ข่าว

รมต.ประมง หญิงเหล็กคนใหม่แห่งแดนอิเหนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกวันอาทิตย์ : รมต.ประมง หญิงเหล็กคนใหม่แห่งแดนอิเหนา : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 
                       ซูซี ปุดจิอาสตูติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงคนใหม่แห่งแดนอิเหนาอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งเจ้าของอุตสาหกรรมประมงแถบเอเชียรวมทั้งไทยแลนด์แดนแค่นยิ้มคงจะต้องจดจำชื่อนี้จวบจนวันตาย ในฐานะหญิงเหล็กสุดห้าวหาญผู้ไม่หวาดหวั่นต่ออิทธิพลใดๆ เดินหน้าสั่งจมเรือประมงต่างชาติกว่า 40 ลำ ทั้งเรือประมงจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เพื่อเตือนว่า แดนอิเหนาจะไม่อดทนอีกต่อไปกับการลักลอบเข้ามาจับปลาในน่านน้ำ ซึ่งได้ชื่อว่ามีพื้นที่ชายฝั่งยาวที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและเป็นหนึ่งในแหล่งหาปลาที่ดีที่สุดในโลกด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะสงวนน่านน้ำให้ลูกหลานได้รับประโยชน์จากความมั่งคั่งทางทะเลของประเทศ
 
                       นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ตั้งเธอเป็นรัฐมนตรีประมงเมื่อราวปลายเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ซูซี ปุดจิอาสตูติ หรือเรียกสั้นว่า "ซูซี" วัย 50 ปีเต็มบริบูรณ์ ก็กลายเป็นขวัญใจของสื่อและประชาชนจากการใช้กำปั้นเหล็กจัดระเบียบเรือประมงต่างชาติ เรือลำใดฝ่าฝืนก็จะถูกจมเรือทิ้ง โดยเธอเชื่อว่าเป็นเรื่องง่ายกว่าและใช้เงินน้อยกว่าในการปกป้องน่านน้ำของประเทศ ซึ่งได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลมากเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน ดีกว่าจะสร้างอุตสาหกรรมทะเลขึ้นมาใหม่จากซากปรักหักพัง ซึ่งตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต้องสูญเสียรายได้ในแต่ละปีมากถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ ซูซียังขู่ด้วยว่า จะออกกฎกระทรวงอีกอย่างน้อย 10 ฉบับ ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อจะห้ามเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาในน่านน้ำ ทั้งนี้เพื่อรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นอกจากนี้เธอยังวางแผนจะตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อปราบปรามขบวนการออกใบอนุญาตปลอมให้สามารถจับปลาในน่านน้ำ คู่ขนานไปกับการผลักดันให้แดนอิเหนาก้าวขึ้นมาเป็นตลาดการประมงใหญ่ที่สุดในเอเชีย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เธอยังวางแผนจะเปิดโรงเรียนสอนด้านการประมงใหม่อีกอย่างน้อย 10 แห่ง ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
 
                       เพียงแค่หนึ่งเดือนที่เธอเข้ารับตำแหน่ง สำนักงานสถิติกลางรายงานว่า ราคาปลาในประเทศเริ่มถูกลง ตรงกันข้ามกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดที่มีแต่พุ่งสูง ทำให้ปัญหาปากท้องของประชาชนเริ่มคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ซูซีกลายเป็นรัฐมนตรีขวัญใจประชาชนยิ่งกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่เธอเป็นเพียงแม่ค้าขายปลาธรรมดาๆ ผู้ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายด้วยซ้ำไป นับเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่มีเกณฑ์การศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป แต่พร้อมจะสู้กับชีวิต กระทั่งได้เป็นประธานบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลไปยังหลายประเทศ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และอเมริกา นอกเหนือจากเป็นประธานสายการบิน "ซูซีแอร์" ที่มีเครื่องบินเซสนากว่า 30 ลำ ไว้บริการลูกค้าระดับชาวบ้านไปจนถึงวีไอพี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  
 
                       ซูซี ปุดจิอาสตูติ เกิดที่เมืองปันกันดารัน เมืองเล็กๆ บนเกาะชวาตะวันตก ลูกสาวของผู้บุกเบิกรุ่นที่ 5 ของเมืองนี้ ซึ่งมีเชื้อสายชวาแท้ แม้ฐานะของครอบครัวค่อนข้างจะมีกินจากการมีที่ทางไว้เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามประสา กระนั้น ซูซี ก็เรียนไม่จบระดับมัธยมปลาย เนื่องจากถูกไล่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากการไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับขบวนการโกลพุต ที่ถูกประธานาธิบดีซูฮาร์โตสั่งแบน แต่เธอก็ไม่ยอมจำนนต่อชีวิต เบนเข็มไปทำธุรกิจแรกในชีวิตเมื่อปี 2526 ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ผู้หญิงอินโดนีเซียไม่ค่อยมีโอกาสมากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เรียนครึ่งๆ กลางๆ และไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร เมื่อเห็นโอกาสอะไรรออยู่ข้างหน้าก็จะรีบคว้ามาก่อน เหตุนี้เธอจึงต้องตื่นแต่เช้ามืดไปประมูลปลาที่ตลาดปลาริมชายหาดเพื่อไปขายหรือส่งต่อให้ร้านขายปลาอื่นๆ เหมือนกับละครเรื่อง "โอชิน" ของญี่ปุ่นไม่มีผิด 
 
                       ความที่ต้องยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง ซูซีจึงกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นๆ กระทั่งได้บุกเบิกการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลหลากหลายรูปแบบสู่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะคราวที่วิกฤติต้มยำกุ้งได้ลามไปถึงแดนอิเหนาเมื่อปี 2541 ค่าเงินรูเปียห์มีแต่รูดร่วงมหาราช กลับตาลปัตรกับราคาส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ทางทะเล ที่สร้างกำไรมหาศาลให้แก่ประเทศชาติ ซูซีได้แปลงวิกฤติเป็นโอกาส ขยับขยายตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่สุดแสนทันสมัยขึ้น ภายใต้ชื่อว่า บริษัท อาซี ปุดจิอาสตูติ มารีน โปรดักส์ หรือ "ซูซี แบรนด์" ส่งออกแพ็กเกจกุ้งล็อบสเตอร์มีคุณภาพไปเอเชียและอเมริกา และเพื่อจะประหยัดเวลาในการส่งอาหารทะเลและสามารถส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์และผลิตภัณฑ์ทางทะเลได้ตามกำหนด เธอจึงยอมเสี่ยงขนส่งทางอากาศ ซึ่งแม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ขายสินค้าได้ราคาดีเป็นเงาตามตัวเนื่องจากสดกว่า 
 
                       ด้วยนิสัยส่วนตัวที่กล้าเสี่ยงสุดตัว ซูซีซึ่งพูดได้คล่อง 3 ภาษา นอกจากภาษาชวา ภาษาถิ่นแล้ว เธอยังพูดภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันได้ด้วย โดยเฉพาะภาษาเยอรมันที่เธอเรียนรู้จาก คริสเตียน ฟอน สตรอมเบค สามีชาวเยอรมัน ที่มีพยานรักด้วยกัน 3 คน เธอจึงพร้อมสานฝันตั้งแต่วัยเด็กให้เป็นจริงขึ้นมา นั่นก็คือ การเป็นเจ้าของสายการบินสักสายหนึ่ง แต่วิกฤติการเงินครั้งนั้นทำให้การขอกู้เงินจากธนาคารเต็มไปด้วยความยากลำบาก ธนาคารทุกแห่งนอกจากจะปฏิเสธคำขอกู้เงินอย่างไม่ไยดีแล้ว ยังตอบกลับว่าเป็นโครงการที่โง่มาก กระทั่ง  4 ปีผ่านไป ธนาคารแห่งหนึ่งยอมให้เธอกู้เงิน 4.7 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อเครื่องบินเซสนา 2 ลำ และสร้างสนามบินขนาดเล็กขึ้นแห่งหนึ่ง สำหรับส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง ปรากฏว่าธุรกิจของบริษัทอาซี ปุดจิอาสตูติ เอวิเอชั่น หรือ "ซูซีแอร์" เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะได้เปรียบในเรื่องความสดใหม่ 
 
                       วิกฤติที่กลับกลายเป็นโอกาสได้เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากเริ่มกิจการ "ซูซีแอร์" ได้แค่เดือนเดียว ก็เกิดสึนามิยักษ์ถล่มอาเจะห์จนแทบแหลกทั้งเกาะ เธอรีบบินไปที่อาเจะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยมีสามีเป็นนักบินขับเครื่องบินเซสนา และจากแผนเดิมที่ว่าจะอยู่ช่วยเหลือแค่ 2 สัปดาห์ แต่หน่วยบรรเทาทุกข์ได้ขอเช่าเซสนาเพื่อใช้ในกิจการนี้ต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 2 ปี รายได้จากการให้เอ็นจีโอเช่าเครื่องบินนี้ ทำให้เธอสามารถซื้อเครื่องบินลำใหม่และขยายเส้นทางบินไปปาปัวและกาลิมันตัน อีกทั้งยังเปิดเส้นทางใหม่ๆ ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดานเพื่อขนข้าวของและของใช้จำเป็นไปตามหมู่บ้านตลอดแนวเขาสูงอันซับซ้อน ความที่เครื่องบินเซสนา ขนาด 30 ที่นั่งสามารถบินขึ้นลงในสนามบินเล็กๆ ที่รันเวย์มีระยะทางสั้นๆ แค่ 1 กิโลเมตร จึงสามารถลงจอดตามเมืองชายหาด เพื่อบรรทุกปลาและบินตรงไปยังจุดหมายปลายทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง
 
                       "สโลแกนของเราก็คือรันเวย์ขนาด 1 กิโลเมตรสามารถนำคุณไปทั่วโลกและนำโลกมาสู่คุณ" ซูซีย้ำ พร้อมกับเปิดเผยว่า ธุรกิจเดินอากาศของซูซีแอร์เติบโตตามลำดับ นอกจากเป็นเครื่องบินพาณิชย์แล้ว ยังเป็นเครื่องบินเหมาลำระดับวีไอพีด้วย ช่วงที่ยุโรปและสหรัฐประสบวิกฤติเศรษฐกิจ จนไม่มีใครกล้าซื้อเครื่องบิน แต่ซูซีกลับคิดมุมต่าง เธอสั่งซื้อเครื่องบินฝูงใหม่รวดเดียวถึง 30 ลำเมื่อปี 2555 เพื่อมาเสริมกำลังในซูซีแอร์ ซึ่งขณะนี้มีครื่องบินประเภทต่างๆ 32 ลำ รวมไปถึงเครื่องบินเช่าเหมาลำระดับวีไอพี ขนาด 6-8 ที่นั่ง สามารถบินไกลในระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตรโดยไม่ต้องแวะเติมน้ำมันและด้วยความเร็วพอๆกับเครื่องบินเจ็ต แต่ใช้น้ำมันเพียงแต่ครึ่งเดียว   เธอยังสั่งซื้อเครื่องบิน พีลาตุส พีซี-6 สามารถดัดแปลงเป็นเครื่องบินพยาบาลลอยฟ้าและใช้ในการสำรวจทางอากาศ "ซูซีแอร์" ยังมีเฮลิคอปเตอ์ความเร็วสูงอีก 2 ลำ ลำหนึ่งคือ แกรนด์ อากุสตา ผลิตในอิตาลีในราคาราว 7 ล้านดอลลาร์ อีกลำหนึ่งเป็นเครื่องบิน คาโอลา เอ 1189 เคอี สำหรับบินในจาการ์ตาและปริมณฑล ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร ข้าราชการและเอ็นจีโอ ที่ยอมจ่ายเงิน 3,500 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
 
                       เพื่อจะแก้ปัญหานักบินไม่พอ เธอจึงตัดปัญหา โดยการจ้างนักบินต่างชาติถึง 175 คน มาช่วยบินจากนักบินทั้งหมด 180 คน ตอนนี้ซูซีแอร์กลายเป็นสายการบินที่ใช้เครื่องบินเซสนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
 
                       จากชีวิตต้องสู้ราวกับเป็น "โอชินแห่งแดนอิเหนา" เธอก็ก้าวขึ้นมาเป็นหญิงเหล็กขวัญใจประชาชน
 
 
 
 
 
-----------------------
 
(เปิดโลกวันอาทิตย์ : รมต.ประมง หญิงเหล็กคนใหม่แห่งแดนอิเหนา : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ