ข่าว

เปิดโลกบังกลาเทศดินแดนแห่งอ่าวเบงกอล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวิลด์วาไรตี้ : เปิดโลกบังกลาเทศ ดินแดนแห่งอ่าวเบงกอล : โดย...จินตนา ปัญญาอาวุธ

 
         ถ้าเอ่ยถึงประเทศบังกลาเทศ เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงรู้จักน้อยมาก หลายคนถามว่าประเทศนี้อยู่ตรงไหน และบางคนก็สับสนระหว่างบังกลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกา
 
         บังกลาเทศเป็นประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งครอบครองเนื้อที่ในส่วนตะวันตกของภูมิภาคเบงกอล คำว่า "บังกลาเทศ” แปลว่า "ประเทศแห่งเบงกอล" มีพรมแดนล้อมรอบด้วยอินเดียทั้งทางทิศเหนือ ตะวันออกและตะวันตก ยกเว้นพรมแดนด้านใต้ติดอ่าวเบงกอลและตะวันออกเฉียงใต้ติดประเทศพม่า
 
         หลังจากตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเกือบ 200 ปี ในปี 2490 ดินแดนแถบชมพูทวีปก็ได้รับเอกราช แต่บังกลาเทศก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานโดยเรียกกันว่า “ปากีสถานตะวันออก” แต่เนื่องจากมีความแตกต่างหลายอย่างจากปากีสถานตะวันตก หรือปากีสถานปัจจุบันทั้งภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรมและดินแดนก็ไม่ได้อยู่ติดกันด้วย จึงประกาศแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2514 ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
 
         หลังจากที่ตอบรับคำเชิญของสถานทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยให้ไปร่วมงานวันขึ้นปีใหม่ของเขา ซึ่งตรงกับช่วงสงกรานต์ของไทยพอดี ก็น่าแปลกใจว่า ความจริงแล้ว ประเทศที่อยู่ห่างจากประเทศไทยเพียงแค่ระยะทางบิน 2 ชั่วโมงเศษๆ นี้ มีอะไรหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกับบ้านเรา
 
         อย่างแรกเลยก็คือการจราจร ใครที่บ่นระงมเกี่ยวกับการจราจรในกรุงเทพฯ ถ้าไปถึงกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศแล้วรับรองได้ว่าแถวบ้านเราชิดซ้ายไปเลย สาเหตุที่การจราจรที่ธากาเข้าขั้นวิกฤติเป็นเพราะว่าบังกลาเทศเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพียง 1 ใน 3 ของไทยแต่กลับมีประชากรมากกว่าเป็น 2 เท่าหรือ 150 ล้านคน แถมระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวงมีเพียงรถเมล์ทั้งชั้นเดียวและ 2 ชั้นที่บรรทุกคนขนาดที่เรียกว่ายัดทะนาน รถสามล้อถีบและรถตุ๊กตุ๊ก ก็เป็นทางเลือกที่คนนิยมเช่นกัน
 
         เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศที่มารับบอกว่า รัฐบาลประกาศว่าภายในปี 2562 อาจจะได้เห็นรถไฟลอยฟ้า
 
รถที่นี่วิ่งกันแบบไม่มีเลน แม้จะมีการตีเส้นจราจรก็ตาม และขับกันน่ากลัวมาก คนจะเดินข้ามถนนไม่มีชะลอ เรียกว่าถ้าเป็นที่อื่นคงชนกันไปหลายรายแล้ว แต่นี่กลับไม่เห็นอุบัติเหตุ อาจจะเป็นเพราะขับจนชำนาญ และเสียงที่คุ้นชินอีกอย่างเวลาอยู่บนท้องถนนก็คือเสียงบีบแตรที่ดังตลอดเวลา
 
         ค่าครองชีพที่นี่ไม่สูงนัก เงิน 1 ธากาเท่ากับ 50 สตางค์ รถเมล์ร้อนเที่ยวหนึ่งก็ 2.50-10 บาทแล้วแต่ระยะทาง รถแอร์ก็มีแต่น้อยราคา 25 บาท รถตุ๊กตุ๊กทาสีเขียวทั้งคัน นั่งได้แค่ 2 คนและมีประตูลูกกรงด้วย คาดว่าป้องกันผู้โดยสารหนีไม่จ่ายค่ารถ โดยราคาเริ่มต้นที่ 12.50 บาท
 
         แม้คนไทยจะรู้จักบังกลาเทศน้อย ในทางกลับกัน คนเบงกาลีรู้จักเมืองไทยและคนไทยดีมากโดยเฉพาะด้านการแพทย์ พอเขารู้ว่าเรามาจากเมืองไทย คนส่วนใหญ่จะบอกว่าเพื่อนหรือคนรู้จักของพวกเขามักจะบินมาหาหมอที่เมืองไทยเพราะเป็นเมดิคัล ฮับ และใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 2 ชั่วโมง
 
         ที่น่าปลื้มก็คือ พวกเขายังรู้จักไทยว่าเป็นประเทศที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครและรู้จักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย พนักงานขายของที่ร้านทองร้านหนึ่ง พอรู้ว่าเรามาจากเมืองไทย คำแรกที่เขาพูดกับเราก็คือ “ผมรู้จักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของคุณ ประเทศคุณเป็นประเทศที่มีเอกราชมาโดยตลอด ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร”
 
 
“Hartal” และ “ชัตดาวน์”
 
         การเมืองของบังกลาเทศก็มีส่วนที่คล้ายกับการเมืองไทย เมื่อต้นปี 2557 มีการจัดเลือกตั้ง แต่พรรคฝ่ายค้านกว่า 20 พรรคภายใต้การนำของพรรคชาตินิยมบังกลาเทศของนางคาเลดา เซีย อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 2 สมัยบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง แต่รัฐบาลขณะนั้นที่นำโดยพรรคสันนิบาต อะวามิ ของนางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีก็เดินหน้าจัดเลือกตั้ง
 
         วันเลือกตั้งมีการเผาคูหาเลือกตั้งกว่าร้อยคูหา มีการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ และมีการปะทะกันอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต นับเป็นการเลือกตั้งนองเลือดครั้งรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบังกลาเทศ ผลการเลือกตั้งออกมาพรรครัฐบาลเดิมและพรรคพันธมิตรก็กำชัยชนะ โดยนางชีค ฮาสินา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 แต่การบริหารบ้านเมืองก็ไม่ราบรื่นเพราะต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและจากต่างประเทศที่มองว่าการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และพรรคฝ่ายค้านเองก็ยังเดินหน้าประท้วงเพื่อล้มรัฐบาลปัจจุบัน
 
         ช่วงที่เราไปอยู่ที่ธากา ก็มีข่าวฝ่ายค้านประกาศ “Hartal” คำนี้เป็นคำที่ใช้กันในหมู่ประเทศเอเชียใต้ที่มีความหมายว่า “ชัตดาวน์” หรือประท้วง หยุดงานและปิดถนนนั่นเอง ซึ่งถือเป็นอารยะขัดขืนอย่างหนึ่ง โดยฝ่ายค้านเชิญชวนให้คนออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนกลางเมืองในวันที่ 13 เมษายนหรือก่อนวันขึ้นปีใหม่หนึ่งวันตั้งแต่ 6 โมงเช้า-6 โมงเย็น แต่ปรากฏว่าก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกคนยังใช้ชีวิตปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศก็บอกว่าคนไม่เอาด้วยกับฝ่ายค้านเลย ไม่มีใครออกมาก่อม็อบ เพราะคนอยากเห็นบ้านเมืองสงบเดินหน้าต่อไปได้
 
         ไม่แน่ใจว่าชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่หนุนรัฐบาลหรือฝ่ายค้านมากกว่ากัน แต่อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ รัฐบาลปัจจุบันพยายามสร้างผลงานให้ประชาชนพอใจ เช่น โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำพัดมา เพื่อเชื่อมระหว่างภาคตะวันตกเฉียงใต้กับเมืองหลวงและภาคเหนือของประเทศ เพราะปัจจุบันการเดินทางระหว่าง 2 ภาคนี้ทำได้เฉพาะผ่านเรือเฟอร์รี่เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันการจราจรก็หนาแน่น
 
         รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นค่าก่อสร้างสะพานนี้ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1 แสนล้านบาท ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และงานนี้รัฐบาลจะไม่กู้เงินมาลงทุนโดยบอกว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่ม
 
 
สงกรานต์ของชาวเบงกาลี
 
         ในขณะที่คนไทยและเพื่อนบ้านหลายประเทศในอาเซียน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา กำลังฉลองวันสงกรานต์หรือประเพณีขึ้นปีใหม่ด้วยการสาดน้ำ ชาวบังกลาเทศก็ต้อนรับวันแรกแห่งปีด้วยการร้องเพลงสวด ขบวนพาเหรดและงานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่ หรือ “โพเฮลา บอยชากห์” หรือ Pohela Boishakh ซึ่งตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี
 
         นางไซดา มูนา ทัสนีม เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทยบอกว่า ก่อนที่เธอจะมารับตำแหน่งที่กรุงเทพฯ เธอไม่รู้มาก่อนเลยว่าบังกลาเทศและไทยจะมีความเหมือนกันหลายๆ อย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันขึ้นปีใหม่ที่เป็นวันเดียวกัน ชาวเบงกาลีในกรุงธากาต้อนรับวันใหม่แห่งปีด้วยการร้องเพลง “Esho he Baishakh” ของรพินทรนาถ ฐากูร โดยกลุ่มนักร้องจากสถาบันวัฒนธรรรมที่ชื่อ Chhayanat จะมาร่วมร้องเพลงนี้ที่ใต้ต้นไทรยักษ์ในสวนสาธารณะรามนาตั้งแต่เช้ามืด ผู้คนนับหมื่นต่างมุ่งหน้าไปร่วมชมแสงแรกแห่งปีที่สวนแห่งนี้
 
         วันนี้เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่จูงลูกจูงหลานไปร่วมพิธีร้องเพลงที่สวน บรรยากาศเหมือนมาปิกนิก ตามถนนสองข้างทางเต็มไปด้วยร้านขายของทั้งของกิน ของเล่นและเครื่องประดับ
 
         ทูตทัสนีมบอกว่า วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นวันใหม่ของชีวิต ผู้คนจะทำสิ่งใหม่ๆ เช่น สวมเสื้อผ้าชุดใหม่และนิยมใส่สีขาวและแดง
 
         นักธุรกิจหรือพ่อค้าแม่ค้าจะใช้สมุดบัญชีใหม่ หลายคนเชิญลูกค้าให้มากินขนมและเจรจาดีลธุรกิจใหม่
 
         อาหารที่ทุกคนจะกินในวันนี้คือ "ปันตาภัต" ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงตามแบบฉบับของชาวเบงกาลีพื้นเมือง อาหารจานนี้คล้ายข้าวแช่ของชาวมอญหรือชาวไทยโบราณที่มักจะกินเพื่อคลายร้อนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ที่นี่เป็นข้าวแช่น้ำที่ทานกับปลาทอด “ฮิลซา” ซึ่งเป็นปลาชื่อดังของบังกลาเทศ โดยกินกับเครื่องเคียงคือพริกเขียวเม็ดใหญ่และหอมแดง
 
         พิธีสำคัญอีกอย่างของวันปีใหม่ที่นี่คือ “Mongol Shobhajatra” หรือขบวนพาเหรดเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตที่จัดโดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวิจิตรศิลป์แห่งกรุงธากา โดยแต่ละปีจะมีธีมแตกต่างกันไปแล้วแต่วัฒนธรรมและสถานการณ์ทางการเมือง นอกจากนั้นก็มีการร้องรำทำเพลงและเล่นดนตรีในงานด้วย
 
         และในงานฉลองปีใหม่ปีนี้ นายวีระ  โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไทยก็ได้รับเชิญจากสถานทูตให้ไปร่วมงานด้วย โดยนับเป็นรมว.วัฒนธรรมคนแรกของไทยและอาเซียนที่เดินทางไปเยือนบังกลาเทศ
 
         รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า เขารู้สึกทึ่งมากที่เห็นคนบังกลาเทศจากทั่วทุกสารทิศรวมใจเป็นหนึ่งเดียวมาร่วมฉลองงานขึ้นปีใหม่ที่สวนสาธารณะรามนา นับเป็นบทบาทภาคประชาชนและประชาสังคมจริงๆ
 
         ความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมของไทยและบังกลาเทศยังไม่หมดเพียงแค่วันขึ้นปีใหม่ เพราะทั้ง 2 ประเทศยังมีภาษาบางคำที่คล้ายคลึงกันด้วย
 
         ทูตทัสนีม บอกว่า ภาษาไทยและภาษาเบงกาลีมีการนำเอาภาษาสันสกฤตและบาลีมาใช้เหมือนกัน เช่น คำว่า “ราช” ในเบงกาลีแปลว่า “ราชา” หรือคำว่า “ราชกุมารี” แปลว่า “ลูกสาวของกษัตริย์”และ “ราชมนตรี” คือ “รัฐมนตรี” และอีกไม่นานชาวไทยและชาวบังกลาเทศคงได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมของกันและมากขึ้น เพราะรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศกำลังจะมีการลงนามในข้อตกลงทางวัฒนธรรมกันใหม่
 
         ข้อตกลงทางวัฒนธรรมที่ไทยและบังกลาเทศลงนามร่วมกันครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปปี 2522 ซึ่งเป็นความร่วมมือกันด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และการศึกษา
 
         ระหว่างการเยือนกรุงธากา นายวีระได้มีโอกาสพบกับนายอาซาดูซมาน นัวร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของบังกลาเทศ ซึ่งทั้งคู่เห็นพ้องกันว่าควรทำข้อตกลงกันใหม่เพื่อช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นความร่วมมือที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะแลกเปลี่ยนกันคือ ด้านโบราณคดี การบูรณะโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ การจัดนิทรรศการ ประติมากรรม จิตรกรรม แอนิเมชั่นและภาพยนตร์ ทั้งนี้ นายวีระคาดว่าจะมีการลงนามในเอ็มโอยูภายในปลายปีนี้ที่ประเทศไทย และหลังจากนั้นในปีหน้าก็จะมีการจัดเฟสติวัลแลกเปลี่ยนกันในทั้ง 2 ประเทศ เพราะเป็นวิธีที่ทำให้ประชาชนประเทศหนึ่งเข้าถึงประชาชนอีกประเทศหนึ่งได้ดีที่สุด
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ