ข่าว

จอร์แดนใช้เทคนิคฝนหลวงแก้ขาดแคลนน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นอกจากโครงการฝนหลวง ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำในแผ่นดินไทยแล้ว โครงการนี้ยังได้รับความสนใจจากจอร์แดน ซึ่งได้ขอพระราชทานอนุญาตนำเทคนิคการสร้างฝนเทียม


         จอร์แดนเป็นอีกประเทศในโลกที่มีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน และทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอต่อประชาชนในประเทศ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเมื่อสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติได้ ซึ่งทุกวันนี้ประเทศจอร์แดนนำ "โครงการฝนหลวง" โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปใช้ในการทำฝนเทียม เพื่อกระตุ้น หรือ เพิ่มปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศ

       เทคโนโลยีฝนเทียมได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดยเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรของประเทศไทย พระองค์ทรงค้นพบเทคนิคใหม่ในการเพิ่มความหนาแน่นของเมฆ ที่จะมีผลต่อเนื่องในการช่วยเพิ่มปริมาณฝนตกมากขึ้น

         โมฮัมหมัด ซามาวี อธิบดีกระทรวงเกษตรของจอร์แดน กล่าวว่า จอร์แดนถูกจัดเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำอันดับต้นๆ ของโลก และปัญหานี้ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ และด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้จอร์แดนยิ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น และฝนไม่ตกตามฤดูกาล

       แม้ก่อนหน้านี้จอร์แดนจะพยายามพัฒนาโครงการฝนเทียมขึ้นมาเองในช่วงปี 2532 -2538 แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ในที่สุด จึงขอพระราชทานอนุญาตนำเทคนิคการสร้างฝนเทียมของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปใช้ในปี 2552 ซึ่งพระองค์ทรงยินดีถ่ายทอดเทคนิคการทำฝนเทียมไปใช้ให้เกิดประโยชน์

     ต่อมา ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน 2558 รัฐบาลจอร์แดนส่งนักวิชาการ จำนวน 8 คน มารับการฝึกอบรบการทำฝนหลวง และฝึกปฏิบัติการฝนหลวง ที่ประเทศไทยก่อนจะนำเทคนิคนี้ไปใช้ที่ประเทศจอร์แดน และมีการลงนามความเข้าใจระหว่างไทยและจอร์แดนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา


เครดิต NationTV 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ