ข่าว

ถึงเวลาชี้ชะตาอังกฤษกับอียู "อยู่"หรือ"หย่า"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังขับเคี่ยวหาเสียงอย่างเข้มข้น วันนี้ชาวอังกฤษจะหย่อนบัตรเลือกอยู่หรือไป แต่หากโหวต"ออก" ทางเลือกที่หมายถึงการเปลียนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ จะเกิดอะไรขึ้น

        ชาวอังกฤษทั่วประเทศราว 46.5 ล้านคน เตรียมออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงแบบที่เรียกได้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเลือกอนาคตในระยะยาวของตนเอง ในหัวข้ออย่างเป็นทางการว่า “ประชามติว่าด้วยการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร" นับเป็นการตัดสินทิทางของประเทศด้วยเสียงประชาชนโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา อังกฤษไม่เคยลงประชามติในประเด็นความสัมพันธ์กับยุโรปอีกเลย แม้ว่าในครั้งนั้นมีผู้ออกเสียงมากถึง 67% ที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในประชาคมยุโรป (อีซี)

     แต่สถานการณ์จากนั้นมาเปลี่ยนไปมาก จากอีซีเปลี่ยนโฉมมาเป็นสหภาพยุโรป (อียู) มีสมาชิก 28 ประเทศ เป็นตลาดเดียว เปิดเสรีการค้าและการอพยพเคลื่อนย้ายราวกับว่า รัฐสมาชิกคือหนึ่งประเทศ มีรัฐสภาของตนเองที่วางกฎเกณฑ์ต่างๆ ในหลายด้าน รวมถึงสิ่งแวดล้อม การคมนาคม สิทธิผู้บริโภค กระทั่งเรื่องปลีกย่อยอย่างที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ มาจนถึงจุดสงสัยไม่พอใจที่อียูเข้ามากำหนดชีวิตของพวกเขามากเกินไป

ถึงเวลาชี้ชะตาอังกฤษกับอียู "อยู่"หรือ"หย่า"

         ในวันนี้ ผู้ใช้สิทธิ์จะได้รับบัตรมีคำถามว่า “สหราชอาณาจักรควรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือออกจากสหภาพยุโรป” โดยเลือกกากากบาทในช่องสี่เหลี่ยม ระหว่าง “ออก” หรือ “อยู่” (Leave หรือ Remain)

        คูหาเลือกตั้งประมาณ 4.1 หมื่นแห่ง จะเปิดให้ลงคะแนน ระหว่าง 07.00-22.00 น. (13.00 น.วันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย. ถึงเวลา 04.00 น. วันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. ตามเวลาประเทศไทย)

      การนับคะแนนจะเริ่มขึ้นทันทีหลังปิดคูหา จากนั้นคาดว่าจะทราบผลคะแนนแรก ในเวลาประมาณเที่ยงคืน และพอจะรู้แนวโน้มว่า ฝ่าย Leave หรือ Remain ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหรือชนะ ในเวลาประมาณ 03.30 น. (09.30 น. วันศุกร์ที่ 24 มิ.ย.)

      ศูนย์รวมคะแนนประจำภูมิภาค 12 แห่ง จะรวบรวมคะแนน และส่งเข้าศูนย์กลางที่เมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ ที่ศาลาว่าการเมืองแมนเชสเตอร์ ช่วงเช้าวันศุกร์ต่อไป

      ผลหยั่งเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย ให้ฝ่ายสนับสนุนอยู่กับอียู มีคะแนนนำเล็กน้อย แต่ในภาพรวมถือว่า สองฝ่ายมีคะแนนสูสีจนยากจะฟันธง สื่ออังกฤษเองก็แตกออกเป็นสองข้างอย่างชัดเจน ท่ามกลางการลุ้นระทึกจากสหภาพยุโรป และทั้งโลก ด้วยหากผลออกมาว่า เบร็กซิท หรือฝ่ายที่ต้องการออกจากอียู ชนะการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ ยังไม่มีใครบอกได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสหราชอาณาจักรและต่อระเบียบโลก

      แต่สื่อและนักสังเกตการณ์คาดว่า เหล่านี้คือผลที่จะตามมา และน่าจับตานับจากเช้าวันใหม่หลังการลงประชามติ

อนาคต “คาเมรอน”

           เดวิด คาเมรอน อาจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม เนื่องจากคาเมรอนเดิมพันอนาคตของตนเอง ด้วยการเสนอจัดให้ลงประชามติ 23 มิถุนายน ตามที่เคยให้สัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และเป็นผู้นำรณรงค์ฝ่าย Remain หากผลโหวตออกมาว่าอังกฤษควรออกจากอียู คาเมรอนควรแสดงความรับผิดชอบ

       เคนเนธ คลาร์ก อดีตสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมรุ่นเก๋า ถึงกับออกปากว่า หากชาวอังกฤษโหวตว่า "ออก” คาเมรอนจะเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 30 วินาที

ถึงเวลาชี้ชะตาอังกฤษกับอียู "อยู่"หรือ"หย่า"

      อินดิเพนเดนท์ สื่ออังกฤษ คาดว่าไม่ว่าผลจะออกไปในทางไหน นายคาเมรอนจะออกมาแถลงหน้าบ้านพักประจำตำแหน่งดาวน์นิ่ง สตรีท ในเวลาประมาณ 07.00 น. วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน (13.00 น.วันเดียวกัน ตามเวลาประเทศไทย) หากผลออกมาว่า เบร็กซิท ก็คงใช้โอกาสนี้ประกาศลาออก เพื่อเปิดทางให้ผู้นำพรรคคนใหม่มาทำหน้าที่เจรจานำพาอังกฤษออกจากอียู แต่จะยังไม่ลงจากตำแหน่งทันที จะรอให้มีผู้นำคนใหม่เรียบร้อยเสียก่อน และ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีลอนดอนมากบารมี ที่หันมารณรงค์ออกจากอียู คือตัวเก็งที่จะนั่งเก้าอี้นายกฯ อังกฤษคนต่อไป

เสี่ยงแตกแยก

       ผลหยั่งเสียงในสกอตแลนด์พบว่า ส่วนใหญ่สนับสนุนให้อยู่กับอียูต่อไป หากผลออกมาตรงกันข้าม จะเป็นแรงกระตุ้นให้นายนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ จัดประชามติแยกตัวเป็นอิสระอีกครั้ง หลังพลาดหวังเมื่อปี 2557 และมีความเป็นไปได้ว่า คราวนี้สกอตแลนด์จะลงมติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร

     ส่วนไอร์แลนด์เหนือ ดินแดนเดียวของสหราชอาณาจักรที่มีชายแดนทางบกติดกับสมาชิกอียู คือสาธารณรัฐไอร์แลนด์เมื่อเรื่องผู้อพยพ การค้าและความมั่นคง เป็นประเด็นหลักของการหาเสียง  มีคำถามเกิดขึ้นว่าแล้วชายแดนด้านที่ติดกับไอร์แลนด์ จะได้รับผลกระทบอย่างไร นอกจากเรื่องการค้าขายข้ามชายแดนที่ไอร์แลนด์เหนือ พึ่งพาอยู่กับไอร์แลนด์ ที่จะไม่ได้รับประโยชน์ด้านภาษีและลื่นไหลไร้ด่านศุลกากรอีกต่อไปหากออกจากอียู และระเบียบการเข้าเมืองก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย

      ยังไม่นับเงินสนับสนุนสมาชิกที่อียูให้แก่ไอร์แลนด์เหนือนั้น มากกว่าที่ให้พื้นที่อื่นของอังกฤษ โดยเฉพาะเทให้ฝ่ายชาตินิยมไอริชที่เป็นคาทอลิก

     สองพรรคการเมืองใหญ่สุดในไอร์แลนด์เหนือแตกแยกกันในประเด็นนี้ โดยพรรคชินเฟนน์ อดีตปีกการเมืองของกองทัพกู้ชาติไอริช (ไออาร์เอ) สนับสนุนให้เป็นสมาชิกอียูต่อไป ขณะพรรคชาตินิยมอังกฤษ “เดโมเครติกยูเนียนนิสต์” เลือกข้างเบร็กซิท จึงมีความห่วงกังวลว่าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ผูกติดมากับเบร็ทซิท จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายภักดีอังกฤษกับฝ่ายชาตินิยมไอริชอย่างไร ข้อตกลงสันติภาพ กู๊ด ฟรายเดย์ ที่ช่วยยุติความขัดแย้งนองเลือดระหว่างสองฝ่ายมาตั้งแต่ปี 2541 จะอ่อนแอลงหรือไม่

ถึงเวลาชี้ชะตาอังกฤษกับอียู "อยู่"หรือ"หย่า"

    การหย่าจากอียู

       กระบวนการเจรจาออกจากอียู เบื้องต้นคาดว่าอาจใช้เวลาสองปี ในการยกเลิกข้อตกลงต่างๆ ระหว่างกัน แต่การเจรจาเพื่อกำหนดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่และข้อตกลงการค้าใหม่อาจใช้เวลานานกว่านั้น โดยประเด็นหลักคือ การเข้าถึงตลาดอียู แต่ ฌอง คล็อด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการอียู ได้พูดไว้แล้วว่า อังกฤษหลังเบร็กซิทจะเป็นได้แค่ "ฝ่ายที่สาม” ที่อียูไม่คิดจะโอนอ่อนให้

       ขณะที่ นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกคาดว่า กระบวนการอำลาอียูของอังกฤษอาจใช้เวลาเป็น 10 ปี จากนั้นอาจใช้เวลาอีกระยะกว่าอังกฤษจะกลับมายังจุดที่เป็นอยู่ดังทุกวันนี้ เพราะสถานะในการเจรจาของอังกฤษจะอ่อนแอลง

เสี่ยงถดถอย

     ความผันผวนในตลาดและความไม่แน่นอนในศูนย์กลางการเงินโลกอย่างลอนดอน อาจฉุดค่าเงินปอนด์ตกลง 15-20% หุ้นน่าจะตกหนักเช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินและบริษัทข้ามชาติ ธนาคารกลางอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยในระยะสั้นเพื่อพยุงค่าเงินปอนด์ ต้นทุนแรงงานจะแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5% และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลง 1-1.5%

      บริษัทชั้นนำหลายแห่งประสานเสียงเตือนว่า งานหลายพันตำแหน่งในมหานครแห่งนี้อาจย้ายไปยังแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี หรือปารีส ในฝรั่งเศสแทน

     ขณะที่ฝ่ายเบร็กซิทเชื่อว่า ธุรกิจโลกจะปรับตัวรับกับอังกฤษที่ยังคงมีพลวัตเศรษฐกิจและยืดหยุ่นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในอนาคต อังกฤษจะได้คู่ค้าเศรษฐกิจรายใหม่และรับผู้อพยพแบบเลือกสรรเอง

        แม้สถาบันทางการเงินส่วนใหญ่คาดไปในทางเดียวกันว่า อังกฤษหลังเบร็กซิทจะต้องเผชิญความเจ็บปวดแสนสาหัสระยะยาว แต่ไม่ใช่หายนะแบบไม่มีจุดจบ เพราะอังกฤษมีจุดแข็งที่ภาคการเงิน ระบบกฎหมาย ภาษา และแหล่งรวมแรงงานมีฝีมือ

ผู้อพยพลดลง

       “ผู้อพยพ” เป็นประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียง ชัยชนะของฝ่ายออกจากอียูในการลงประชามติครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการหยั่งเสียงในประเด็นผู้อพยพไปพร้อมกันด้วย และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเพิ่มแรงกดดันให้แก่รัฐบาลตั้งเพดานการรับผู้อพยพรายใหม่แบบเข้มงวด  การอพยพจากอียูเข้าไปในอังกฤษจะลดลงอย่างรวดเร็วภายใต้กลไกที่กำหนดขึ้นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างและธุรกิจบริการ

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ