัทหุ้นส่วนได้อย่างเด็ดขาด  
                            ทั้งนี้หลังจากบุคคล บริษัท หรือรัฐบาลถูกล้วงข้อมูล ก็มักจะใช้บริการผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยประเมินตรวจสอบ  และเครื่องมือที่นำมาใช้สอบสวน ก็มักช่วยให้หาตัวคนโจมตีได้ แต่ซีไอเอมีหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจหลักคือการหลอกล่อและทิ้งลายนิ้วมือดิจิทัลของ"ผู้อื่น"ไว้ เช่น แฮคเกอร์ในรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์จึงมักเตือนเป็นประจำ มิให้ด่วนโทษประเทศใดประเทศหนึ่งเมื่อมีการเจาะระบบเกิดขึ้น  และการเปิดโปงของวิกิลีกส์อาจเพิ่มน้ำหนักในข้อนี้ เช่นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักสงสัยเสมอว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังการแฮคเซิร์ฟเวอร์อีเมล์ของพรรคเดโมแครต เพื่อพยายามป่วนผลเลือกตั้งอเมริกันจริงหรือ   

 วิกิลีกส์ เขย่าซีไอเอ 

(จูเลียน อาซานจ์ บก.วิกิลีกส์ ) 

 


สปายมือถือ-ทีวี 
 
                            ผู้เชี่ยวชาญของซีไอเอ พัฒนาซอฟต์แวร์เจาะระบบซัมซุง สมาร์ท ทีวี รุ่น F8000 ทำให้ทีวีเข้าสู่โหมด “fake off” และทำให้เป้าหมายหลงเชื่อว่า ทีวีดับไปเอง แต่ความจริงมันคือ “บั๊ก” ที่บันทึกการสนทนาภายในห้องและส่งผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังเซิร์ฟเวอร์ลับของซีไอเอ  ซอฟต์แวร์ตัวนี้ชื่อ “Weeping Angel” พัฒนาโดย“เอ็มเบ็ดเด็ด ดีไวเซส บรานช์” หน่วยงานในสังกัดศูนย์ข่าวกรองไซเบอร์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักข่าวกรองภายในอังกฤษ หรือ เอ็มไอไฟว์ 


                            ซีไอเอยังอีกทีมงานหนึ่งที่สร้างเครื่องมือแฮคใช้บังคับไอโฟน ไอแพด อุปกรณ์สื่อสารระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ตลอดจนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบวินโดว์ แม็กโอเอส และลีนุกซ์ จากระยะไกล เพื่อใช้กล้องบันทึกวิดีโอ ฟังเสียงจากไมโครโฟน และติดตามพิกัด 
                            สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว และมั่นใจในการใช้แอพพลิเคชั่นสนทนาเข้ารหัส เช่น  Signal  Telegram และ  WhatsApp แต่วิกิลีกส์ชี้ว่า หากระบบปฏิบัติการถูกเจาะ การได้อ่านข้อความก่อนเข้ารหัสและส่งไปยังผู้รับย่อมเป็นไปได้ แต่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่จะรู้ได้ว่าโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือทีวีถูกซีไอเอแฮคหรือไม่ 
                            กลุ่มสิทธิมนุษยชน ไพรเวซี อินเตอร์เนชันแนล ระบุในแถลงการณ์ว่า อำนาจในการล้วงข้อมูลของรัฐบาลเป็นเรื่องที่กลุ่มเตือนมานาน  อุปกรณ์สมาร์ทเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต อย่าง ทีวีซัมซุง มีมากขึ้นเรื่อยๆในยุคนี้แต่การปกป้องความปลอดภัยยังไม่มากพอ ทำให้รัฐบาลเข้าถึงชีวิตส่วนตัวของผู้คนได้ง่าย 
                            ซีไอเอยังยึดจุดยืนตามธรรมเนียม  คือไม่ปฏิเสธหรือยืนยันข้อมูลใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรอง  แต่หลายฝ่าย รวมถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่ลี้ภัยในรัสเซีย ทวิตว่า ข้อมูลที่วิกิลีกส์เผยแพร่น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะมีแต่คนในเท่านั้นที่จะลงรายละเอียดแบบนี้ได้ และเชื่อด้วยว่า คนที่แพร่งพรายหรือแฮคเกอร์กำลังถูกตามล่าตัวอย่างแน่นอน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ