
อุณหภูมิเฉลี่ยโลกร้อนทุบสถิติ 14 เดือนติด
เดือนที่แล้วเป็นมิถุนายนร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และนับเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกันแล้วของการอยู่ในโลกร้อนทุบสถิติ
สำนักงานบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติสหรัฐ (โนอา) และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ย พื้นผิวและมหาสมุทรทั่วโลกเมื่อเดือนที่แล้ว แตะระดับสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกในเดือนมิถุนายน นับจากเริ่มเก็บสถิติอุณหภูมิในปี ค.ศ. 1880 เป็นต้นมา และยังทำลายสถิติอุณหภูมิรายเดือนเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ยาวนานที่สุดในรอบ 137 ปีอีกเช่นกัน
รายงานที่โนอาและนาซาเผยแพร่ทุกเดือน ระบุว่าอุณหภูมิเหนือผิวโลกและมหาสมุทรโดยเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 สูงขึ้น 0.9 องศาเซลเซียส จากค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ซึ่งอยู่ที่ 15.5 องศาเซลเซียส และสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยปี 2558 ราว 0.02 องศาเซลเซียส
“มิถุนายน 2559 ถือเป็นมิถุนายนที่ 40 ติดต่อกันแล้วที่มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20”แถลงการณ์ระบุ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อุณหภูมิที่อาร์คติกในช่วง 6 เดือนแรกของปีแปรปรวนยิ่งกว่า และเป็นปัจจัยที่ดันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้น ความอุ่นและสภาพอากาศผิดปกติ ทำให้ปริมาณน้ำแข็งลดต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยมี 5 เดือนจาก 6 เดือนที่น้ำแข็งละลายเร็วกว่าปกติ ทำให้เห็นทะเลน้ำแข็งมีขนาดเล็กที่สุดนับจากใช้ดาวเทียมเก็บสถิติในปี 2522
แกวิน ชมิดท์ นักกาลวิทยาของนาซากล่าวว่า อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอล นินโญ ที่ดันปรอทขึ้นทำสถิติเรื่อยมาตั้งแต่เมษายน 2558 แต่เอลนินโญอ่อนกำลังลงแล้ว และชัดเจนว่าเป็นผลจากภาวะโลกร้อน
สถิติอุณหภูมิปี 2559 ที่ผ่านมาแล้วครึ่งทาง บ่งว่าจะเป็นปีที่ร้อนทำสถิติใหม่อีก หลังจากปี 2558 เพิ่งทุบสถิติปีร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ปี 2557 เพิ่งทำไว้