ข่าว

สหรัฐเคาะงบช่วยทางทหารอิสราเอลทุบสถิติ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สหรัฐ-อิสราเอลลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความช่วยเหลือเหลือด้านการทหาร 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในระยะ 10 ปี 


            ข้อตกลงความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐและอิสราเอลลงนามเมื่อวันพุธ ( 14 ก.ย.)ตามเวลาท้องถิ่น  ถือเป็นการให้คำมั่นช่วยเหลือทางทหารแบบทวิภาคีมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์สหรัฐ                  ภายใต้ข้อตกลงใหม่ อิสราเอลจะได้รับความช่วยเหลือปีละ 3,800  ล้านดอลลาร์เริ่มจากปี 2562 จนถึงปี 2571 เพิ่มจากข้อตกลงปัจจุบันที่จะหมดอายุในปี 2561 สหรัฐมอบความช่วยเหลือแก่พันธมิตรสำคัญ 3,100 ล้านดอลลาร์ต่อปี 
           อย่างไรก็ดี ข้อตกลงใหม่ที่ใช้เวลาเจรจาอย่างเคร่งเครียดนานถึง 10 เดือน มีเงื่อนไขว่า อิสราเอลจะค่อยๆลดการนำเงินช่วยจากสหรัฐ ไปใช้สนับสนุนอาวุธที่ผลิตเองในประเทศ จนยกเลิกไปในท้ายที่สุด และต้องนำงบทั้งหมดมาใช้จ่ายกับอุตสาหกรรมทหารของสหรัฐ  นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่งบความช่วยเหลือ จะครอบคลุมโครงการป้องกันขีปนาวุธ ต่างจากข้อตกลงฉบับก่อนๆ ที่อิสราเอลจะยื่นขอและรัฐสภาสหรัฐอนุมัติงบด้านนี้แยกต่างหากและเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นการลดบทบาทของสภาคองเกรสในอนาคต 

          สหรัฐเพิ่มตัวเลขความช่วยเหลือ แม้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา แสดงท่าทีไม่พอใจนโยบายเร่งขยายนิคมและสิ่งปลูกสร้างของอิสราเอลบนที่ดินยึดครองของปาเลสไตน์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ไม่มีท่าทีอ่อนข้อ และเพิ่งพูดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า นักวิจารณ์นิคมชาวยิว คือการสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันระบุว่า เป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม  
         ถึงอย่างนั้น อิสราเอลถือว่าสหรัฐอเมริกาคือพันธมิตรหมายเลขหนึ่ง และ ยังเป็นประเทศผู้รับความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่สุด และเป็นลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกอาวุธสหรัฐในเวลาเดียวกัน  

 

สหรัฐเคาะงบช่วยทางทหารอิสราเอลทุบสถิติ 


         มีรายงานว่ารัฐบาลนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ต้องการให้สหรัฐช่วยเหลือทางทหารปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 10 ปี โดยให้เหตุผลเพราะภัยคุกคามหลังมหาอำนาจบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งเป็นคู่ปรับอิสราเอล ตามด้วยการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร  ที่จะเอื้อให้อิหร่านกลับมาหนุนหลังบรรดาศัตรูของอิสราเอลในภูมิภาค อาทิ กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ 
         ความสัมพันธ์ระหว่างนายเนทันยาฮูและโอบามาค่อนข้างเย็นชา นับตั้งแต่มีนาคม 2558 เมื่อนายเนทันยาฮูเดินทางไปลอบบี้ถึงรัฐสภาสหรัฐ ให้คว่ำข้อตกลงยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่ประธานาธิบดีโอบามาพยายามผลักดัน  ทำเนียบขาวมองว่าเป็นการแทรกแซงของผู้นำต่างประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน 
         อย่างไรก็ดี เมื่อเจรจาเรื่องความช่วยเหลือทางทหาร ผู้นำทั้งสองละวางการเห็นต่าง และมุ่งบรรลุข้อตกลงระหว่างกัน โดยส่วนหนึ่ง ประธานาธิบดีโอบามาเองต้องการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของเขาสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอลไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อสยบเสียงวิจารณ์จากพรรครีพับลิกันว่าช่วยเหลือพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลางไม่มากพอ 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ