ข่าว

ภาพถ่ายโลกความละเอียดสูงจากห้วงอวกาศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นาซา และโนอา เปิดเผยภาพถ่ายจากดาวเทียมตรวจสภาพอากาศดวงใหม่ล่าสุด ที่ให้ความแม่นยำในการพยากรณ์ รวมทั้งระบุเวลาของสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ถูกต้องมากขึ้น

    

            การพยากรณ์อากาศเป็นเรื่องที่ประเทศตะวันตกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะสภาพอากาศในบ้านเขานั้น มีความรุนแรงมากกว่าบ้านเราหลายเท่า เนื่องจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศเหล่านั้นที่ตั้งอยู่เหนือ หรือใต้ เส้นศูนย์สูตรค่อนข้างมาก จึงส่งผลให้สภาพความเย็น หรือความร้อน ที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้นจะเกิดขึ้นในแบบสุดขั้วอย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ เช่น ในช่วงปีที่แล้วที่มีพายุหิมะถล่มภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง นำพาปุยหิมะสีขาวมาถมท่วมพื้นที่สูงเป็นเมตร ซึ่งถ้าการพยากรณ์อากาศของสหรัฐอเมริกาทำได้ไม่ดีพอจะทำให้ประชาชนไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน ซึ่งแน่นอนจะก่อให้เกิดหายนะขึ้นมาในสังคมได้ 

 

ภาพถ่ายโลกความละเอียดสูงจากห้วงอวกาศ

 

            จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะทุ่มเทกับความพยายามในการพยากรณ์อากาศจนถึงขั้นส่งดาวเทียมตรวจอากาศ GOES (Geostationary Operational Environmental Satellite) โดยสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งขึ้นไปสำรวจสภาพอากาศโลกตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา รวมทั้งการส่งดาวเทียม GOES-16 (ชื่อเดิม GOES-R) 1 ใน 4 ดาวเทียมตรวจอากาศรุ่นใหม่ล่าสุด

            ดวงแรกขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่จะทำหน้าที่ถ่ายภาพสภาพอากาศของโลกทั้งใบในมุมสูง 22,300 ไมล์ เหนือเส้นศูนย์สูตร พร้อมกับอุปกรณ์เก็บภาพสภาพอากาศรุ่นใหม่ “Advanced Baseline Imager” ที่มีพลังในการประมวลผลรวดเร็วกว่าอุปกรณ์เจเนอเรชั่นก่อนถึง 5 เท่า ทำให้เก็บภาพโลกทั้งใบได้ในเวลา 15 นาที หรือจะเจาะเฉพาะทวีปอเมริกาก็ใช้เวลาเพียงไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น ทั้งยังเก็บภาพท่ี่มีความละเอียดสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 4 เท่า ทั้งยังเก็บภาพใน 16 ความถี่แสง เพิ่มขึ้นจากอุปกรณ์รุ่นก่อนหน้านี้ ทำได้เพียง 5 ความถี่แสง

 

ภาพถ่ายโลกความละเอียดสูงจากห้วงอวกาศ

 


            ความถี่แสงที่ GOES-16 สามารถตรวจจับได้นั้น เป็นความถี่แสงในสภาพปกติ 2 ความถี่ ความถี่แสงระดับใกล้เคียงอินฟราเรด 4 ความถี่ และ ความถี่ ระดับอินฟราเรดอีก 10 ความถี่ 
          นาซาย้ำความสำคัญของการถ่ายภาพสภาพอากาศโลกในคลื่นความถี่แสงที่แตกต่างกันว่าเป็นการเปิดช่องทางการศึกษาส่วนประกอบของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือสภาพอากาศในเวลานั้นๆ เช่น สถานะของเมฆ ไอน้ำในอากาศ หมอกควัน น้ำแข็ง หรือเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ ที่ปรากฏอยู่ในภาพซึ่งจะมีการสะท้อนแสงอาทิตย์ หรือมีการปล่อยรังสีออกจากตัวในคลื่นความถี่ที่แตกต่างกันออกไป ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น 

ภาพถ่ายโลกความละเอียดสูงจากห้วงอวกาศ


            ดาวเทียม GOES-16 ยังมาพร้อมกับเครื่องตรวจจับ-ถ่ายภาพแผนที่การเกิดฟ้าผ่า โดยจะตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ผ่านจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อน หรือจากก้อนเมฆลงไปยังพื้นดิน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและความหนาแน่นของพายุ

 

ภาพถ่ายโลกความละเอียดสูงจากห้วงอวกาศ

( จับภาพดวงจันทร์  เมื่อ 15 ม.ค.)

          ในเวลาเดียวกันนี้ โนอา หรือ สำนักงานบริหารมหาสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ก็มีแผนการปล่อยดาวเทียม GOES ดวงต่อไปภายในปี 2561 โดยว่าจ้างบริษัท ล็อคฮีท มาร์ติน สร้างและอยู่ในขั้นตอนการทดสอบความทนทานต่อสภาพแวดล้อมในโรงงานของล็อคฮีท มาร์ติน ในรัฐโคโลราโด โดยดาวเทียม GOES-17 จะขึ้นไปยังวงจรรอบโลกในขั้วตรงข้ามกับดาวเทียม GOES-16 เพื่อเก็บภาพสภาพอากาศได้ครอบคลุมรวดเร็วยิ่งขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ