ข่าว

ก่อกบฎตุรกีจบนองเลือดดับ 265 จับทหารเกือบ 3,000 คน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตุรกีระส่ำหลังทหารกลุ่มหนึ่งพยายามยึดอำนาจ รัฐบาลประกาศคุมสถานการณ์ได้แล้ว มีผู้เสียชีวิต 265 รายส่วนมากพลเรือน กวาดจับทหารเกือบ3,000 คน

    

         ( 15 ก.ค.) รัฐบาลตุรกีประกาศว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วในเช้าวันเสาร์ และเรียกประชุมรัฐสภาในบ่ายวันเดียวกัน หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารของทหารกลุ่มหนึ่ง ประสบความล้มเหลว ท่ามกลางความสับสนอลหม่านตลอดคืน เสียงระเบิด เสียงเครื่องบินรบหวีดก้อง และเสียงปืนดังสนั่นเป็นระยะในเมืองหลวงและอิสตันบุล ทหารยิงใส่มวลชนที่แห่แหนออกมาชุมนุมบนถนนโดยไม่หวั่นเกรงรถถัง และเฮลิคอปเตอร์ที่ทหารใช้สนับสนุนการก่อรัฐประหาร ถูกเครื่องบินรบเอฟ 16 ยิงตกที่อังการา 


         ทางการแถลงล่าสุดว่า มีผู้เสียชีวิต 265ราย ส่วนมากเป็นพลเรือน บาดเจ็บอีก 1,440คน          

         ทหารถูกจับกุมอย่างน้อย 2,839 คน โดย พลจัตวา เนจัต อติลลา เดมีร์ฮัน เป็นทหารยศสูงสุดที่ถูกจับ 

          ทางด้าน สถานีโทรทัศน์เอ็นทีวี รายงานว่า มีทหารยศนายพล 5 คน กับพันเอก 29 คนถูกปลด และนายพลคนหนึ่งที่มีส่วนวางแผนยึดอำนาจ ถูกสังหารเมื่อคืนที่ผ่านมา

          รัฐบาลแต่งตั้ง พล.อ.อูมิต ดุนบาร์ แม่ทัพภาค 1 รักษาการผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ แทนคนเดิมที่ไม่ได้ปรากฎตัวนับจากรัฐประหารเริ่มขึ้น จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

         สนามบินอตาเติร์กในนครอิสตันบุลเปิดทำการ และสถานีโทรทัศน์บางช่องเริ่มกลับมาออกอากาศตามปกติแล้ว หลังถูกปิดไปชั่วคราวเมื่อถูกทหารเข้าควบคุม และทหารที่เข้ายึดสะพานสำคัญ 2 แห่งในอิสตันบุลยอมมอบตัวแล้ว

ก่อกบฎตุรกีจบนองเลือดดับ 265 จับทหารเกือบ 3,000 คน

 

                ทั้งนี้ สถานการณ์ในนครอิสตันบุลและกรุงอังการา เมืองหลวงอยู่ในความโกลาหล นับจากเมื่อคืนวันศุกร์ มีทหารกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่าชื่อ "สภาสันติภาพ"" เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ ทีอาร์ทีของทางการ และประกาศรัฐประหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาล ออกกฎอัยการศึก และบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลบ่อนทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมการแบ่งแยกศาสนาออกจากอำนาจปกครอง

           เสียงปืนและเสียงระเบิดดังเป็นระยะทั้งในอิสตันบุลและอังการาตลอดทั้งคืน รถถังยิงโจมตีอาคารรัฐสภาที่มีสมาชิกรัฐสภาหลบซ่อนตัวอยู่ด้านใน และเครื่องบินขับไล่ของรัฐบาลยิงสอยเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกกลุ่มก่อรัฐประหารนำไปใช้บินลาดตระเวนเหนือกรุงอังการา

 

ก่อกบฎตุรกีจบนองเลือดดับ 265 จับทหารเกือบ 3,000 คน

          ประธานาธิบดีเรเจ๊ป ไตยิบ แอร์ดวน ซึ่งพักตากอากาศในเมืองมาร์มาริสของประเทศเดินทางถึงอิสตันบุลเช้าวันนี้ และแถลงที่สนามบิน อตาเติร์กว่า พวกกบฏจะต้องถูกลงโทษอย่างสาสมสำหรับการทรยศในครั้งนี้ และจะเริ่มปัดกวาดคนเหล่านั้นให้หมดไปจากกองทัพ “ตุรกีจะไม่มีวันถูกปกครองโดยทหาร” ผู้นำตุรกีกล่าว และเผยด้วยว่า เกิดระเบิดที่โรงแรม หลังเขาออกจากที่นั่น

          ก่อนหน้านั้นนายแอร์ดวนใช้โทรศัพท์ติดต่อสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น เติร์กด้วยระบบเฟซไทม์ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังต่อต้านการรัฐประหาร โดยบอกว่าไม่มีพลังอื่นใดอยู่เหนือพลังประชาชน และเราจะชนะ คนที่พยายามก่อรัฐประหารจะต้องได้รับโทษอย่างสาสม

 

ก่อกบฎตุรกีจบนองเลือดดับ 265 จับทหารเกือบ 3,000 คน

       

       ประชาชนเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลทั้งในนครอิสตันบุลและกรุงอังการา และเผชิญหน้ากับรถถังและทหารที่เฝ้าคุมพื้นที่ รวมทั้งเข้ายึดรถถังไว้หลายคัน ทหารใช้ปืนยิงสลายฝูงชน และเบื้องต้นมีตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 60 ราย โดยอัยการระบุ มีผู้เสียชีวิต 42 รายในกรุงอังการา ซึ่ง 17 รายเป็นตำรวจ

      . ถึงขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหาร  ประธานาธิบดีแอร์ดวน โทษนายเฟทุลเลาะฮ์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาตุรกีที่ลี้ภัยในสหรัฐ ว่าอยู่เบื้องหลัง แต่นายกูเลนประณามการก่อกบฎทั้งกล่าวว่า ควรใช้กระบวนการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ใช่ด้วยกำลัง

 

เฟทุลเลาะฮ์ กูเลน

          นายกูเลน  วัย 75 ปี เป็นนักการศาสนาและอดีตพันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีแอร์ดวน แต่ทั้งสองแตกคอกัน หลังจากนายแอร์ดวนไม่ไว้ใจกลุ่มผู้เลื่อมใสนายกูเลน ที่เรียกว่าขบวนการฮิซเมต และอิทธิพลของขบวนการนี้ในสังคมตุรกี รวมสื่อในสื่อ ตำรวจและกระบวนการยุติธรรม  นายกูเลนตัดสินใจย้ายไปอยู่ในสหรัฐเมื่อปี 2542 ก่อนถูกแจ้งข้อหาก่อกบฏทรยศประเทศชาติ ปัจจุบัน อาศัยที่เมืองเล็กๆในแถบเทือกเขา โปโคโน รัฐเพนซิลวาเนีย

          ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีแอร์ดวน ถูกวิจารณ์หนักหน่วง และมีการประท้วงบนท้องถนนเป็นประจำ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าปกครองประเทศแบบเผด็จการอำนาจนิยมมากขึ้นทุกที กวาดล้างฝ่ายค้านและพยายามปิดปากสื่อ กระนั้น ประชาชนก็ไม่สนับสนุนให้กองทัพออกมาโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารหลายคนและ 4 พรรคการเมืองใหญ่ รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน ไม่ยอมรับการใช้วิธีนอกรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าเป็นฝีมือของทหารกลุ่มเล็กๆเท่านั้นในกองทัพ

          หากการก่อรัฐประหารสำเร็จ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของตะวันออกกลางในรอบหลายปี แต่แม้ในที่สุดประสบความล้มเหลว ก็ยังอาจทำลายเสถียรภาพของประเทศ ที่ผ่านมาตุรกีเคยเผชิญการรัฐประหารหลายครั้ง โดยครั้่งหลังสุดเกิดขึ้นในปี 2523

          ประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐ ออกแถลงการณ์สนับสนุนประธานาธิบดีแอร์ดวน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในตุรกีสนับสนุนรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง และให้ทุกคนในตุรกียับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง หรือการนองเลือด นอกจากนี้รัสเซีย องค์การนาโต้ และสหภาพยุโรปเรียกร้องให้เกิดเสถียรภาพในตุรกี และอิหร่านซึ่งมีพรมแดนติดกับตุรกีจับตาสถานการณ์ด้วยความวิตกอย่างยิ่ง และย้ำจำเป็นต้องรักษาเอกภาพในตุรกี
 

 

          

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ